‘รถไฟฟ้า’พัฒนาเมือง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

12 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
หลังจากชาวกรุงเทพฯและปริมณฑลรอมานานถึง 20 ปี ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งล่าสุด รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม หรือสายสีม่วง เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 และประมาณเดือนธันวาคมนี้ กทม.จะเปิดให้ประชาชนทดลองนั่งรถไฟฟ้า บีทีเอสฟรี 1 สถานี ระหว่างสถานีแบริ่ง -สำโรง ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งสอดคล้องกับที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาในงานสัมมนา"รถไฟฟ้ามาหา...นคร พลิกโฉมเมืองเร่งเครื่องลงทุน" จัดโดยหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ว่า นับจากปี 2559 เป็นต้นไปจะมีการเปิดบริการของรถไฟฟ้าเกิดขึ้นทุกปี

เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความสำคัญของกิจการรถไฟฟ้า มีผลกระทบกับเมืองและการลงทุนอย่างไร จึงได้นำเนื้อหาจากงานสัมมนาดังกล่าวมารายงานดังนี้

สนข.เตรียมแผนแม่บท M-Map2

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่าปัจจุบัน สนข. เตรียมจัดทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ M-Map 2 โดยโจทย์ก็คือว่า ให้รถไฟฟ้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมือง จะเริ่มดำเนินการในปี 2560 เป็นต้นไป ซึ่งในแผน M-Map ระยะที่ 2 จะมีรถไฟฟ้าอีก 10 สาย เข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป พร้อมกันนี้ ยังต้องแก้ไขและรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละโครงการมาหาแนวทางแก้ไขให้หมดไป อาทิ การเข้าพื้นที่โครงการ ปัญหาค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มสูงขึ้นจึงต้องดำเนินการพัฒนาให้สอดคล้องกับการวางผังเมืองในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม

ประการสำคัญไม่สามารถแยกเอาระบบรถไฟฟ้าออกจากระบบการขนส่งสาธารณะอื่นๆได้ ขณะนี้กรมการขนส่งทางบกอยู่ระหว่างการนำเส้นทางรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑลมาปฏิรูปใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองในปัจจุบันซึ่งแน่นอนว่าจะต้องสามารถป้อนให้กับเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นหลักเนื่องจากขนได้จำนวนมากกว่า แต่ก็พบว่าต้องใช้ระยะเวลาการก่อสร้างเป็นเวลานานกว่าจะเปิดให้บริการได้

"ในอนาคตอันใกล้นี้ยังจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ย่านพหลโยธินที่จะย้ายมาจากหัวลำโพงให้เป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่แทน ครบครันทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถเมล์ และรถโดยสารระหว่างเมือง ที่จะเริ่มต้นจากศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารที่แห่งนี้ นอกจากนั้นยังจะได้เห็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้าสายต่างๆ ทำให้เกิดการเดินทางต่อเนื่อง ตลอดจนสถานีย่อยต่างๆที่จะต้องใช้รถโดยสารระบบต่างๆเข้ามาเป็นฟีดเดอร์อำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน

รฟม.ประมูลอีก 4 โครงการ

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่าโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ใน M-map ระยะที่ 1 นั้นมีโครงการที่ รฟม.รับผิดชอบอยู่จำนวน 6 สายทาง รวมระยะทาง 251 กิโลเมตร จำนวน 192 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 54 สถานี และสถานียกระดับ 138 สถานี โดยสายสีม่วง ฉลองรัชธรรม (เตาปูน-บางไผ่) กำหนดเปิดให้บริการวันที่ 6 สิงหาคมนี้ ระยะทาง 23 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้กว่า 6.3 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 4 โครงการ และโครงการที่อยู่ในแผนเร่งประมูลในปีนี้อีก 4 โครงการ

สำหรับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ งานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2561 คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาผู้ให้บริการเดินรถเพื่อต้องการให้สามารถให้บริการรถไฟฟ้า MRT ครบทั้งเส้นทางกับเส้นทางรถไฟ MRT ที่ให้บริการในปัจจุบันนี้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงจากหัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค ระยะทาง 14 กิโลเมตร โดยมีแนวเส้นทางใต้ดินช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ รูปแบบทางยกระดับ ระยะทาง 13 กิโลเมตร

ในส่วนสายสีเขียวเหนือปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งใน 2 ช่วงนี้ได้เตรียมโอนให้กับกรุงเทพมหานคร(กทม.)รับไปบริหารจัดการเดินรถให้สามารถเดินรถต่อเนื่องกับบีทีเอสที่ให้บริการในปัจจุบันต่อไป โดยช่วงจากแบริ่ง-ไปสำโรงคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้ เช่นเดียวกับช่วงหมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าวที่เร่งเปิดให้บริการ 1 สถานีในปี 2560 ก่อนที่จะทยอยให้บริการสถานีอื่นๆต่อเนื่องกันไป

เร่งสายสีแดง-มิสซิ่งลิงค์

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการเร่งด่วนดำเนินการอยู่หลายโครงการ อาทิ รถไฟทางคู่ รถไฟสายสีแดง และแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง โดยสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตอยู่ระหว่างการก่อสร้าง รถไฟทางคู่เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพรอยู่ระหว่างเตรียมประกาศประกวดราคา เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระรอเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติให้ดำเนินการ ล่าสุดอีก 3 เส้นทางผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วคือ เส้นทางนครปฐม-หัวหิน เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ และเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมนำเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

ในส่วนสายสีแดงมิสซิ่งลิงค์ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงในเมืองนั้นผ่านการพิจารณาของครม. แล้ว ส่วนแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายจากพญาไทไปดอนเมือง คาดว่าจะได้รับอนุมัติในเดือนกันยายนนี้อีกเช่นกัน

"สายสีแดงบางซื่อ-รังสิต การก่อสร้างคืบหน้าอย่างมากแล้ว ส่วนเส้นทางบางซื่อ-ตลิ่งชันปัจจุบันใช้รถดีเซลรางให้บริการช่วงเช้ายันจนกว่าระบบอาณัติสัญญาณที่สถานีกลางบางซื่อจะสามารถเชื่อมโยงกันได้จึงจะปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบไฟฟ้า สำหรับสายสีแดงส่วนต่อขยายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตนั้นก็อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการขยายเส้นทางในอนาคตต่อไป"

จัดรูปที่ดินแก้ปัญหาที่ตาบอด

นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่าเมื่อเกิดรถไฟฟ้าสิ่งที่ผังเมืองต้องเข้าไปช่วยเหลือคือ 1.การจัดระบบการคมนาคมระดับรอง 2.ระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการจะทำอย่างไร 3.การใช้ประโยชน์ที่ดิน

ดังนั้นจึงต้องมีการปรับใหม่ให้มีความยืดหยุ่นในการประโยชน์ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยล่าสุดได้ยืนของบประมาณ 20 ล้านบาทจากกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาผังเมืองอย่างน้อย 3 เรื่อง ประกอบด้วย

1.มาตรการการโอนสิทธิ์ กรณีที่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิ์จากการประกาศใช้ผังเมือง ถ้ามีที่ดินในเขตพระนครเป็นพื้นที่อนุรักษ์สามารถสร้างได้ 4 ชั้น แต่สร้างแค่ 2 ชั้น เราสามารถซื้อสิทธิ์ที่เหลือจากส่วนพระนครเพื่อไปสร้างในพื้นที่อื่นได้

2.โครงการให้สิทธิการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบๆสถานี ซึ่งแบ่งเป็น 2.1) สถานีทั่วๆไปนั้นให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมพิเศษในเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรัศมี 500 เมตร ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาอาคารชุดแนวรถไฟฟ้าทั้ง 10 สาย ซึ่งเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จและเปิดบริการเดินรถได้ทั้งหมดในปี 2556 มีกว่า 200 สถานี นอกจากนี้ยังมีสถานีเกิดใหม่จากการลงทุนโครงข่ายรถไฟฟ้าระยะที่ 2 อีก 10 สาย รวมแล้วก็ประมาณ 300-400 สถานี ซึ่งการปรับผังใหม่หรือการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มนั้นสามารถพัฒนาได้เลยทันที แม้สถานีรถไฟฟ้าดังกล่าวจะยังไม่เปิดให้บริการ 2.2) กรณีที่เป็นจุดเชื่อมต่อสถานีมีตั้งแต่ 2 สถานีขึ้นไป จะให้สิทธิพิเศษในการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ในรัศมีที่มากกว่า 1 กิโลเมตรหรือไม่ ซึ่งสถานีที่เข้าข่ายที่มีจุดเชื่อมต่อมากกว่า 2สถานีนั้นมีอย่างน้อย 4-5 สถานี คือ สถานีจตุจักร ,สถานีดอนเมือง ,สถานีบางกะปิ(สายสีชมพูกับสายสีเหลือง) ,สถานีตลิ่งชัน และ สถานีสายไหม(คูคต) เป็นต้น 2.3) บริเวณพื้นที่โดยรอบชุมทางขนาดใหญ่ อาทิ ย่านพหลโยธิน

สำหรับพื้นที่รอยต่อระหว่างกรุงเทพฯกับปริมณฑล 6 จังหวัดที่มีระยะโดยรอบ 216 กิโลเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผังสีแดง ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ในกรุงเทพฯบางแห่งเป็นสีเขียว หรือสีเขียวลาย ปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรอาศัยหนาแน่นขึ้น ผังเมืองกทม.ต้องมีการปรับผังสีใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัดโดยรอบ เช่นเปลี่ยนเป็นสีส้ม (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง )หรือสีเหลือง(พื้นที่ที่มีที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ส่วนพื้นที่รับน้ำ หรือพื้นที่แก้มลิงที่มีอยู่นั้น ไม่สามารถที่จะสร้างบ้านจัดสรรได้ แต่ถ้ามีประชากรเข้าไปอยู่ในบริเวณนั้นมากขึ้น หรือมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าผ่าน ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้พื้นที่เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดด้วย

ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีการเวนคืนไปบริเวณหนึ่ง ทำให้พื้นที่หลายพื้นที่เป็นพื้นที่ตาบอด แม้ว่าจะติดถนนรัชดา หากมีการเวนคืนที่เพื่อทำรถไฟฟ้าแล้วเกิดพื้นที่ตาบอดขึ้นจะทำอย่างไร โดยใช้กระบวนการจัดรูปที่ดินเข้าช่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของที่ดิน

ใช้ไอที-วางผังเมืองพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์มหานครอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแผนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและสามารถสนองแนวคิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้สามารถนำรายได้จากการพัฒนามาต่อยอดหรือชดเชยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่ลงทุนไปแล้วหลายเส้นทางเพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาลมากจนเกินไป ให้สามารถนำระบบรางร่วมเข้ากับการพัฒนาพร็อพเพอร์ตีได้อย่างลงตัวมากขึ้น ซึ่งแผนแม่บทในระยะที่ 2 ที่สนข.อยู่ระหว่างดำเนินการนั้นจะได้เห็นการเข้าหาพื้นที่ที่สามารถนำไปพัฒนาเมืองใหม่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น จะเพิ่มศักยภาพให้กับพื้นที่นั้นๆ ด้วยระบบราง เช่นในฮ่องกง หรือ ญี่ปุ่น ที่ระบบขนส่งมวลชนกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะเติบโตไปพร้อมกัน ปัจจุบันของไทยการเคหะแห่งชาติ(กคช.)และรฟม.อยู่ระหว่างร่วมมือกัน

เช่นเดียวกับระบบที่จะนำมาใช้พัฒนาเมืองที่จะใช้ระบบสมาร์ทซิตีเข้าไปใช้งานเอาระบบไอทีกับการวางผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาวางแผนร่วมกัน โดยแต่ละสถานีควรจะมีการวางผังให้เชื่อมโยงในรัศมีประมาณ 500 เมตร เดินทางได้อย่างสะดวกมากกว่าจะใช้รถยนต์และให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างจุดเดียวและรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงให้มากที่สุด ประการสำคัญจะต้องคำนึงเรื่องการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งกลไกทางกฎหมายต้องปรับให้สอดคล้องเหมาะเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเมือง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559