ประชาชนกว่า60%เลือกแล้ว เทคะแนนรับร่างรัฐธรรมนูญ/คำถามพ่วง

11 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
ที่สุดแล้วร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ได้ผ่านการออกเสียงประชามติ "เห็นชอบ" อย่างท่วมท้นด้วยจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงประชามติทั่วประเทศกว่า 15 ล้านคน คิดเป็น 61.40% ของผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนในครั้งนี้ ได้สร้างความชอบธรรมให้กับ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ในการควบคุมรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้บรรลุเป้าหมาย

[caption id="attachment_81046" align="aligncenter" width="700"] เทียบสถิติการใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550/ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เทียบสถิติการใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550/ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559[/caption]

แม้เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะถูกวิพากษ์อย่างหนักตลอดช่วงก่อนลงประชามติว่า ทำประชาธิปไตยถอยหลัง ไม่เป็นไปตามหลักสากล ก่อนถูกหักล้างจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ประกาศยืนยันทุกครั้งว่า จะ "รับ" หรือ"ไม่รับ" ก็จะเดินตามโรดแมปให้มีการเลือกตั้งตามที่วางไว้ คือ ภายในปี 2560

ทั้งนี้จะด้วยเหตุผลใด "เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" กับเนื้อหาและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต่างเห็นตรงกันว่า การออกมาใช้สิทธิลงประชามติ เป็นการใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย ที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ เกิดผลสั่นสะเทือนกลุ่มก้อนการเมืองอย่างหนีไม่พ้น ต้องยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ดังเช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า น้อมรับการตัดสินใจของประชาชนเกี่ยวกับผลประชามติในครั้งนี้ และแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเอาไว้ด้วย

ด้านหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ระบุเช่นเดียวกัน ขอน้อมรับการตัดสินใจของประชาชนที่ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง

ส่วนในมุมมองของ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนว่าการลงประชามติครั้งนี้ เป็นประชาธิปไตยทางตรง เกิดผลบวกต่อการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยและการยอมรับเสียงข้างมาก ลดความเสี่ยงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ใช้ความรุนแรง การฉีกรัฐธรรมนูญและการรัฐประหารในอนาคตได้ระดับหนึ่ง

[caption id="attachment_81045" align="aligncenter" width="500"] บรรยากาศการลงคะแนนประชามัตติ บรรยากาศการลงคะแนนประชามัตติ[/caption]

ขณะที่ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานคณะกรรมการร่างรธน. วิเคราะห์ว่า มาจากหลายเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงจุดยืนว่า รับร่างรัฐธรรมนูญ มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนเช่นกัน

โดยกระบวนการหลังจากนี้ กรธ.จะนำคำถามพ่วงมาผนวกไว้กับบทเฉพาะกาลให้แล้วเสร็จใน 30 วัน แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบใน 30 วัน รวม 60 วัน หากศาลรัฐธรรมนูญ "เห็นชอบ" จะส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและประกาศใช้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย "ไม่เห็นชอบ" จะส่งให้กรรมการร่างแก้ไขใน 15 วัน สรุปขั้นตอนทั้งหมด คาดว่า จะให้เวลากว่า 3 เดือน จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้ ขณะที่การจัดทำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกอบรัฐธรรมนูญต้องให้แล้วเสร็จทั้ง 10 ฉบับ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน ทั้งนี้ ในจำนวนนี้ต้องตรากฎหมายเลือกตั้ง 4 ฉบับ จะใช้เวลาประมาณ 240 วัน จากนั้น คสช.จะเริ่มการเลือก ส.ว. ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ใน 15 วัน พร้อมกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 150 วัน คาดการว่า จะมีการเลือกตั้งได้ปลายปี 2560 หรืออย่างช้าต้นปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559