คลั่งโปเกมอนธุรกิจสบช่องต่อยอดรายได้

11 ส.ค. 2559 | 07:30 น.
โปเกมอน โกฟีเวอร์!! “ทรู” เผยยอดดาวน์โหลดอันดับ 1 ในระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส และ แอนดรอยด์ เตรียมปล่อยทีเด็ดใหม่กลางเดือน ยอมรับมีผู้ประกอบการกว่า 100 ราย ขอแจมกิจกรรมการตลาด ด้าน “เซ็นทรัล” จ่อใช้เป็นกิมมิกต่อยอด เปิดตัวแคมเปญใหม่สัปดาห์นี้ มั่นใจดูดผู้เล่นเข้าศูนย์เพิ่มยอดรายได้ ทั้งพบอาชีพใหม่ช่วยออกไล่ล่าเพียบ

แหล่งข่าวจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังจากการเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี เกมส์โปเกมอน โก ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามียอดดาวน์โหลดเกมส์เป็นอันดับ 1 ในระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส ของ แอปเปิล และ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16 สิงหาคมนี้ ทรู ได้จัดงานแถลงข่าว ทรู สเฟียร์ (True sphere) ที่ ดิ เอ็มควอเทียร์ โซน The Helix Quartier เป็นสิทธิพิเศษให้กับผู้ที่ถือบัตรทรู แบล็คการ์ด และจะปล่อย ไอเท็ม ของโปเกมอน โก จำนวนหนึ่งใน “True Smart Store “ ด้วย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการทำตลาดแบบ Buzz Marketing เช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการจำนวน 100 รายได้เข้ามาติดต่อทาง ทรู เพื่อร่วมทำกิจกรรมทางการตลาด สำหรับรายละเอียดที่เสนอเข้ามานั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะแต่ละรายมีวิธีการตลาดที่แตกต่างกัน เนื่องจาก ทรู เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โปเกมอน เพียงรายเดียวในประเทศไทยในการเป็นผู้ดูแลสิทธิประโยชน์ของ แคแรกเตอร์ และสิทธิประโยชน์ด้านสปอนเซอร์ชิพของเกม รวมถึงทำกิจกรรมพิเศษ โปเกมอน โก ในไทยเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นเจ้าของเกมหรือเป็นผู้ให้บริการเกม หรือในการปล่อยโปเกมอน โก ในไทยตามที่ต่างๆ ทุกอย่างเป็นการดำเนินการจากทางบริษัทโปเกมอน คัมพานี ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท นีอานติคฯ ซึ่งเป็นเจ้าของเกม

“สิ่งที่ ทรู ได้ครั้งนี้คือคอนเทนต์ เหมือนที่ทรูได้ลิขสิทธิ์ EPL (English Premier League) ทำให้ฐานลูกค้าสมาชิกเคเบิลทีวี ทรูวิชั่นส์ เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับที่ ทรูมูฟ เอช จัดโปรโมชันพิเศษจับโปเกมอนเร็วแรงไม่มีสะดุดบนเน็ต 5 กิกะไบต์ในราคา 99 บาทเล่นได้ 7 วัน ซึ่งเราก็จะได้ฐานลูกค้าดาต้าเพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายอิศเรศ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ ซีพีเอ็น ในกลุ่มเซ็นทรัล ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ , เซ็นทรัล พลาซา และเซ็นทรัล เฟสติวัล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทมีแผนนำกระแสโปเกมอน โกฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาต่อยอดด้านการตลาด เพื่อสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าให้มากขึ้น และทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมและมีความผูกพันกับศูนย์มากขึ้นด้วย

“กระแสโปเกมอนฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยขณะนี้ เป็นไปตามที่คาดหมายเพราะเกิดขึ้นที่ต่างประเทศมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อศึกษาและวิเคราะห์อย่างจริงจัง จะพบว่า โปเกมอน โก ช่วยเพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าต่างๆ ทำให้กิจการนั้นๆ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น บริษัทจึงเตรียมนำมาใช้เป็นกิมมิกด้านการตลาดเพื่อต่อยอดต่อไป”

สำหรับกิจกรรมทางการตลาดที่เกิดขึ้น สามารถทำได้ใน 2 รูปแบบได้แก่ การร่วมกับทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ดูแลลิขสิทธิ์ในเมืองไทย ในการกำหนดพื้นที่ภายในศูนย์ให้เป็น Pokestop รวมทั้งให้เป็นพื้นที่ปล่อยตัวคาแรกเตอร์การ์ตูนต่างๆ เพื่อให้ผู้เล่นได้เข้ามาไล่จับ หรือเก็บไอเท็ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับทรู ว่าจะออกมาเป็นลักษณะใด ส่วนอีกรูปแบบเป็นการร่วมกับร้านค้าภายในศูนย์การค้า เช่น ร้านอาหาร ร้านแฟชั่น ฯลฯ จัดโปรโมชั่นพิเศษ เช่น เมื่อจับโปเกมอนได้ภายในร้าน จะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น คูปองส่วนลดสินค้า เมนูอาหารจานพิเศษ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบบริษัทจะเริ่มดำเนินการได้เลย เพราะปัจจุบันภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มีผู้เข้ามาไล่จับโปเกมอน คาแรกเตอร์การ์ตูน และไอเท็มต่างๆ จำนวนมากอยู่แล้ว

“ปัจจุบันเซ็นทรัลเวิลด์ ถือเป็นแหล่งที่มีคาแรกเตอร์การ์ตูนโปเกมอน และไอเท็มต่างๆจำนวนมาก ทำให้แต่ละวันมีผู้เข้ามาไล่จับโปเกมอนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันด้วยจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในเซ็นทรัลเวิลด์กว่า 1.5 แสนคนต่อวัน เชื่อว่าจะทำให้ที่นี่เป็นแหล่งพักบอล หรือแหล่งปล่อยไอเท็มที่น่าสนใจเช่นกัน ทั้งนี้บริษัทเตรียมจัดทำป้ายบอกทาง คำชี้แนะสำหรับผู้เล่นเกม เพื่อบอกเส้นทางของโปเกมอน ป้ายแสดงตัวคาแรกเตอร์ ที่มีคะแนนสูงๆ ให้กับผู้เล่นได้รับรู้ และออกตามล่าหาด้วย โดยแคมเปญต่างๆ จะเริ่มมีขึ้นภายในสัปดาห์นี้อย่างแน่นอน ”

อีกแหล่งที่กำลังเป็นที่นิยม และกลายเป็นจุดจับโปเกมอนที่คนไทยแห่ไปนั่งเฝ้าคือ ลานน้ำพุ สยามพารากอน โดยพบว่ามีผู้คนนับร้อยต่างนั่งเฝ้า เดินวน และจับกลุ่มคุยกันเพื่อรอจับโปเกมอน มอนสเตอร์ และไอเท็มต่างๆ ที่เข้ามา ซึ่งจากการสอบถามไปยังศูนย์การค้าสยามพารากอน ระบุว่า การจัดกิจกรรมเพื่อรองรับกระแสโปเกมอน โกนั้น ขณะนี้ฝ่ายการตลาดอยู่ระหว่างประชุมหาแนวทางในการต่อยอดมาเป็นอีเวนต์ หรือแคมเปญทางการตลาด โดยเฉพาะเรื่องของลิขสิทธิ์และเงื่อนไขต่างๆ โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปและสามารถนำมาจัดทำเป็นกิจกรรมการตลาดออกมาได้ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ยังพบว่ากระแสโปเกมอนฟีเวอร์ ยังทำให้เกิดธุรกิจต่างๆมากมาย ทั้งการขายตัวคาแรกเตอร์การ์ตูนที่จับได้ในราคา 300-500 บาทต่อตัว (ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของตัวคาแรกเตอร์การ์ตูนนั้นๆ) บริการเช่ารถกระบะตามล่าหาโปเกมอน คิดค่าบริการ 2,000 บาทต่อวัน มอเตอร์ไซค์ 1,000 บาทต่อวัน (ไม่รวมค่าน้ำมัน) บริการทัวร์จับโปเกมอน (แพ็กเกจค่าใช้บริการขึ้นอยู่กับสถานที่ และจำนวนคน) บริการโรงแรมพร้อมที่พัก สำหรับผู้ไล่จับโปเกมอน ขณะเดียวกันพบว่ามีผู้ให้บริการจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ในชื่อร้านโปเกมอน โก (Pokemon Go Shop) โดยเปิดพรีออร์เดอร์สินค้าที่เกี่ยวกับโปเกมอน อาทิ Powerbank pokeball LED ในราคา 940 บาท สายรัดข้อมือ ริสต์แบนด์ Team 100 บาท เคสมือถือสกรีนลาย Pokemon 250 บาท จี้สร้อยคอเงิน หางปิกาจู 600 บาท แก้วเซรามิกปิกาจู 390 บาท ที่คาดศีรษะ หูปิกาจู และหูหมา 350 บาท เป็นต้น

ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากการเชิญผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 5 รายและได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เพื่อหารือร่วมกันในแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องเกมโปเกม่อนที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อสรุปในการหารือร่วมกันครั้งนี้ได้ข้อสรุป 3 ประการคือ 1. เรื่องการจำกัดโซนนิ่ง ในการที่จะเล่นเกม โดยสถานที่ที่จะจำกัดในครั้งนี้ เบื้องต้นมี 4 แห่ง คือ 1.สถานที่ที่เป็นอันตราย เช่นถนน ริมคลอง ริมทะเล ภูเขา ทางรถไฟต่างๆเป็นต้น 2. ศาสนสถานต่างๆ เช่น วัด โบราณสถานต่างๆ 3.สถานที่ราชการทุกแห่ง และ4.ที่ส่วนบุคคล บ้านพักที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ทางกสทช.ได้มีการหารือร่วมกันแล้วจะทำหนังสือถึงบริษัท นิอานติคฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเกม ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะดำเนินการให้ปรับปรุงแก้ไข เพิกถอนจุดต่างๆที่ได้กำหนดไว้ 4 แห่ง ให้ดำเนินการในส่วนนี้ก่อน หากมีสถานที่อื่นเพิ่มเข้ามาก็จะทำหนังสือแจ้งตามไปอีกครั้ง ทั้งนี้บางค่ายได้มีการจัดทำคู่มือ ซึ่งเป็นแนวทางที่ได้ข้อสรุปร่วมกันเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นผ่านหนังสือไอเท็มต่างๆ ในกรณีอยากให้มีการเตือนสติพวกนี้

ข้อที่ 2 เป็นเรื่องของการใช้อินเตอร์เน็ตต่างๆว่ามีค่าโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้น ให้ระวังและควบคุมค่าใช้จ่ายในการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้เกิดความเหมาะสม เนื่องจากเท่าที่ กสทช.พบข้อมูลคือการซื้อไอเท็ม หรือ การซื้อสินค้าเพิ่มในเกมบางรายการมีราคาประมาณ 2,000-3,000 บาท

และข้อสุดท้าย คือ ความปลอดภัย เป็นเรื่องที่ กสทช. ขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 ราย คือ 1.ให้มีคู่มือ ข้อเตือนสติในการเล่นเกม 2.ผู้ปกครองมีส่วนในการที่จะดูแลลูกหลานได้อย่างไรในการที่จะไม่ให้เข้าไปเล่นเกม หรือว่าจะทำอย่างใดบ้าง เป็นข้อเตือนที่ทางผู้ประกอบการทั้ง 5 รายจะต้องไปจัดทำคู่มือดังกล่าว

อนึ่งโปเกมอน โก เป็นแอพพลิเคชั่นเกมบนมือถือสมาร์ทโฟน แท็บเลต โดยผู้ผลิตเกมออนไลน์ Nintic Labs เพิ่งเปิดตัวในเมืองไทยเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาพร้อมกับอีก 15 ประเทศในเอเชียและโอเชียเนีย อาทิ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฯลฯ โดยกระแสคลั่งไคล้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559