นำเข้าเคมีเกษตรพุ่ง2 หมื่นล้าน ไม่สะเทือนรัฐดันเกษตรอินทรีย์/อียูยกนิ้วไทยมาตรฐานสูง

13 ส.ค. 2559 | 08:00 น.
ตลาดเคมีภาคเกษตรยันไม่กระเทือน หลังรัฐประกาศปี 59 พลิกแผ่นดินไทยขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ระบุทั้ง 2 ประเภทยังไปคู่กัน คาดปีนี้ไทยนำเข้าเคมีกลุ่มนี้กว่า 2 หมื่นล้าน สมาคมอารักขาพืชไทย ชี้อนาคตความต้องการอาหารทั้งในและต่างประเทศพุ่ง บีบชาวสวนชาวไร่ใช้สารเคมีเพิ่ม ขณะอียูชมไทยศักยภาพสูงส่งออกผัก-ผลไม้ได้มาตรฐานยุโรป

[caption id="attachment_84189" align="aligncenter" width="700"] ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ปีย้อนหลัง ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร 3 ปีย้อนหลัง[/caption]

นางสาววัชรีภรณ์ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายแผนระดับชาติในเรื่องเกษตรอินทรีย์นั้น มองว่ายังมีเกษตรกรทำได้จำนวนน้อยมาก แต่หากทำได้จะส่งผลดีกับเกษตรกร และประเทศในระยะยาว ทั้งนี้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือจีดีพีในภาคเกษตรของไทยที่คิดเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพีในภาพรวมของประเทศ (ไทยมีประชากร ณ ปัจจุบัน 67.9 ล้านคน อยู่ในวัยแรงงาน 39.5 ล้านคนและสัดส่วน 38.2% อยู่ในภาคเกษตร) นั่นหมายความว่าไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมทางการเกษตรแล้ว และในอนาคตความต้องการด้านอาหารทั้งในและต่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นเกษตรกรจึงยังมีความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีในการเพิ่มผลผลิต และต้ายทานโรค หรือแมลงต่างๆ ดังนั้นระหว่างเกษตรอินทรีย์ กับเกษตรเคมี มองว่าต่างฝ่ายต่างส่งเสริม และต่างมุ่งเน้นการผลิตของตนเองมากกว่า

"ธุรกิจสารเคมี เป็นธุรกิจภายใต้กฎหมาย การจะผลิตได้จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทางกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้กำหนด ซึ่งถ้าเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไปไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบนี้ก็ไม่สามารถที่จะผลิตได้ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ต้องแยกกลุ่มนี้ออกไป แต่ถ้าในแง่ที่ทำถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่นำเข้าสารเคมีแล้วนำมาผสมปรุงแต่ง แล้วบรรจุ สิ่งที่จำเป็นต้องบอกกับเกษตรกรมี 2 ประเด็นหลักคือ 1.การใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและมีประโยชน์สูงสุดหรือไม่ 2. เรื่องความปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเป็นสารเคมีชนิดเดียวกันถ้ามาจากต่างโรงงานกัน คุณสมบัติสารเคมีก็ไม่เหมือนกัน"

สอดคล้องกับ ดร.เดวิด ซารุค ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารความเสี่ยงนโยบายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สหภาพยุโรป (อียู)กล่าวว่าเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช่เป็นแค่กระแสในเมืองไทย แต่เป็นกระแสโลกที่กำลังมาแรง ซึ่งจะสวนทางกับความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น เพราะผลผลิตเกษตรอินทรีย์มีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เสี่ยงที่จะเสียหายทั้งจากทั้งโรคและแมลงต่างๆ ดังนั้นในส่วนของสารอารักขาพืชจะมีส่วนสำคัญที่มาช่วยตรงนี้ โดยจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร เพราะสารอารักขาพืชจะช่วยลดเวลาการกำจัดศัตรูพืชของแรงงานคน ในเรื่องนี้เกษตรกรต้องเรียนรู้ และใช้ให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

"กรณีที่อียูเข้มงวดเรื่องมาตรฐานและการตรวจสอบสารตกค้างในผักและผลไม้นำเข้า ยอมรับว่าอาจสูงเกินไปจริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับเพราะเป็นเรื่องความปลอดภัย เรื่องนี้ทางหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทย จะต้องร่วมมือกันทำให้ได้มาตรฐานส่งออกไปอียู เชื่อว่าโดยศักยภาพไทยทำได้ไม่ยาก"

ด้าน ดร.เซียง ฮี ทาน ผู้อำนวยการบริหารครอฟไลฟ์เอเชีย กล่าวย้ำว่าประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกรายใหญ่ในภูมิเอเชีย และของโลก มีงานวิจัยในปี 2558 ที่ผ่านมายืนยันว่าไทยไม่มีสารตกค้าง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือต้นทุนของไทยค่อนข้างสูงกว่าเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เวียดนาม ดังนั้นการที่จะทำให้ต้นทุนไทยถูกลงก็คือต้องเพิ่มผลผลิต และลดความเสียหายลง จำเป็นที่จะต้องใช้สารอารักขาพืช ส่วนในเรื่องการควบคุมโซนนิ่งในเรื่องพื้นที่เกษตร นั้น ยังไม่น่ากลัวเท่ากับสถานการณ์ภัยแล้ง ดังนั้นสิ่งที่เอกชนอยากเห็นคือภาครัฐลงทุนในเรื่องระบบชลประทานให้เพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าไปจำกัดโซนนิ่งแล้วไม่มีน้ำ ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญสุดของเกษตรกร

แหล่งข่าวจากกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2558 ไทยมีการนำเข้าสารเคมีเกษตร ปริมาณ 1.49 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.93 หมื่นล้านบาท (ดูตารางประกอบ) ซึ่งในปีนี้ 2559 คาดการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยด้านมูลค่าคาดไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท มีปัจจัยจากคาดการณ์ปริมาณฝนในปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว ดังนั้นเมื่อมีน้ำเกษตรกรย่อมที่จะลงทุนเพิ่ม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559