บีโอไอหนุนคนไทยลงทุนนอกบ้าน ไฟเขียวตั้งสำนักงานสาขาย่อยรองรับอาเซียนเติบโต

16 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มทุนไทยรายใหญ่นำร่องออกไปแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างแดน หลังพบว่า หลายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากที่ปักธงอยู่ในไทยมานาน เริ่มมีการผลิตที่ไม่เอื้ออีกต่อไป ด้วยข้อจำกัดค่าแรงงานและต้นทุนรวมที่สูงขึ้น จนไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ อีกทั้งต้องการกระจายความเสี่ยงไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงต้องการขยายฐานตลาดไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อขนาดใหญ่
จากสถิติข้อมูลของFDI Markets ในช่วงเดือนมกราคม 2549 จนถึงเดือนเมษายน 2559 พบว่าโครงการลงทุนของไทยในต่างประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 593 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 62,511.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2 ล้านล้านบาท และแนวโน้มการเติบโตมีสัญญาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะการลงทุนในเมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย

[caption id="attachment_85207" align="aligncenter" width="700"] โอกาสและลู่ทางการลงทุนใน 8 ประเทศอาเซียน โอกาสและลู่ทางการลงทุนใน 8 ประเทศอาเซียน[/caption]

โดยเมียนมาภายหลังเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เริ่มเปิดประเทศมากขึ้น การแข่งขันทางธุรกิจในเมียนมายังอยู่ในระดับไม่รุนแรง ทำให้มีช่องว่างในการเข้าไปทำธุรกิจอีกมาก ขณะที่เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน และมากกว่า 60% ก็เป็นประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน อีกทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีค่าแรงต่ำ ทำให้หลายประเทศเดินสายเข้าไปลงทุนในเวียดนามกันอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะเห็นเศรษฐกิจในเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดูจากห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าปลีก รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคในเวียดนามเติบโตต่อเนื่อง และเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนในเวลานี้

สำหรับอินโดนีเซีย รัฐบาลกำลังเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในประเทศ นักลงทุนไทยควรใช้ความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีการผลิต ความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเครื่องมือและเครื่องจักรต่างๆ ขณะเดียวกันอินโดนีเซียยังมีแรงงานราคาถูกจำนวนมากและมีทักษะระดับปานกลาง จึงเหมาะสมในการลงทุนภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก

ตั้งสนง.ย่อยหนุนลงทุนเพื่อนบ้าน

ต่อเรื่องนี้นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้บีโอไอเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อการลงทุนของไทยในต่างประเทศมากขึ้น ล่าสุดบอร์ดใหญ่บีโอไอก็อนุมัติให้ตั้งสำนักงานบีโอไอสาขาย่อยในนครย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา และที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในประเทศดังกล่าว และภายในปี 2561 บีโอไอก็จะเปิดสำนักงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศแห่งที่ 3 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ ที่เวลานี้บอร์ดใหญ่อนุมัติแล้วและอยู่ในขั้นเดินไปตามขั้นตอนการจัดตั้งสำนักงาน โดยทั้ง 3 สาขานี้จะมีบทบาทคือส่งเสริมการลงทุนไทยให้ไปลงทุนในต่างประเทศ จากที่ปัจจุบันสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศจะมีทั้งหมด 14 ประเทศ แต่มีบทบาทในลักษณะการชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเป็นหลัก

ทั้งนี้เลขาธิการบีโอไอ อธิบายว่า การไปเปิดสำนักงานในต่างประเทศต้องคิดให้รอบด้าน เพราะมีค่าใช้จ่าย จึงต้องมั่นใจว่ามีการเข้าไปลงทุนของคนไทยจำนวนมาก และมาถึงจุดที่เราจะต้องลงไปดูแลนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ที่สนใจเมียนมาและเวียดนาม เกิดจากผลที่บีโอไอจัดกิจกรรมศึกษาลู่ทางการลงทุนในต่างประเทศแล้วได้รับเสียงตอบรับดีมากจากกลุ่มทุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ส่วนที่อินโดนีเซียที่สนใจเพราะเป็นตลาดใหญ่ มีศักยภาพ มีจำนวนประชากร และทรัพยากรจำนวนมาก จึงมองว่าคนไทยน่าเข้าไปลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาแม้ยังไม่มีสำนักงานสาขาเข้าไปตั้ง แต่บีโอไอก็จ้างที่ปรึกษาเข้าไปศึกษาลู่ทางการลงทุน และมาให้คำแนะนำนักลงทุนเวลาที่เกิดปัญหา

โครงการอบรมดัน88รายโกอินเตอร์

ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดทำโครงการ “สร้างนักลงทุนไทยไปต่างประเทศ” ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 และมีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรมาแล้ว 11 รุ่นโดยมีจำนวนนักลงทุนที่ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้น 409 รายและมีนักลงทุนไทยในจำนวนดังกล่าว ออกไปลงทุนจริงแล้ว 88 ราย ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนามและเมียนมา ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเกษตรแปรรูป

อย่างไรก็ตามโครงการลงทุนของไทยในต่างประเทศที่มีทั้งหมด 593 โครงการนั้น แบ่งเป็นประเภทกิจกรรมทางภาคการผลิตจำนวนมากถึง 178 โครงการ เป็นมูลค่าการลงทุนราว 23,855.10 ล้านเหรียญสหรัฐ การผลิตไฟฟ้า 28 โครงการ ก่อสร้าง 82 โครงการ ด้านส่งเสริมการขายและการตลาด 99 โครงการ ค้าปลีก82 โครงการ โลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า 23 โครงการ

เมื่อจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรมก็พบว่า มีจำนวนโครงการมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่อาหารและยาสูบ 103 โครงการ โรงแรมและบริษัททัวร์ 73 โครงการ ธุรกิจบริการ 42 โครงการ บริการทางการเงิน 40 โครงการ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 35 โครงการ

5กลุ่มแรกลงทุนนอกบ้านมากสุด

สำหรับบริษัทไทยที่ออกไปลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ 1.เครือเจริญโภคภัณฑ์มี 35 โครงการ มูลค่าการลงทุน 6,388.90 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนในธุรกิจอาหาร และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ไก่ หมู กุ้ง ปลา และแปรรูปอาหารในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว ในประเทศตลาดใหม่ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ตุรกี รัสเซีย แทนซาเนียและออสเตรเลีย เป็นต้น

2.เอสซีจี มี 15 โครงการ มูลค่าการลงทุน 5,481.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงทุนในธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ กระเบื้องปูพื้น กระเบื้องมุงหลังคา และอุตสาหกรรมกระดาษ ในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา

3.กลุ่มบริษัทSix Senses มี23โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,817 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงทุนในธุรกิจโรงแรม 4.บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด หรือ ปตท.สผ. มีจำนวน 9 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,237.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลงทุนในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม 5.ธนาคารกรุงเทพ มีจำนวน15 โครงการ มูลค่าการลงทุน 775.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เอสซีจียันตลาดอาเซียนแนวโน้มสดใส

ก่อนหน้านี้นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยถึงการลงทุนในอาเซียนว่าตลาดในภูมิภาคอาเซียนยังมีแนวโน้มสดใส และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวียดนาม มีความต้องการวัสดุก่อสร้าง และบรรจุภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับที่กัมพูชามีการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อินโดนีเซียมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้น โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐเริ่มทยอยดำเนินการ ในขณะเดียวกันการค้าระหว่างชายแดนไทย และประเทศเพื่อนบ้านไปได้ดี

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนในโรงงานปูนซีเมนต์ในประเทศเมียนมา คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 และ สปป.ลาว คาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในปี 2560 ทั้งนี้ เอสซีจียังคงขยายการลงทุน โดยให้ความสำคัญในการหาพันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจเดิมอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เจริญเติบโตร่วมกันต่อไป

วอนรัฐยกเว้นภาษีรายได้เมื่อนำกำไรกลับ

ด้านนายชวลิต นิ่มละออ ประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท โอเรียนตอล การ์เมนท์ จำกัด กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เห็นด้วยกับที่บีโอไอตั้งสำนักงานบีโอไอสาขาย่อยเพื่อสนับสนุนให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ และควรจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าเอาทุกธุรกิจของไทยออกไปลงทุนทั้งหมด บริษัทฯออกไปลงทุนในเวียดนามเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทำธุรกิจในลักษณะรับจ้างผลิตเสื้อผ้ากีฬาแบรนด์เนมส่งออกไปยุโรปและอเมริกาทั้งหมด ส่วนผลิตขายในตลาดเวียดนามยังต้องใช้เวลา สำหรับผลิตเสื้อผ้าราคาแพงเจาะตลาดบน ยังคงใช้ฐานการผลิตในประเทศไทย เพราะมีความพร้อมในเรื่องฝีมือแรงงาน และการควบคุมระบบออกแบบรวมถึงมีการวิจัยและพัฒนา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559