รัฐธรรมนูญหนุนยุทธศาสตร์ไทย ธปท.ชี้ครึ่งปีหลังการลงทุนฟื้นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

14 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
“ดร.วิรไท”ผู้ว่าการธปท.หวังเห็นการลงทุนเอกชนขยับเพิ่มหลังผลประชามติรับร่างรธน. ชี้ผลพวงจากระบบศก.ที่มีความเหลื่อมลํ้าสูง ไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครง สร้างหลายจุด ทั้งขาดการลงทุน-เทคโนฯล้าหลัง-การศึกษาและแรงงานด้อยคุณภาพ-ระบบราชการอ่อนประสิทธิภาพ-ความขัดแย้งในสังคมสูง

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานสัมมนาทางวิชาการเชิงวิเคราะห์ “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ” โดยคำกล่าวตอนหนึ่งระบุว่า นับตั้งแต่จุดเปลี่ยนภายหลังวิกฤติ 2540 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงมาอยู่เพียง 3-4%ต่อปี จนดูเหมือนจะกลายเป็น “ New Normal หรือ สภาวะปกติใหม่”ของอัตราการขยายตัวและเป็นเวลากว่า 2ทศวรรษแล้วที่รายได้ต่อหัวเฉลี่ยของคนไทยยังคงวนเวียนอยู่ที่เพียงประมาณ 1 ใน 5 ของสหรัฐอเมริกา โดยถูกหลายประเทศแซงหน้าไปแล้ว ภาวะเช่นนี้หลายคนเรียกว่าเป็นอาการของ “การติดกับดักรายได้ปานกลาง”หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Middle –income Trap” และสะท้อนการชะลอลงของเศรษฐกิจในระยะหลังที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยที่หยั่งรากฝังลึกมานาน และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

“ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายจุด ทั้งด้านขาดการลงทุนเป็นเวลานาน ความล้าหลังของเทคโนโลยีการผลิต ขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ความด้อยคุณภาพของระบบการศึกษาไทย ความอ่อนประสิทธิภาพของระบบราชการ รวมถึงความขัดแย้งในสังคม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ปัญหาเหล่านี้สั่งสมมานานไม่สามารถแก้ไขได้ในเวลาอันสั้นและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง”

สิ่งที่ควรมุ่งเน้นคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีความหมายกว้างและลึกกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมาก ความกินดีอยู่ดีของสังคมไทยครอบคลุมถึงมิติด้านคุณภาพและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม นอกจากความกินดีอยู่ดีบนพื้นฐานของระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องเติบโตต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตไปพร้อมกับช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในสังคม ความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ รวมถึงแรงกดดันต่อเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งทั้งหมดจะกลับกลายมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

ขณะเดียวกัน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้นยังจำเป็นต้องอยู่บนฐานของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มักถูกละเลยและความเสื่อมโทรมหรือภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น ล้วนส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตจึงเป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องรับภาระในวันข้างหน้า ซึ่งปัจจุบันประเทศทั่วโลกส่งเสริมรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน หากประเทศไทยยังไม่มีกลไกและมาตรการที่เพียงพอตามมาตรฐานสากล จะทำให้ไทยอาจเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศและอาจถูกกีดกันทางการค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ธปท.ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยเพื่อให้เศรษฐกิจไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง อีกทั้งยังรับรู้ถึงผลกระทบทางลบจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ จึงพยายามมาโดยตลอดที่จะผลักดันให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตื่นตัวมากขึ้นในการร่วมกันหาทางออกร่วมกันและแก้ปัญหาของประเทศภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเห็นได้จาก 3 ปีที่ผ่านมางานสัมมนาประจำปีของธปท.อาทิ ปี 2556 หัวข้อ “วางรากฐานสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ถัดมาเรื่อง “เรื่องเศรษฐกิจไทยกับบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นการหยิบประเด็นที่เกี่ยวเนื่องถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวทั้งด้านการค้า การเงิน การคลัง โครงสร้างแรงงานและประชากร รวมถึงเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

ต่อข้อถามถึงผลต่อระบบเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุน ภายหลังผ่านร่างรัฐธรรมนูญนั้น ดร.วิรไทกล่าวว่า ถือเป็นปัจจัยบวก ที่ปรับลดความไม่แน่นอนทางการเมืองลงระดับหนึ่ง ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต โดยคาดว่าจะมีการเลือกตั้งตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ และเป็นประโยชน์ต่อภาคการลงทุนในระยะต่อไปทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง แต่การลงทุนจะฟื้นตัวลักษณะค่อยเป็นค่อยไป คือ ไม่ใช่การผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะกดปุ่มได้ทันที แต่อย่างน้อยจะทำให้มีการวางยุทธศาสตร์ของประเทศที่ชัดเจนขึ้น

“ ผลจากการรับร่างรัฐธรรมนูญต่อตลาดเงิน ตลาดทุนนั้น นอกจากปัจจัยเรื่องการเมืองภายในแล้วยังมีนอกประเทศ ที่ยังเป็นปัจจัยสำคัญมากในการกำหนดทิศทางค่าเงินบาท เช่น การประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯที่ผ่านมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ภาคเอกชนและนักลงทุน จึงชะล่าใจในเรื่องเหล่านี้ไม่ได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559