‘รถไฟฟ้ามาหา...นครพลิกโฉมเมืองเร่งเครื่องลงทุน’

09 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
ปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครนับวันจะรุนแรงขึ้น แม้จะมีรถไฟฟ้าให้บริการอยู่ 3 เส้นทาง คือบีทีเอส, เอ็มอาร์ที, แอร์พอร์ตลิงค์และล่าสุดวันที่ 6 สิงหาคม 2559รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เปิดเดินรถเพิ่มอีกหนึ่งเส้นทาง ให้บริการชาวกรุงเทพฯและนนทบุรี จะเห็นว่าการเติบโตของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนไม่ทันกับการขยายตัวของเมืองและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน ทำให้ภาครัฐเร่งผลักดันดำเนินการและก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดสัมมนาในหัวข้อ “รถไฟฟ้ามาหา...นคร พลิกโฉมเมืองเร่งเครื่องลงทุน”ที่ห้องเจ้าพระยาบอลรูม ชั้น2 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจและสาธารณชนที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของรัฐบาล

รถไฟฟ้า 10 สายเกิดจริง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า วันนี้โครงการรถไฟฟ้าไม่ใช่แค่ขายฝัน แต่เริ่มเป็นจริงแล้ว หลังกรุงเทพมหานครเริ่มรถไฟฟ้าสายแรกสายสีเขียวเมื่อปี 2542 และสายที่ 2 ปี 2547 คือ สายสีน้ำเงิน หลังจากปีนั้นก็ไม่มีอีกเลยจนถึงเวลานี้ก็ประมาณ 12 ปี หากนับย้อนกลับไปถึงปีที่มี รถไฟฟ้า บีทีเอส ก็เป็นเวลา 20 ปี จนประชาชนมองว่าเป็นโครงการขายฝันหรือทำจริง แต่ ณ วันนี้ภารกิจของกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งเร่งรัด ผลักดัน ขับเคลื่อน โครงการโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติ ทั้งทางบก น้ำ อากาศ และทางราง ฉะนั้นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามุ่งเน้นระบบราง ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้า 10 สาย ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น 10 สายที่เป็นไปได้และสามารถปฏิบัติได้ 2. รถไฟระหว่างเมือง หรือโครงการรถไฟทางคู่ และ3. รถไฟความเร็วสูง มี 4 เส้นด้วยกัน

ในส่วนรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครที่ครม.อนุมัติและอยู่ระหว่างดำเนินการมี 1.สายสีส้ม ตะวันออก ช่วงมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ 2.สายสีชมพู 3.สายสีเหลือง และ เส้นมิสซิ่งลิงค์ ระหว่างบางซื่อ-หัวลำโพง กับช่วงบางซื่อ-พญาไท-หัวหมาก นอกจากนี้กำลังดำเนินการในแผนกระทรวงคมนาคม ปี 2559 มี สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ อยู่ระหว่างที่จะนำเสนอแผนสิ่งแวดล้อม คาดว่าใช้เวลาไม่มาก และจะนำเสนอ ครม.ในเดือนกันยายน 2559 อีกสายหนึ่ง สายสีส้ม ตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรมฯ-ตลิ่งชัน จะเรียบร้อยในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ อยู่ระหว่างจะนำเสนอรายงานสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดว่าใช้เวลาไม่มาก และจะนำเสนอ ครม.ในเดือนกันยายนนี้ ถือว่าเป็นส่วนท้ายของแผนแม่บทของโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย แรก

ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไปจะมีการเปิดบริการของรถไฟฟ้าเกิดขึ้นทุกปี เริ่มจากปีนี้เปิดเดินรถสายสีม่วง สายสีน้ำเงินต่อขยายกำลังหารือผู้ประกอบการ แต่ก็พยายามเร่งให้เร็วที่สุด ปี 2560 เตาปูน-บางซื่อ ปี 2561 แบริ่ง-สมุทรปราการ ปี 2562 สายหมอชิต-คูคต ปี 2563 สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต บางซื่อ –หัวหมาก ,สีชมพู, สีเหลือง ปี 2564 สายสีน้ำเงิน บางแค-พุทธมณฑล ปี 2565 สีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสีส้ม ตะวันตก

แม้จะมีรถไฟฟ้าครบ 10 สาย แต่สำหรับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองใหญ่ถือว่ายังไม่เพียงพอ กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ทำแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะที่ 2 ซึ่งมีอีก 10 สาย เป็นโครงข่ายย่อยมาเติมเต็มให้การเดินทางเชื่อมต่อถึงกันอย่างสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้ง นโยบายของท่านนายกฯ ที่ต้องการให้เกิดการใช้ประโยชน์ 2 ข้างทาง ไม่ใช่เฉพาะรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ให้มีการพัฒนาเชิงธุรกิจในสถานีหรือบริเวณโดยรอบสถานีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองจะเกิดเป็นTransport and Property และกลไกสำคัญของการพัฒนาเมืองก็คือภาคเอกชน

แผนรถไฟฟ้าระยะ2 พัฒนาเมือง

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร( สนข.) กล่าวว่า แผนแม่บทรถไฟฟ้าฉบับแรกใช้งานมา 20 ปีแล้ว โดยเป้าหมายหลักคือแก้ไขปัญหาจราจร อีกทั้งสามารถสร้างการเติบโตของเมืองได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม แผนเดิมคงจะไม่สอดคล้องกับการเติบโตของเมืองในปัจจุบัน คงต้องทบทวนแผนแม่บทระยะที่ 1 เพื่อให้แผนแม่บทระยะที่ 2 เข้าเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไป ซึ่ง สนข.ได้รับโจทย์ใหม่มาดำเนินการคือทำให้รถไฟฟ้าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมือง จะเริ่มดำเนินการในปี 2560 เป็นต้นไป ทั้งนี้แผนแม่บทระยะที่ 2 นั้น กระทรวงคมนาคมต้องการให้มีจำนวน 10 สาย เป็นต่อขยายจากเส้นทางในปัจจุบันและยังมีฟีดเดอร์เชื่อมโยงเกิดขึ้นในหลายเส้นทางด้วย

ปรับผังเมืองรองรับพัฒนาเมือง

นายวันชัย ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผังเมืองมีอยู่ 4 ผังหลักๆคือ 1.การใช้ประโยชน์จากที่ดิน 2.ผังโครงข่ายคมนาคม 3.ผังสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ และ 4.ผังพื้นที่โล่ง สิ่งแวดล้อม และการระบายน้ำ สิ่งที่ผังเมืองทำได้เมื่อมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นคือการทบทวนการใช้งานของผังเมือง หรือการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ณ วันนี้รอบๆสถานีทั่วๆไปนั้นจัดให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมพิเศษในเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรัศมี 500 เมตร แต่ก็ไม่เพียงพอ ผังเมืองจึงมีการเสนอเรื่องไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อให้พิจารณาขยายสิทธิพิเศษในการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ในรัศมีที่มากกว่า 1 กิโลเมตร

ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ในกรุงเทพฯบางแห่งเป็นสีเขียว หรือสีเขียวลาย ปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรอาศัยหนาแน่นขึ้น ผังเมืองกทม.ต้องมีการปรับผังสีใหม่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัดโดยรอบ

รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Smart City Research Center สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแผนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองและสามารถสนองแนวคิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้สามารถนำรายได้จากการพัฒนามาต่อยอดหรือชดเชยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่ลงทุนไปแล้วหลายเส้นทางเพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาลมากจนเกินไป ให้สามารถนำระบบรางร่วมเข้ากับการพัฒนาพร็อพเพอร์ตีได้อย่างลงตัวมากขึ้น ซึ่งแผนแม่บทในระยะที่ 2 ที่สนข.อยู่ระหว่างดำเนินการนั้นจะได้เห็นการเข้าหาพื้นที่ที่สามารถนำไปพัฒนาเมืองใหม่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

ด้านนายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)กล่าวถึงรถไฟฟ้าสายสีม่วง ฉลองรัชธรรม(เตาปูน-บางไผ่)ว่า ช่วงการเชื่อมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อนั้น จะต้องรอให้ได้ตัวผู้รับจ้างเดินรถจึงจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการระหว่างสายสีม่วงและสายสีน้ำเงินหรือMRTได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยช่วงแรกจะใช้รถโดยสารของขสมก.และร.ฟ.ท.ให้บริการก่อนจนกว่าจะเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทางได้สำเร็จที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2560 นี้ ส่วนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระงานก่อสร้างจะเสร็จปีหน้าและเปิดให้บริการปี2562

เร่งไฟเขียวเส้นหัวหิน-ประจวบฯ

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีโครงการเร่งด่วนดำเนินการอยู่หลายโครงการ อาทิ รถไฟทางคู่ รถไฟสายสีแดง และแอร์พอร์ตลิงค์ส่วนต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง โดยเฉพาะเส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเร่งให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอครม.อนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

 ในรอบ30ปีราคาที่ดินพุ่ง47เท่า

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซีฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด กล่าวว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา(2528-2558)ราคาที่ดินทั่วเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลปรับเพิ่มขึ้นถึง 47 เท่านับเป็นเรื่องเหลือเชื่อ โดยทำเลที่ปรับตัวสูงขึ้นคือ เขตชั้นใน 37.1% เขตชั้นกลาง 32.7-37.1% เขตชั้นนอก 13.3-31.1% (เทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งเมือง 27.4%) อย่างไรก็ตามในปี 2558ราคาที่ดินปรับเพิ่มเฉลี่ย 3.2% เป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี2556 เพิ่ม 4.6% ปี2557 เพิ่มขึ้น 3.5%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559