ค้าชายแดนเชียงรายดิ้น! หาช่องส่งออกลาว-จีนเพิ่มหลังเมียนมาปิดท่าเรือสบหลวย

18 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
ค้าชายแดนเชียงรายดิ้นหาช่องส่งออกไปประเทศคู่ค้าเพิ่มหลังจีนผนึกเมียนมาปิดท่าเรือสบหลวยริมนํ้าโขงสกัดสินค้าไทยจากเชียงรายแวะนุ่งโสร่งฉุดค้าชายแดนเชียงราย-เมียนมาลดกว่าพันล้าน ยันภาพรวมยังบวกเหตุดันส่งออกไป สปป.ลาว จีนตอนใต้โดยตรงเพิ่มขึ้น ขณะที่ด่านศุลกากรลาวด้านสะพานโขง4-R3A ยันโขกค่าธรรมเนียมและภาษีใหม่สินค้าอุปโภค-บริโภคสูงลิ่ว แนะเลี่ยงใช้เส้นทางอื่นมั่นใจยอดค้ายังสดใสปี 59 เกิน 5 หมื่นล้าน ทั้งประเทศ 1.7 ล้านล้านตามเป้ารัฐบาล

[caption id="attachment_86087" align="aligncenter" width="700"] อุปสรรคและทางออกค้าชายแดนด้านจังหวัดเชียงราย อุปสรรคและทางออกค้าชายแดนด้านจังหวัดเชียงราย[/caption]

จากข้อมูลของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงรายรายงานถึง สถานการณ์การค้าชายแดนของจังหวัดเชียงรายช่วงครึ่งปีแรก(มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2559 ว่า มีมูลค่าการค้ารวม 23,122.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,705.72 ล้านบาท หรือคิดเป็น13.25 % ทั้งนี้แยกเป็นการส่งออก 21,053.54 ล้านบาท การนำเข้า 2,068.67 ล้านบาท ได้เปรียบดุลการค้า 18,984.87 ล้านบาท

การค้าชายแดนเชียงรายเมื่อแยกเป็นรายประเทศ พบว่า การค้ากับประเทศ สปป.ลาว มีมูลค่าการค้ารวม 11,499.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2,665.38ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น30.17% การค้ากับสหภาพเมียนมา มีมูลค่าการค้ารวม 6,834.21ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,119.46ล้านบาท หรือลดลงคิดเป็น 14.07 %ส่วนการค้ากับจีนตอนใต้ มีมูลค่าการค้ารวม 4,788.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,159.76 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 31.96%

นางสาวผกามาศ เวียร์รา ประธานคณะกรรมการสาขาเชียงราย สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมาเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีการค้าชายแดนเชียงรายกับกับสหภาพเมียนมาลดลงว่า สืบเนื่องจากการทางการเมียนมาได้ปิดท่าเรือสบหลวย ที่อยู่เหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไปก่อนถึงจีน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นเมืองท่าสำคัญ โดยสาเหตุที่ปิดเกิดจากท่าเรือสบหลวยไม่อยู่ในข้อตกลง การเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่กำหนดให้มีท่าเรือ 14 แห่งคือ ท่าเรือซือเหมา, จิ่งหงหรือเชียงรุ้ง, เมืองหัง และท่าเรือกวนเหล่ย ของจีน, ท่าเรือบ้านจิง และบ้านโป่ง ของเมียนมา, ท่าเรือปางทราย, ปางเซียงก่อ, เมืองมอม, บ้านป่าลุน, ห้วยทราย และหลวงพระบาง ของสปป.ลาว, ท่าเรือเชียงแสน และเชียงของ ของไทย

"ที่ผ่านมาสินค้าของไทยส่งออกไปจีนจำนวนมาก จะลงเรือที่เชียงแสนแล้วไปขึ้นฝั่งที่ท่าเรือสบหลวยของเมียนมา จากนั้นขนส่งด้วยรถยนต์ผ่านทางเขตปกครองพิเศษที่4 ไปเข้าจีน ซึ่งทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี กรณีประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกัน" นางสาวผกามาศ กล่าว

อย่างไรก็ดี “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบว่าการปิดท่าเรือสบหลวย ริมแม่นํ้าโขง เขตเมียนมา ซึ่งใกล้กับชายแดนจีน มีสาเหตุหลักๆ คือ จีนเสียประโยชน์เพราะสินค้าไทยแวะนุ่งโสร่ง ขณะที่เมียนมาเองไม่ได้ประโยชน์เพราะอยู่ในเขตอิทธิพลชนกลุ่มน้อย จึงเป็นสาเหตุที่การค้าระหว่างไทยกับเมียนมาลดลงในช่วงครึ่งีแรกของปี 2559 ที่จังหวัดเชียงรายเพราะสินค้าไทยลงเรือที่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงจะไปจีนแต่กลับแจ้งปลายทางว่าไปเมียนมาเพราะนำสินค้าขึ้นที่ท่าสบหลวยในเขตเมียนมาเพื่อแปลงเป็นสินค้าเมียนมาเพื่อได้เปรียบเรื่องต้นทุนเกี่ยวกับภาษี ทั้งนี้ท่าเรือสบหลวยเป็นท่าเรือเถื่อนที่ทางการเมียนมาปล่อยให้เปิดมาไม่ตํ่ากว่า 20 ปีซึ่งสินค้าที่นิยมส่งจะเป็นสินค้าที่อยู่นอกเหนือ FTAไทย-จีนทั้งหมด แต่สินค้าที่ส่งออกมากและมีปัญหาจะเป็นเนื้อไก่แช่แข็ง สุกรมีชีวิต เป็นต้น

ด้าน ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ระบุว่า การค้าชายแดนของเชียงรายครึ่งปีแรกถือว่าเป็นไปตามเป้า คือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากกว่า 10% ในครึ่งปีหลังปีที่เหลือปี 2559 หอการค้าจังหวัดเชียงรายเชื่อว่าน่าจะเพิ่มขึ้นในระดับเดียวกับครึ่งปีแรก คือเฉลี่ยรวมทั้งปีแล้วมากกว่า 10%ซึ่งถือว่าเป็นปกติของการค้าชายแดนเชียงรายที่จะมีปริมาณการค้าในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่าครึ่งปีแรกอยู่แล้ว

"การค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย แม้ว่าบางช่องทางอาจจะมีปัญหา แต่ธรรมชาติของการค้าก็จะไหลไปที่ช่องทางที่ไม่มีปัญหา ซึ่งก็เกิดขึ้นแทบทุกปี อย่างไรก็ตามหอการค้าเชียงรายยังมั่นใจว่า มูลค่าการค้าชายแดนของจังหวัดเชียงราย ในปี 2559 น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือจะมีมูลค่าการค้าเกิน 50,000 ล้านบาท" ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ระบุขณะที่ นายสงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายกล่าวว่า แม้จะเจออุปสรรค แต่ ผู้ประกอบการจังหวัดเชียงราย ต่างพยายามหาช่องทางเพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าให้เป็นไปตามเป้าประกอบด้วย เมียนมา ลาว และ จีน โดยเฉพาะจีน ซึ่งถือว่าเป็นคู่ค้าสำคัญ โดยอาศัย เมียนมาและลาวเป็นประตูเชื่อม

ทั้งนี้ เกิดปัญหาเมียนมาปิดท่าเรือสบหลวย โดยจีนห้ามเรือสัญชาติจีนทุกลำจอดบริเวณนั้น เพราะ เป็นท่าเรือที่ไม่อยู่ในข้อตกลง และมีการลักลอบนำสินค้าผ่านท่าเรือดังดังกล่าวโดยเฉพาะสินค้าไทย ทางออกสามารถเปลี่ยนสัญชาติเรือหรือใช้เส้นทางบกเพิ่มขึ้นอาทิ เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก แต่ในมุมกลับ นายสงวนมองว่า ท่าเรือสบหลวยสามารถเจรจาได้และเชื่อว่าน่าจะปิดได้ไม่นานหลังปิดมาตั้งแต่ต้นปี 2559 อย่างไรก็ดีสำหรับการส่งออกสินค้าไปจีนด้านจังหวัดเชียงราย สินค้าที่ต้องการมากคือ ผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน เงาะ ลำไย ลองกอง ซึ่งมากจากภาคใต้ภาคตะวันออก และในเชียงของของเชียงรายเอง ก็มีสวนทุเรียน ที่จีนเข้ามารับซื้อถึงสวนในราคา 90-100บาทต่อกิโลกรัมซึ่งถือว่าสูงมาก ส่วนลาว และเมียนมา จะเน้นสินค้าอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก

นอกจากนี้ด่านศุลกากรลาว ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีอากรใหม่ เฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภค เมื่อเดือนพฤษภาคม2559 ที่ผ่านมา โดยใช้เส้นทาง สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่4 (เชียงของ-ห้วยทราย ) –ถนนR3A ไปยัง แขวงบ่อแก้ว-แขวงหลวงน้ำทา และผ่านไปยังจีนที่เมืองบ่อเต็น-โมฮาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการลาว ที่รับสินค้า มีต้นทุนที่สูงขึ้น อาทิ จาก เดิม เสียไม่มาก หรือแทบไม่เสีย หรือเสียเล็กน้อยกลับเสียเพิ่มมากขึ้นเช่น รถ 10 ล้อ เหมาจ่าย 40,000 บาท รถคอนเทนเนอร์ เหมาจ่าย 55,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการลาวมีแนวโน้มขำเข้าสินค้าจากไทยลดลงทางออก หรือ เลี่ยงไปสั่งสินค้าจากเวียงจันทน์ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าใหญ่แทน เนื่องจาก นักลงทุนไทย อาทิ เครือสหพัฒน์ เสริมสุข ฯลฯ ย้ายฐานการผลิตไปลาว ทางออก ผู้ประกอบการไทยสามารถเลี่ยงไปใช้เส้นทางทางน้ำ ที่ท่าเรือเชียงแสน หรือ ไปทางสะพานมิตรภาพไทยเมียนมา แห่งที่ 1 ที่อำเภอแม่สอดจังหวัดตาก สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ที่ มุกดาหาร และ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ที่นครพนม หรือ ใช้วิธีเจรจากับผู้ประกอบการลาวว่าจะใช้รูปแบบใดในการขนส่งสินค้า อาทิ ลดขนาดปริมาณสินค้าให้เล็กลงเป็นต้น ส่วน ตัวแปรที่ทำให้การค้าระหว่างเพื่อนบ้านลดลง โดยเฉพาะเมียนมาอาจจะเป็นเพราะฤดูกาล ที่เกิดจากช่วงฤดูฝน ภัยแล้ง และ ผลิตผลทางการเกษตร ที่ เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละช่วงฤดู ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้า ซึ่งทางออกก็ลดส่งออก-นำเข้าหรือ หาสินค้าทดแทน ฯลฯ ขณะที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี ระนอง ฯลฯ ความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภคไทยของเมียนมายังสูง อย่างไรก็ดีมั่นใจว่า นอกจากค้าชายแดนเชียงรายจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ปี 2559 เกิน 50,000 ล้านแล้ว เชื่อว่า ภาพรวมส่งออกทั้งระบบของประเทศจะเป็นไปตามเป้าที่รัฐบาลตั้งไว้คือ 1.7 ล้านล้านในปี 2559 อย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559