ความนิยมในกีฬาฟุตบอลของไทย สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 12,000 ล้านบาท

10 ส.ค. 2559 | 11:15 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง ความนิยมในกีฬาฟุตบอลของไทย: กับบทบาทในกิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศ เม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 12,000 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญ

•กระแสความนิยมของฟุตบอลไทยที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นผ่านจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันในสนาม เรทติ้งในช่วงของการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลทั้งการแข่งขันระดับทีมชาติและไทยลีกเพิ่มขึ้น จากผลสำรวจ พบว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่ามีการรับชมการแข่งขันฟุตบอลไทยทางทีวีเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 75.0 ขณะที่การรับชมเท่าเดิมคิดเป็นร้อยละ 17.4 และการรับชมน้อยลงคิดเป็นร้อยละ 7.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ชื่นชอบฟุตบอล

•ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 74.6 รับชมการถ่ายทอดการแข่งขันทั้งฟุตบอลลีกไทยและต่างประเทศทางทีวี โดยการแข่งขันฟุตบอลลีกที่มีการรับชมผ่านทางทีวี 3 อันดับแรก คือ การแข่งขันฟุตบอลไทยลีก (ร้อยละ 30.1) ขณะที่รองลงมา คือ การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ (ร้อยละ 29.8) และการแข่งขันฟุตบอลลาลีกาลีกของสเปน (ร้อยละ 19.6)

•ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ตอบแบบสอบถามรับชมการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 62.8 เนื่องจากผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่านักเตะไทยมีคุณภาพมากขึ้น (ร้อยละ 37.4) รองลงมา คือ พัฒนาการของทีมฟุตบอลไทยดีขึ้น (ร้อยละ 29.3) มีการจัดการแข่งขันที่เป็นระบบเหมือนต่างประเทศ (ร้อยละ 14.8) และมีนักเตะต่างชาติเข้ามาเล่น (ร้อยละ 9.5) เป็นต้น

•ฟุตบอลนอกจากจะเป็นเรื่องของเกมการแข่งขันกีฬาแล้ว แต่เมื่อพิจารณาในอีกมิติหนึ่ง คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ โดยส่งผ่านมายังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างการลงทุนในการทำทีมฟุตบอล สื่อโทรทัศน์ อุปกรณ์กีฬา สินค้าเสื้อกีฬาและของที่ระลึก ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจคมนาคมขนส่ง สถาบันสอนกีฬา กอปรกับยังก่อให้เกิดการจ้างงาน และการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้ จากการประเมินข้อมูลเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2559 นี้ การเติบโตของฟุตบอลของไทยจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท

ณ เวลานี้ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ความนิยมในกีฬาฟุตบอลของไทยยังพุ่งแรงต่อเนื่อง ทั้งในเกมการแข่งขันระดับทีมชาติที่สามารถทำผลงานได้ดีและประสบความสำเร็จในเกมการแข่งขันทั้งการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย รวมถึงการที่ฟุตบอลทีมชาติไทยสามารถผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายของรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกโซนเอเชีย ขณะที่การแข่งขันระดับทีมสโมสรในประเทศอย่างการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกก็มีกระแสตอบรับดีขึ้นทุกปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันในสนาม มูลค่าการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันและเรทติ้งในช่วงของการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเพิ่มขึ้น สื่อโฆษณาที่ใช้นักฟุตบอลในการประชาสัมพันธ์สินค้า รวมถึงในโลกสังคมออนไลน์ที่มีการเผยแพร่ข่าวสารและการจัดตั้งแฟนเพจที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจความนิยมของกีฬาฟุตบอลไทย โดยเน้นกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบและชมฟุตบอล เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับชมฟุตบอลไทย ความเชื่อมโยงของฟุตบอลที่มีต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ โดยมีการกระจายแบบสอบถามจำนวน 1,200 ชุด ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นคนกรุงเทพฯและต่างจังหวัด สำหรับผลการสำรวจสามารถสรุปได้ดังนี้

การรับชมการแข่งขันฟุตบอลไทยทางทีวีเพิ่มขึ้น   

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงการรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลไทยผ่านทางทีวีในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่คิดว่ามีการรับชมการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลไทยเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 75.0 ขณะที่การรับชมเท่าเดิมคิดเป็นร้อยละ 17.4 และการรับชมน้อยลงคิดเป็นร้อยละ 7.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่ชื่นชอบฟุตบอล

เห็นได้ว่า จากกระแสของฟุตบอลไทยที่มีความนิยมเพิ่มขึ้น มีส่วนทำให้สถานีโทรทัศน์ได้ให้ความสนใจเข้ามาแข่งประมูลสิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอลไทยทั้งเกมการแข่งขันระดับทีมชาติและการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้มูลค่าลิขสิทธิ์ปรับตัวสูงขึ้น โดยในส่วนของการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลไทยลีกในช่วงปี 2560-2563 มูลค่าลิขสิทธิ์สูงถึง 4,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยที่ 1,050 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากในช่วงปี 2557-2559 มูลค่าการประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลไทยลีกอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท หรือเฉลี่ยที่ 600 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการรับชมการแข่งขันย้อนหลัง พบว่า การรับชมเกมการแข่งขันฟุตบอลไทยย้อนหลังทางทีวีมีเพียงร้อยละ 19.9 ขณะที่ส่วนใหญ่รับชมทางออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 80.1 ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการรับชมเกมหรือไฮไลท์การแข่งขันย้อนหลัง ซึ่งสอดคล้อง ณ ขณะนี้ ที่ผู้ชมสามารถชมการแข่งขันและไฮไลท์ย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยช่องทางที่มีการรับชมย้อนหลังทางช่องทางออนไลน์ อันดับแรก คือ YouTube (ร้อยละ 34.7) รองลงมา คือ Facebook ที่มีคลิปการแข่งขันย้อนหลัง (ร้อยละ 25.1) รับชมผ่านเว็บไซต์ หรือ Facebook ของทีมสโมสร (ร้อยละ 23.8) และช่องทางออนไลน์อื่นๆ (ร้อยละ 16.4)

การรับชมการแข่งขันฟุตบอลลีกทางทีวีของไทยมาเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับฟุตบอลลีกต่างประเทศ

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อกล่าวถึงการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสร ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการแข่งขันสโมสรต่างประเทศอย่างพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ชมฟุตบอลไทยมาช้านาน อย่างไรก็ดี ในระยะหลังการพัฒนาของระบบการจัดการแข่งขัน การพัฒนาของหลายๆสโมสรที่มีมาตรฐานขึ้น กอปรกับการถ่ายทอดการแข่งทางสื่อโทรทัศน์ทำให้คนไทยได้รับชมการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยเพิ่มขึ้น

เมื่อสอบถามถึงการรับชมการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสร พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 74.6 มีการรับชมการถ่ายทอดทั้งการแข่งขันฟุตบอลลีกต่างประเทศและการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศทางทีวี  ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่ชมเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.9 และผู้ตอบแบบสอบถามที่ชมเฉพาะฟุตบอลลีกต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

เมื่อสอบถามการรับชมการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรทั้งของไทยและของต่างประเทศทางทีวีที่มีการชมมากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า การแข่งฟุตบอลไทยลีกคิดเป็นร้อยละ 30.1  ขณะที่รองลงมา คือ การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 29.8 และการแข่งขันฟุตบอลลาลีกาลีกของสเปน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.6 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

การรับชมฟุตบอลไทยเพิ่มขึ้น...จากพัฒนาการของนักเตะไทยและสโมสรที่มีคุณภาพมากขึ้น

เมื่อสอบถามผู้ที่ชมการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเปรียบเทียบกับการรับชมฟุตบอลลีกต่างประเทศ พบว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ตอบแบบสอบถามหันมาชมฟุตบอลไทยลีกมากขึ้นกว่าฟุตบอลลีกต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.8 ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าชมการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกเท่าๆกับฟุตบอลลีกต่างประเทศร้อยละ 22.1 และไม่แน่ใจร้อยละ 8.9 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

สำหรับเหตุผลที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีการรับชมการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกมากขึ้นกว่าฟุตบอลลีกต่างประเทศนั้น ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่านักเตะไทยมีคุณภาพมากขึ้น (ร้อยละ 37.4) รองลงมา คือ พัฒนาการของทีมฟุตบอลไทยดีขึ้น (ร้อยละ 29.3) มีการจัดการแข่งขันที่เป็นระบบเหมือนต่างประเทศ (ร้อยละ 14.8) และมีนักเตะต่างชาติเข้ามาเล่น (ร้อยละ 9.5) เป็นต้น

การเดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยที่สนามมีสัดส่วนร้อยละ 39.1...อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นเทรนด์การเดินทางไปเชียร์ทีมที่ชื่นชอบยังสนามในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น

จากผลสำรวจพฤติกรรมการเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกที่สนามในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณร้อยละ 39.1 เคยเดินทางไปชมการแข่งขันที่สนามแข่งขัน (โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 10.1 ตอบว่าไปดูทุกครั้งที่ทีมตนเองแข่ง ขณะที่ในส่วนผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 23.6 จะไปบ่อยครั้งเมื่อมีเวลาว่าง และผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 66.3  ตอบว่านานๆ ครั้งถึงจะไป) ขณะที่ผู้ที่ยังไม่เคยเดินทางไปชมการแข่งขันทางสนามคิดเป็นประมาณร้อยละ 60.9 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

อย่างไรก็ดี ในระยะหลังจะเห็นกลุ่มแฟนบอลมีการเดินทางไปเชียร์ทีมที่ชื่นชอบยังสนามแข่งในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการจัดทำแพคเกจเพื่อให้แฟนบอลเดินทางไปร่วมเชียร์ทีมโปรดยังต่างจังหวัด โดยแพคเกจรวมถึงการจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวเช่นกัน สำหรับพฤติกรรมของผู้ที่เดินทางไปชมและเชียร์ทีมที่ชื่นชอบในต่างจังหวัด สรุปได้ดังนี้

oจากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยไปชมการแข่งขันที่สนาม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 32.2 เคยเดินทางไปเชียร์ต่างจังหวัด ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 67.8 ยังไม่เคยเดินทางไปเชียร์ในต่างจังหวัด

oโดยร้อยละ 54.0 จะมีการวางแผนล่วงหน้าประมาณ 7 วัน และร้อยละ 46.0 ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า

oโดยมีการค้างคืนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.5 ขณะที่ไม่แน่นอนแล้วแต่กรณีคิดเป็นร้อยละ 35.6 และไม่ค้างคืนคิดเป็นร้อยละ 27.9 ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เดินทางไปเชียร์ทีมฟุตบอลยังต่างจังหวัด

oกิจกรรมที่มีการทำระหว่างการเดินทางนอกจากจะไปชมการแข่งขันฟุตบอล อาทิ เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนั้น (ร้อยละ 35.2) การแวะทานร้านอาหารที่มีชื่อเสียง (ร้อยละ 25.6) ซื้อสินค้าของที่ระลึก (ร้อยละ 19.8) เดินทางท่องเที่ยวยังจังหวัดใกล้เคียง (ร้อยละ 17.4) อื่นๆ (ร้อยละ 2.0)

oสำหรับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของการเดินทางอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาทต่อคน

ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 60.3 มีการจับจ่ายใช้สอยในการซื้อสินค้าและของที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอล ช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับทีม

เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าและของที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 60.3 มีการซื้อสินค้า (โดยการซื้อสินค้าผู้ตอบแบบสอบถามมีทั้งการซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับทีมชาติไทย ซื้อเฉพาะทีมสโมสรที่ชื่นชอบและซื้อของสโมสรอื่นๆ) ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 39.7 ไม่ได้ซื้อสินค้า

สำหรับพฤติกรรมการซื้อสินค้าและของที่ระลึกที่เกี่ยวเนื่องกับฟุตบอลสามารถสรุปได้ ดังนี้

oสินค้าที่มีการซื้อมากที่สุด คือ เสื้อทีม (ร้อยละ 62.8) ผ้าพันคอ (ร้อยละ 15.2) และอื่นๆ (ร้อยละ 22.0) เช่น หมวก และกลุ่มผลิตภัณฑ์กระเป๋า เป็นต้น

oซื้อทุกปีคิดเป็นร้อยละ 61.5 และไม่ได้ซื้อทุกปี คิดเป็นร้อยละ  38.5

oสำหรับวัตถุประสงค์ของการซื้อ ได้แก่ ต้องการใส่แบบล่าสุดของปีนั้น (ร้อยละ 46.7) ซื้อเพื่อเก็บเป็นของที่ระลึก (ร้อยละ 29.6) ซื้อเพื่อเป็นของขวัญ (ร้อยละ 20.7) และอื่นๆ (ร้อยละ 3.0)

oสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของที่ระลึกและเสื้อกีฬาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ  3,000 บาทต่อคน

ฟุตบอลไม่เพียงแค่เป็นเกมการแข่งขัน แต่ช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ฟุตบอลนอกจากจะเป็นเรื่องของเกมการแข่งขันกีฬา การดูเพื่อความสนุกสนานแล้ว แต่เมื่อพิจารณาในอีกมิติหนึ่ง คือ การสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยส่งผ่านมายังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างการลงทุนพัฒนาสนามแข่ง การลงทุนในการทำทีมฟุตบอล การสื่อสารโทรคมนาคม ธุรกิจสินค้าที่เกี่ยวเนื่องอย่างอุปกรณ์กีฬาฟุตบอล ของที่ระลึกและเสื้อกีฬาของสโมสร นอกจากนี้ธุรกิจที่ยังได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของฟุตบอลอย่างธุรกิจโรงแรมและที่พัก ซึ่งในระยะหลังจะเห็นการจัดแพคเกจการเดินทางไปเชียร์ทีมโปรดยังต่างจังหวัดบ่อยมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเรื่องของการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องในท้องถิ่น  เมื่อกีฬาฟุตบอลได้มีการพัฒนาเป็นอาชีพมากขึ้นก็ทำให้เกิดการจ้างงาน และการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ และการส่งผ่านไปยังธุรกิจอื่นๆ ทางอ้อม

ทั้งนี้ จากการประเมินข้อมูลเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2559 นี้ การเติบโตของฟุตบอลลีกของไทยจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท

สำหรับเม็ดเงินที่เกิดขึ้นในฟุตบอลลีกของไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้ หากการพัฒนาฟุตบอลลีกของไทยยังคงรักษามาตรฐานการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างให้เป็นลีกอาชีพที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนก็จะช่วยหนุนธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่เชื่อมโยงกับกีฬา และอาจจะกลายเป็นส่วนสำคัญในบทบาทเศรษฐกิจของประเทศในระยะข้างหน้าต่อไปได้

ดังเช่นประเทศที่มีการพัฒนาการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพที่ได้มาตรฐานเป็นที่รู้จักทั่วโลกอย่างพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ หรือลาลีกาลีกของสเปนนั้น ต่างก็มีส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ที่มา:ศูนย์วิจัยกสิกรไทย