เครื่องสำอางไทยขึ้นท็อปทรีจีน

15 ส.ค. 2559 | 09:00 น.
ส่งออกเครื่องสำอางไทยโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกซบสมาคมผู้ผลิตฯฟันธงปีนี้โตลิ่วเกิน 1 แสนล้าน ทูตพาณิชย์เผยตลาดจีนบูมสุดๆ ยอดค้าปลีกเครื่องสำอางปี 58 พุ่ง 2.04 แสนล้านหยวน ครีมหอยทาก “สเนล ไวท์” ขึ้นท็อปทรีเหนือแบรนด์ดังโลก ขณะที่อีก 4 แบรนด์ไทยขายดีไม่แพ้กันหมวยจีนแห่ใช้ ผู้ประกอบการจี้รัฐเลียนแบบเกาหลีโมเดลเจาะตลาดต่างประเทศ

[caption id="attachment_85189" align="aligncenter" width="700"] ตลาดส่งออกเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว 5 อันดับแรกของไทย ตลาดส่งออกเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว 5 อันดับแรกของไทย[/caption]

จากที่เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงจากปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยยังติดลบต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน (2556-2558) และในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ก็ยังติดลบที่ 1.59% อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบข้อมูลการส่งออกพบในกลุ่มสินค้าเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองจากยังมีการเขยายตัวสวนกระแส โดยตัวเลข 6 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้ 4.13 หมื่นล้านบาท ขยายตัวที่ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ดูตารางประกอบ)

นางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย และประธานสมาคมเครื่องสำอางแห่งอาเซียน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึง ปัจจัยที่ส่งผลให้การ ส่งออกเครื่องสำอางไทยยังโตสวนกระแสเศรษฐกิจโลกว่า เนื่องจากเวลานี้ไม่ว่าคนไทย หรือคนต่างชาติได้หันมาใส่ใจในเรื่องการรักษาผิวหน้า ผิวพรรณและภาพลักษณ์ให้ดูดีมากขึ้น ส่งผลให้เครื่องสำอางกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้จากตัวเลขการส่งออกเครื่องสำอางของไทยตามข้อมูลของกรมศุลกากร (ระบุเป็นตัวเลขการส่งออกเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว)ในปี 2558 ที่มูลค่า 8.26 หมื่นล้านบาทนั้น หากรวมทุกรายการที่อยู่ในกลุ่มเครื่องสำอางจะมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท และในปีนี้ก็ยังมั่นใจจะส่งออกเกิน 1 แสนล้านบาทแน่นอน

"เครื่องสำอางหมายถึงทุกอย่างที่ทำให้คนดูดีขึ้น ทั้งลิปสติก แป้งผลัดหน้า ดินสอเขียนคิ้ว ยาทาเล็บ ยาสีฟัน สบู่ แชมพูสระผม น้ำหอม น้ำยาบ้วนปาก ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่ใช้ในสปา ครีมบำรุงผิวพรรณ ครีมบำรุงผม และอื่นๆ หากตัวเลขครอบคลุมทั้งหมดไทยส่งออกเครื่องสำอางเกินปีละแสนล้าน ขณะที่ตลาดเครื่องสำอางในประเทศปี 2558 มีมูลค่ารวมประมาณ 1.7 แสนล้านบาทและกำลังโตเช่นกัน"

ญี่ปุ่น-อาเซียน2ตลาดใหญ่

ปัจจุบันตลาดส่งออกเครื่องสำอางที่สำคัญของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น และอาเซียน(9) ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยที่ญี่ปุ่นมองสินค้าเครื่องสำอางเป็นสินค้ากึ่งสุขอนามัย และกึ่งแฟชั่น ชอบเครื่องสำอางที่มีความแปลกใหม่และมีส่วนผสมของสมุนไพรที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่วนตลาดอาเซียนให้ความนิยมสินค้าเครื่องสำอางจากไทยเป็นอันดับ 1 เพราะมีคุณภาพดีไม่ได้ด้อยกว่าสินค้าจากเกาหลี ญี่ปุ่น หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว และราคาก็สมเหตุสมผล นอกจากนี้เพื่อนบ้านอาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชาที่อยู่ติดกับไทยยังได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างๆ ของไทยที่มีศิลปิน ดารา/นักร้องเป็นพรีเซนเตอร์ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการซื้อหาเครื่องสำอางจากไทยเพิ่มขึ้น

แบรนด์ดังจ้างผลิตแต่อุบเงียบ

อย่างไรก็ตามในอดีตการส่งออกเครื่องสำอางของไทยส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต(โออีเอ็ม)ป้อนให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งแบรนด์ดังระดับโลก(แต่เจ้าของแบรนด์ส่วนใหญ่ไม่ให้เปิดเผย) รวมถึงแบรนด์ระดับภูมิภาค และแบรนด์รายย่อยในหลายประเทศ ขณะที่เวลานี้ผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาการผลิตและส่งออกในแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น สำหรับสิ่งที่อยากให้รัฐบาลไทยช่วยได้แก่ การสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศ และพาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ การช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าเครื่องสำอางไทยทั้งในและต่างประเทศ การอำนวยความสะดวกในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ให้มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น

"อยากให้รัฐบาลไทยใช้เกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง ที่รัฐบาลเขาช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าเครื่องสำอางเกาหลีในเกือบทุกเวที รวมถึงมีพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าในประเทศโดยให้พื้นที่ฟรีแก่ผู้ประกอบการ จัดแต่ละครั้งก็ใช้เวลานาน การเปิดตัวสินค้าเขาในต่างประเทศรัฐ-เอกชนก็ทำงานเป็นทีมดีมาก หลังได้คู่ค้าหรือได้ออร์เดอร์รัฐบาลเขาก็ดูแลต่อเนื่อง ขณะไทยพาไปเปิดตัวครั้งแรก หลังจากนั้นก็ให้ดูแลตัวเอง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ก็ถือว่าดูแลเราได้ดีระดับหนึ่ง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกเครื่องสำอางจาก 17 ปีก่อนที่รัฐยังไม่ได้เข้ามาดูแลตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 9 พันล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็นแสนล้านบาท"

 ตลาดจีนบูมคนรุ่นใหม่แห่ใช้

ด้านสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉินตู สาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานว่า จีนถือเป็นอีกหนึ่งในตลาดเครื่องสำอางที่มีอนาคตสำหรับประเทศไทย จากชาวจีนมีรายได้สูง และให้ความสำคัญกับการดูแลผิวพรรณมากยิ่งขึ้น โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 การค้าปลีกเครื่องสำอางในตลาดจีนมีมูลค่า 8.90 หมื่นล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.1% ส่วนในปี 2558 การค้าปลีกเครื่องสำอางในจีนมีมูลค่าสูงถึง 2 .04 แสนล้านหยวน (หรือราว 1.02 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 5 บาทต่อ 1 หยวน) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.8% ขณะที่การนำเข้าเครื่องสำอางเสริมความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณของจีนในปี 2558 มีมูลค่า 3,066.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.07 แสนล้านบาท คำนวณที่ 35 บาท/ดอลลาร์) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 39.7%

สเนลไวท์ไทยผงาดท็อปทรี

ทั้งนี้แหล่งนำเข้าหลักสินค้าเครื่องสำอางของจีนได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ไทย ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องสำอางแบรนด์เนมนำเข้า 10 อันดับแรกของจีนในปี 2558 ตามลำดับได้แก่ 1. L’Oreal Paris (ฝรั่งเศส) 2. Innisfree (เกาหลีใต้) 3.SNAIL WHITE (ไทย) 4.Olay (สหรัฐอเมริกา) 5.CLARINS (ฝรั่งเศส) 6.Shiseido (ญี่ปุ่น) 7.Kanebo (ญี่ปุ่น) 8. L’OCCITANE (ฝรั่งเศส) 9.Clinique (สหรัฐอเมริกา) และ 10.Biotherm (ฝรั่งเศส) นอกจากเครื่องสำอางแบรนด์ SNAIL WHITE จากไทยที่ได้รับความนิยมแล้ว จากการสำรวจยังพบสินค้าเครื่องสำอางแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมและจำหน่ายได้ดีในตลาดจีน ได้แก่ ครีมล้างหน้าของ Beauty Buffet Q10, ครีมมาร์คหน้าของ ele, สินค้า Herb Basics และ Sabai-arom mistine เป็นต้น

จากหิ้วไปใช้แล้วบอกต่อ

ด้านแหล่งข่าวจาก บริษัท ดูเดย์ ครีม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย และส่งออกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวแบรนด์ "นามุ ไลฟ์ สเนลไวท์" เผยว่า สินค้าของบริษัทที่ขายดีในตลาดต่างประเทศและกลุ่มลูกค้าคนจีนนั้น เกิดจากการที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย และได้ซื้อนำไปทดลองใช้แล้วติดใจ เพราะเหมาะกับสภาพผิว และคุณสมบัติในด้านการฟื้นฟู ที่แตกต่าง และ เห็นผล ที่สำคัญสินค้าของบริษัทมีส่วนประกอบจากธรรมชาติ

"จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจของเราเน้นที่คุณภาพสินค้าอยู่แล้ว ยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีในประเทศเขาพอเขามาเที่ยวเขาก็จะรู้สึกว่าอยากซื้อกลับเป็นของฝาก แล้วเขาก็บอกต่อเป็นสินค้าฮิตของนักท่องเที่ยว ที่ใครมาไทยต้องซื้อกลับประเทศ ปัจจุบันสินค้าของบริษัทในจีนเริ่มขายและทำการประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์นอกจากตลาดจีนแล้ว สินค้ายังได้รับความนิยมในเมียนมาและในกัมพูชา แต่ยังไม่ได้มีการทำการตลาด"

รับจ้างผลิตยังโตต่อเนื่อง

นายวิรุณ ศิวะพิรุฬห์เทพ เจ้าของบริษัท เอสเธติก พลัส จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าเครื่องสำอางเพื่อดูแลผิวพรรณ และใบหน้าให้กับลูกค้าที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เช่น คลินิกแพทย์ผิวหนัง สถานเสริมความงาม สถานบริการสปา ธุรกิจเครื่องสำอางขายตรง และผู้ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีตราสินค้าหรือแบรนด์ของตัวเอง ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าในประเทศสัดส่วน 80% และอีก 20% เป็นลูกค้าในต่างประเทศทั้งจากกัมพูชา ลาว เมียนมา รวมถึงตะวันออกกลาง โดยลูกค้าที่มีคำสั่งผลิตสินค้าระดับ 2-4 หมื่นบาท/เดือนมีมากเป็นร้อยราย มองโอกาสเติบโตยังมีอีกมาก จากสินค้าไทยมีคุณภาพเหมาะสมกับราคา เป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม และมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะทิ่อินโดนีเซียกำลังเร่งพัฒนาด้านนี้ถือเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามอง

แนะวางตำแหน่งตลาดกลาง-สูง

ขณะที่ว่าที่ร.ต.กิตติพันธ์ มูลศรีชัย นายกสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตไทย กล่าวว่า ตลาดเครื่องสำอางไทยในต่างประเทศยังมีอนาคตที่ดีมาก ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่นบรรจุภัณฑ์ และการจัดงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม และอื่นๆ โตตาม สินค้าไทยต้องวางตำแหน่งตลาดระดับกลาง-สูง เพราะหากจับตลาดล่างหรือตลาดแมสจะสู้สินค้าจีนไม่ได้

อนึ่ง ด้านการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของไทยจากต่างประเทศในปี 2558 มีมูลค่า 3.09 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจากกรมศุลกากร) ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 1.94 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแหล่งนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559