ครม.ปลดล็อกแก้ขยะชุมชน เปิดทางอปท.-เอกชนจัดการร่วมกัน

17 ส.ค. 2559 | 00:00 น.
ปัญหาขยะล้นเมือง ขยะใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ขณะที่ขยะเก่าสะสมจำนวนมาก จนยากแก่การแก้ไข หลายภาคส่วนพยายามเร่งแก้ กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยล่าสุด (9 สิงหาคม) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ... เรียกกันง่ายๆว่า กฎหมายขยะมูลฝอย หรือ กฎหมายรักษาความสะอาด ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ที่ได้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบการพิจารณาแล้ว

[caption id="attachment_85888" align="aligncenter" width="700"] ค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยประเภทต่างๆ ค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอยประเภทต่างๆ[/caption]

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทย มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการบริหารจัดการขยะหลายฉบับ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน อาทิ 1.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุข กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย 2.พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 กำหนดให้การจัดการขยะต้องกระทำภายในเขตโรงงานอุตสาหกรรม ห้ามนำออกนอกบริเวณโรงงานเว้นแต่ได้รับอนุญาต และ3.พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดให้การบริการจัดการของเสีย ซึ่งหมายความรวมถึง สิ่งปฏิกูลและมูลฝอยต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นต้น ส่งผลให้การบริหารจัดการขยะขาดเอกภาพ ซ้ำซ้อน ล่าช้าและเกิดประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ครม.ยังได้อนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ...ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)

อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยเจ้าของเรื่องระบุถึงความจำเป็นของการมีร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า เพื่อใช้ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะมูลฝอยมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศอย่างมีบูรณาการจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำกฎหมายขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ โดยยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะทั้งหมด เพื่อให้สามารถดำเนินการบริหารจัดการขยะตามกฎหมายเพียงฉบับเดียว หากจำเป็นต้องมีการขออนุญาตควรต้องขออนุญาตเพียงครั้งเดียว และจากหน่วยงานเดียว เพื่อจะได้ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและเกินสมควร

สาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ขยะมูลฝอยปี 2535 หลายประการ อาทิ นิยามคำว่า "เจ้าพนักงานท้องถิ่น" "พนักงานเจ้าหน้าที่ และ "ราชการส่วนท้องถิ่น" แก้ไขเพิ่มเติมมาตรการรักษาการโดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้ และกำหนดให้รมว.มหาดไทย มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยเป็นการเฉพาะ และกำหนดหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดเกี่ยวกับการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย เป็นต้น

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปี 2535 เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดการปัญหาขยะในพื้นที่ได้อย่างเร่งด่วน เพิ่มอำนาจให้สามารถนำขยะปฏิกูลมูลฝอยที่จัดเก็บไปดำเนินการใช้ หรือหาประโยชน์ได้ โดยสาระสำคัญ คือ การกำหนดเขตพื้นที่ในการจัดเก็บ ขน แยก สิ่งปฏิกูล โดยมอบอำนาจกับส่วนราชการท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งสามารถจัดทำด้วยตัวเอง หรือ ร่วมกับส่วนราชการ หรือกับภาคเอกชนก็ได้

ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่ง สะท้อนความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้เกิดการปลดล็อกในการนำขยะชุมชนไปผลิตไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น โดยไม่ติด พ.ร.บ.ร่วมทุน ที่ปัจจุบันนี้ทางเทศบาลไม่สามารถเข้าไปร่วมทุนกับทางภาคเอกชนได้

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 11 มาตรา โดยในหมวด 3/1 การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย มาตรา 34/1 ระบุว่า การเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ในเขตพื้นที่ของราชการส่วนท้องถิ่นใด ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แต่ไม่รวมถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ในการดำเนินการตามวรรค 1 ราชการส่วนท้องถิ่นจะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นรวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเอกชนเป็นผู้ดำเนินการหรือทำร่วมกับราชการท้องถิ่นก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ การมอบให้เอกชนดำเนินการหรือร่วมดำเนินการดังกล่าว มิให้ถือว่า เป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ แต่หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดดังกล่าว ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐประกอบด้วย

สิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่จัดเก็บได้ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นรวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเอกชนที่ได้รับมอบหมายตามวรรค 2 ซึ่งดำเนินการจัดเก็บย่อมมีอำนาจนำไปดำเนินการ ใช้ หรือหาประโยชน์ได้ตามข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่างกันและตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดตามวรรค 2

ในกรณีที่ราชการส่วนท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับมอบหมายจากราชการส่วนท้องถิ่นอื่นให้เป็นผู้ดำเนินการตามวรรคสอง มิให้ถือว่าเป็นการทำกิจการนอกเขตตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจากผู้ที่เกี่ยวข้องตามอัตราที่กำหนดในข้อกำหนดของท้องถิ่นซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

การจัดการของเสียอันตรายและของเสียไม่อันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน เว้นแต่ในกรณีที่มีของเสียอันตรายหรือของเสียไม่อันตรายปนอยู่กับสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยที่ราชการส่วนท้องถิ่นจัดเก็บ ให้ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นรวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือเอกชนที่ได้รับมอบหมายให้จัดเก็บแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานมาดำเนินการนำไปจัดการ ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวหากพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นยังมิได้ดำเนินการ ให้ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐหรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่น รวมทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเอกชนที่ได้รับมอบหมายให้จัดเก็บ ดำเนินการกับสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยนั้นตามที่เห็นสมควร และให้ถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่ได้รับแจ้งจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559