ความเสี่ยงในการสืบทอดกิจการ

13 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
จากการที่ Deloitte Southeast Asia ("Deloitte") ร่วมกับ Business Families Institute @ Singapore Management University ได้ทำการสำรวจธุรกิจครอบครัว 9 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทยและเวียดนาม ในช่วงธันวาคม 2014 -เมษายน 2015 เพื่อสำรวจการรับรู้และความคิดเห็นของครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจที่มีต่อครอบครัวและธุรกิจ พบว่าในเรื่องของการสืบทอดกิจการ 85% ของครอบครัวที่ถูกสำรวจคาดว่าจะทำการถ่ายโอนกิจการภายใน 5 ปีหรือเร็วกว่านั้น และผลการสำรวจยังชี้ว่าความมุ่งมั่นทุ่มเทของครอบครัว ความมุ่งเป็นเจ้าของของครอบครัวและความกลมเกลียวในครอบครัวเป็นปัจจัยความสำเร็จของการสืบทอดกิจการ และเจ้าของธุรกิจครอบครัวในอาเซียนปรารถนาที่จะสร้างธุรกิจที่มีความยั่งยืนเพื่ออนาคตและเตรียมทายาทรุ่นต่อไปเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ

เมื่อสอบถามถึงเรื่องการสืบทอดกิจการ พบว่า 68% ของครอบครัวที่ถูกสำรวจยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับกระบวนการสืบทอดกิจการ แม้เป็นที่ตระหนักว่าธุรกิจครอบครัวในเอเชียจำเป็นต้องเตรียมการสำหรับการสืบทอดกิจการที่ใกล้เข้ามา ซึ่งพวกเขาต้องมีความตั้งใจในการวางแผนเมื่อพวกเขาต้องเผชิญกับการถ่ายโอนกิจการเป็นครั้งแรกจากรุ่นผู้ก่อตั้งไปสู่ทายาทรุ่นที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจครอบครัวในอาเซียนจำเป็นต้องเตรียมผู้นำที่เป็นทายาทรุ่นต่อไปเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการบริการธุรกิจ

นอกจากนี้ที่กล่าวมาแล้วในข้างต้นธุรกิจที่ยั่งยืนมีพื้นฐานมาจากความทุ่มเทของครอบครัวต่อธุรกิจ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้กับทายาทรุ่นต่อไปจึงเป็นความจำเป็นอันดับแรกต่อการสืบทอดกิจการที่ประสบความสำเร็จ โดยกระบวนการบ่มเพาะเริ่มต้นด้วยการช่วยทายาทในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมขององค์กร และพัฒนาความสามารถของพวกเขาเพื่อให้เป็นผู้นำธุรกิจ โดยจากการสำรวจพบว่า 34% ของครอบครัวที่ถูกสำรวจมีการช่วยเหลือทายาทให้ปรับตัวในการทำงานในบริษัท และ 28% มีการจัดหาทายาทที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำ

[caption id="attachment_84184" align="aligncenter" width="700"] When do you expect the family to undertake succession (in year) When do you expect the family to undertake succession (in year)[/caption]

อย่างไรก็ตามมีธุรกิจครอบครัวเพียง 17% ที่มีการสืบทอดกิจการแบบเป็นระบบและมีแผนการฝึกอบรม ในทางกลับกันเกือบครึ่งหนึ่งของครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจไม่มีการสืบทอดที่ชัดเจนและเป็นระบบ นอกจากนี้ยังไม่มีการนำแผนมาใช้อย่างชัดเจนแม้หลังจากที่ทำการถ่ายโอนกิจการไปแล้วก็ตาม และพบว่าครอบครัวที่ถูกสำรวจส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระยะการอภิปรายกันแม้ธุรกิจครอบครัว 85% จะคาดการณ์ว่าจะมีการถ่ายโอนกิจการภายใน 5 ปีหรือเร็วกว่านั้นก็ตาม (ภาพที่ 1)

[caption id="attachment_84185" align="aligncenter" width="700"] How often does the full board review CEO succession plans? How often does the full board review CEO succession plans?[/caption]

เป็นที่น่าสนใจว่าแม้ 31% ของผู้ถูกสำรวจจะระบุว่ามีรายชื่อของทายาทที่ถูกคัดเลือกแล้ว แต่กระบวนการสืบทอดกิจการก็ยังไม่ได้ทำการทบทวนกฎเกณฑ์หรืออัพเดตโดยคณะกรรมการบริษัท ทั้งนี้ 40% ของผู้ถูกสำรวจชี้ว่าคณะกรรมการบริษัทครบทีมจะมีการทบทวนแผนการสืบทอดซีอีโอเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสภาวการณ์ที่ต้องมีการทบทวนเท่านั้น (ภาพที่ 2) ซึ่งอาจหมายถึงว่าแผนนั้นล้าสมัยแล้วหรือสมาชิกในครอบครัวไม่เข้าใจว่าคนที่เป็นทายาทควรเป็นอย่างไรหรือการสืบทอดกิจการจะเกิดขึ้นได้อย่างไรนั่นเอง

ช่วงเวลาการสืบทอดกิจการนั้นเป็นช่วงเวลาที่อ่อนไหว เพราะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ อำนาจ และการเมืองในครอบครัว การได้รับความร่วมมือ และการให้ความสำคัญกับส่วนรวม เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง หากครอบครัวไม่แน่ใจว่าจะสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองให้ลองพิจารณาหาที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ในด้านการวางแผนและช่วยดำเนินการตามแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวมาช่วย จะทำให้ลดความขัดแย้งและมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

ที่มา: Deloitte. 2015. Asian Business Families Governance: Crossing the Chasm for Inter-Generational Change. Business Families Institute @ Singapore Management University. Available:http://bfi.smu.edu.sg/sites/default/files/bfi/BFI_SMU_Deloitte_Asian_Family_Governance_Report_2015.pdf

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559