กสอ.ทุ่ม 52 ล้านเสริมแกร่งผู้ผลิต โฟกัส 10 กลุ่มสินค้าหวังเพิ่มยอดขายกว่า 50%

11 ส.ค. 2559 | 10:00 น.
กสอ.ทุ่มงบ 52 ล้านบาท ผลักดันโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตสินค้าให้ตอบสนองตลาด โฟกัส 10 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้าเพิ่มยอดการจำหน่าย SMEs และ OTOP เติบโตมากกว่า50%

ดร.พสุ โลหารชุน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัญหาหลักของผู้ประกอบการ SMEs ไทยในปัจจุบันยังเป็นเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสินค้าและบริการส่วนมากยังขาดการพัฒนาและการออกแบบให้ตรงตามความต้องการของตลาด อีกทั้งยังไม่สามารถสร้างความแตกต่าง ความโดดเด่น และไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการเหล่านั้นได้ ทำให้สินค้าขายได้ในราคาต่ำ ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ประกอบการยังขาดความรู้ ความเข้าใจของการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs จึงริเริ่มจัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ การให้คำปรึกษาในด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การประเมินผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Market Survey การกำหนดกลยุทธ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Market Test การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

สำหรับเป้าหมายของบการส่งเสริมจะพุ่งไปที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในกลุ่มที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและส่งออก 10 กลุ่มทั้งในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ 1.อาหารแปรรูป 2.ยานยนต์และชิ้นส่วน 3.อัญมณีและเครื่องประดับ 4.ยางพารา 5.สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 6.เครื่องหนัง 7.ไม้และเครื่องเรือน 8.เซรามิกและแก้ว 9.เกษตรแปรรูป 10.เครื่องดื่ม ภายใต้งบประมาณกว่า 52 ล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 570 คน และพัฒนา SMEs และวิสาหกิจชุมชนได้ไม่ต่ำกว่า 177 กิจการ ในระยะเวลาดำเนินโครงการ 180 วัน โดยคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์และสามารถเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50

"อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมในระดับสากลและการสร้างโอกาสทางด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ" ดร.พสุกล่าวในที่สุด

อนึ่งการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวถึงร้อยละ 5.1 มีมูลค่าถึงกว่า 1.49 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่าการส่งออก 6,495.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.2 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.46 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันปี 2558 ตามด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีมูลค่าการส่งออก 6,895.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2.4 แสนล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.86

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าการส่งออก 4,722.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.34 อุตสาหกรรมยางพารา มีมูลค่าการส่งออก 1,517.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 5.3 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.50 และอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าการส่งออก 1,586.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.64 ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559