ลุ้นไทยก้าวพ้นMITในปี79 หนุนนวัตกรรมช่วยฐานรากเพิ่มทักษะแรงงาน

15 ส.ค. 2559 | 05:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาวิชาการเชิงสังเคราะห์ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ” ในด้านต่างๆ โดยจะเน้นแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap :MIT) รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน และเพิ่มทักษะแรงงาน เพิ่มประสิทธิผลการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถหลุดกับดักไปสู่รายได้สูง โดยมีการคาดการณ์ว่าไทยจะสามารถหลุดพ้นได้ในปี 2579

เพิ่มนวัตกรรมให้คนจนวิ่งทันคนรวย

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในหัวข้อ “จากโมเดลเก่าสู่โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย: การจัดการเชิงสถาบันสำหรับ Inclusive growth คอร์รัปชัน ธรรมาภิบาล การกระจายอำนาจ และภาวะผู้นำ” ว่า ปัจจัยกับดักรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำของไทย มีอยู่ 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ 1.การออกจากกับดัก ซึ่งคำตอบสุดท้ายจะเป็นเรื่องของนวัตกรรม เพราะไม่มีประเทศไหนออกจากกับดักได้ถ้าไม่มีนวัตกรรม และ 2.การสร้างสถาบันที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมสำหรับคนจน เพราะแม้ว่าไทยจะออกจากกับดักรายได้ปานกลาง แต่ไม่สามารถตอบโจทย์กับคนที่เหลืออีก 20-30 ล้านคน ซึ่งมีรายได้เท่าเดิมที่เป็นปัญหา จึงต้องมีนวัตกรรมของคนจนด้วย เช่น ประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง แม้แต่ทหารที่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง พอเลิกอาชีพทหารก็สามารถไปประกอบอาชีพอื่นได้จากนวัตกรรมที่ตัวเองมี เป็นต้น

นอกจากนี้การกระจายรายได้ เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้รากฐานเข้มแข็ง เนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีรายได้สูงหรือเจ้าสัว ที่พัฒนารายได้สูงค่อนข้างรวดเร็ว และกลุ่มรายได้น้อยหรือคนจนที่ไม่สามารถยกระดับรายได้ขึ้นได้แม้ว่าจะมีมาตรการต่างๆ แต่ที่ผ่านมาช่องว่างของทั้ง 2 กลุ่มเริ่มกว้างมากขึ้น จึงต้องมีสถาบันเข้ามาแก้ปัญหาได้ทั้งกลุ่มระดับบนและกลุ่มระดับล่าง และต้องมีหน่วยงานกลางภาครัฐที่จะมาขับเคลื่อนนโยบายจากระดับบนสู่ระดับล่าง เพื่อตอบโจทย์คนจน และสร้างรากฐานที่มั่นคง ซึ่งในหลายประเทศมีระบบภาษีเข้ามาช่วย ถือเป็นการดูแลคนระดับล่าง และกำกับดูแลระดับบน เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไทยต้องมีการตอบโจทย์ทั้งคนรวยและคนจน

“ความเหลื่อมล้ำเกิดจากคน 2 กลุ่มวิ่งได้ไม่เท่ากัน ซึ่งประเด็นคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่อยู่ในนั้น เปรียบเหมือนไอศกรีมที่ละลายเร็วไปไม่ถึงมือคนระดับล่าง เพราะเงินลงไปไม่ถึงระดับล่าง เนื่องจากคนรวยมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลหรือนักการเมืองที่สามารถหยิบชิ้นปลามันหรือโครงการดีๆได้ ทำให้การก้าวของคนรวยยิ่งเร็วขึ้นไปอีก ดังนั้นจะต้องมีการพัฒนาเชิงสถาบัน การกระจายรายได้ และลดปัญหาคอร์รัปชัน”

ชูโมเดลประกันประชาชนที่รายได้ตกต่ำ

ด้าน ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในภาวการณ์ตกต่ำของเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2540 สะท้อนว่าไทยก้าวผ่านไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง หากดูตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สะท้อนว่านโยบายการคลังของไทยไม่มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยความเหลื่อมล้ำของไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งหากย้อยดูเกาหลีใต้ในปี 2540 จะเห็นว่ามีนโยบาย Minimum Income Guarantee หรือการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับผู้มีรายได้น้อย ในช่วงที่ประชาชนมีภาวะรายได้ตกต่ำ โดยเม็ดเงินที่นำมาอุดหนุนในมาตรการดังกล่าวมาจากการปฏิรูปภาษี และการจัดเก็บภาษีที่ดิน ซึ่งไทยน่าจะทำนโยบายในลักษณะเดียวแบบเกาหลี เพราะหลังวิกฤติรายได้ของไทยตามไม่ทันประเทศอื่น

ทั้งนี้ หากคำนวณตามนโยบาย Minimum Income Guarantee จะเห็นว่าภาครัฐไม่ต้องสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมาก และยังเป็นการจูงใจให้คนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ และในอนาคตคนที่ได้รับการส่งเสริมจนสามารถเข้ามาอยู่ในระบบ จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐผ่านการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาได้อีกด้วย นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐใช้นโยบายการลดภาษีต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ลืมเป้าหมายการจัดเก็บภาษี โดยคนรวยที่อยู่ใน 20 อันดับแรก จะเห็นว่ามีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่เศรษฐกิจส่วนอื่นอยู่ในภาวะซบเซา

ส่วนภาวะผู้นำ จะต้องมีโมเดลที่สามารถจัดการกับผู้นำได้ เพื่อลดปัญหาภาวะคอร์รัปชัน โดยการป้องกันผู้มีอำนาจใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ดี จึงต้องมีสถาบันที่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่สามารถทำได้เห็นจากคดีที่เกิดขึ้นหลายคดี ดังนั้น จะต้องกำหนดให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบผู้นำ เพราะหากใช้องค์กรอิสระเดียวเข้ามากำกับดูแลคงจะไม่สำเร็จ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 กำหนดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบธุรกรรมการเงินผิดปกติได้ แต่ไม่ได้ระบุรวมถึงธุรกรรมการเงินนอกประเทศที่อาจเกิดการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด จึงควรเสนอให้มีร่างกฎหมายการตรวจสอบธุรกรรมการเงินต่างประเทศด้วย

ทางด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมว่า การเปิดเผยข้อมูลหรือการมีข้อมูลพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญที่จะเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการเมืองและการตรวจสอบ เช่น โครงการจำนำข้าว ประชาชนไม่รู้ว่าปริมาณส่งออกข้าวมากน้อยแค่ไหน ส่วนการเรียกร้องทางการเมือง จะต้องรู้ว่าสิ่งที่ได้รับจากรัฐดีหรือไม่ดีอย่างไร ซึ่งไทยไม่มีการประเมินไว้ ดังนั้นควรจะต้องนำแบบอย่างประเทศออสเตรเลียที่มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะ สำหรับการประเมินนโยบายและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐทั้งหมด รวมถึงการปรับรื้อกฎหมายครั้งใหญ่ เพื่อทบทวนกฎหมายที่มีประโยชน์ หรือกฎหมายไหนมีช่องโหว่ ซึ่งหากดูประเทศเกาหลีมีการโละทิ้งกฎหมายกว่า 5,000 ฉบับ ซึ่งไทยจะต้องนำกฎหมายที่มีอยู่กว่า 1 หมื่นฉบับมาทบทวน เช่น การแจ้งทำบัตรประชาชนใหม่ จะต้องมีการแจ้งความกับสถานีตำรวจ ซึ่งในความเป็นจริงตำรวจไม่สามารถรู้ได้ว่าบัตรประชาชนหายจริงหรือไม่ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถูกปรับปรุงจะช่วยลดทั้งเวลาและต้นทุนได้

“คน” อุปสรรคใหญ่กับดักรายได้ปานกลาง

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ สะท้อนโมเดลเก่าสู่โมเดลใหม่ เรื่องการพัฒนาคน (การศึกษา ทักษะ สุขภาพ) ว่า ปัญหากับดักรายได้ปานกลาง คือ ประเทศที่ไม่สามารถก้าวผ่านจากรายได้ปานกลางไปสู่รายได้สูง เพราะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง จากเดิมเคยขยายตัว 7-8% ลดลงเหลือ 3-4% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศที่สามารถก้าวผ่านกับดักรายได้ จะมีประเทศเกาหลี ไต้หวัน เป็นต้น ส่วนประเทศที่ยังติดกับดักรายได้ปานกลาง ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และบราซิล

อย่างไรก็ดี หากดูประเทศที่ไม่ติดกับดักจะมีการพัฒนาเรื่องคนไว้ค่อนข้างดี มีประสิทธิภาพ และมีการพัฒนาก่อนที่จะเข้าสู่รายได้ปานกลาง ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมาจากประเทศใดที่ไม่ใช้ความสามารถจากการใช้ประโยชน์ของคน ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษา โดยโมเดลใหม่ จะต้องปิดช่องโหว่เรื่องคุณภาพการศึกษา ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรแบบเดิมที่ใช้ Subject Based มาเป็น Solution Based เพื่อให้นักเรียนได้ใช้ความคิด และการรวมศูนย์การศึกษาจะต้องให้มีการกระจายมากขึ้น โดยเฉพาะท้องถิ่นที่จะต้องมีอำนาจกระจายการศึกษา ซึ่งบางครั้งดีกว่าการรวมศูนย์ ขณะที่ทักษะแรงงาน จะต้องมีความยืดหยุ่นเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะทักษะจะมีส่วนต่อรายได้มากกว่าการศึกษา โดยโมเดลใหม่เปิดโอกาสให้ใช้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบค่อนข้างสูง

“ความเหลื่อมล้ำเกิดจากประเทศชาติไม่สามารถใช้ประโยชน์ของคนได้ ทำให้ต้องมีแนวคิดใหม่ หรือการบริหารจัดการใหม่ ที่จะช่วยลดปัญหาการผลิตการศึกษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะที่ผ่านมาเน้นแต่เพิ่มโอกาสทางการศึกษา โดยลืมคำนึงถึงคุณภาพการศึกษา ซึ่งคนถือเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการหลุดพ้นรายได้ปานกลาง หากไม่มีการพัฒนาที่ดี”

ส่วน ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวเสริมว่า ภาพรวมตลาดแรงงานและโครงสร้างการศึกษาไทยหลังวิกฤติปี 2540 จะเห็นว่าแรงงานไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมาจากกลุ่มที่จบมัธยมศึกษาและระดับมหาวิทยาลัย แต่ผลิตภาพแรงงานลดลงจาก 7.1% มาอยู่ที่ 2.7% และจากสถิติ แรงงานไร้ฝีมือ 1 ล้านคน จะว่างงานครึ่งปีทุกปี เป็นผลมาจากภาคเกษตรมีปัญหาและการลงทุนยังไม่กลับมา ทำให้ไม่มีการสร้างงาน

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขการศึกษาและแรงงาน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของนักเรียนไทย มีความรู้ต่ำไม่พอใช้ และการจัดสรรทรัพยากรของไทยเกือบจะแย่ที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะการจัดสรรครูที่ค่อนข้างจะแย่มาก ซึ่งวิธีการแก้ปัญหา คือ การเพิ่มจำนวนครู จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลทางการเรียน และยกระดับการศึกษาไทย โดยปัจจุบันไทยมีโรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่ง ต้องเพิ่มครูอีกจำนวน 1.08 แสนคน จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 4 แสนคน คิดเป็นการเพิ่มครูจำนวน 30% ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนครูจากเดิมอยู่ที่ 1.15 คนต่อชั้นเรียน เป็น 1.38 คนต่อชั้นเรียน และบริหารจัดการโรงเรียนที่มีกว่า 3 หมื่นแห่ง ปรับลดเหลือ 1.5 หมื่นแห่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559