ลุยแก้อุปสรรคเขตเศรษฐกิจสระแก้ว สนช.ชงครม.เร่งดันนิคมฯผุดกลางปีหน้าสร้างความเชื่อมั่น

10 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
สนช.เตรียมชงครม.แก้อุปสรรคการลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว หลังพบปัญหาเพียบ ต้องอาศัยอำนาจรัฐเร่งผลักดัน หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและเพิ่มมูลค่าทางการค้าพุ่ง ขณะที่การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของกนอ.รุกหน้า นักลงทุนแห่สนใจเพียบ คาดเปิดให้บางส่วนเข้าสร้างโรงงานได้กลางปีหน้า

[caption id="attachment_80705" align="aligncenter" width="346"] พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)[/caption]

พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.)ศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าสู่อินโดจีน ในคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้คณะอนุกมธ.ฯ อยู่ระหว่างจัดทำร่างรายงานผลการศึกษาและติดตามการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว เพื่อรวบรวมปัญหาและอุปสรรคในการเร่งรัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว นำเสนอให้สนช.พิจารณา ภายในต้นเดือนกันยายนนี้ ก่อนจะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบช่วยผลักดันในการแก้ไขปัญหาต่อไป

ทั้งนี้ จากการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในช่วงที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่จังหวัดสระแก้วที่ประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในตำบลบ้านด่าน ป่าไร่ ท่าขาม อำเภออรัญประเทศ และตำบลผักขะ อำเภอวัฒนานคร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2 แสนไร่ จะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าสู่อินโดจีน ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากในด้านต่างๆ แต่ยังมีปัญหาบางประการที่จะต้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลหรือช่วยเร่งผลักดัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

โดยในส่วนของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ 660 ไร่ ที่กนอ.รับผิดชอบนั้น น่าจะมีความคืบหน้ามากที่สุด ที่ขณะนี้ได้มีการออกแบบพื้นที่นิคมฯเสร็จแล้ว และรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ(สผ.) จังหวัดสระแก้วพิจารณาแล้ว คาดจะได้รับอนุมัติเร็วๆ นี้ จากนั้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างหรือพัฒนาได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และใช้เวลาก่อสร้าง 15-18 เดือน ด้วยงบประมาณแผ่นดินกว่า 700 ล้านบาท

นอกจากนี้ พบว่านักลงทุนได้ให้ความสนใจที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่ประกอบการกิจการเป็นจำนวนมาก และเริ่มที่จะยื่นข้อเสนอจับจองพื้นที่ลงทุนเข้ามาแล้ว แต่กนอ.ยังไม่มีการลงนามให้เช่าพื้นที่แต่อย่างใด เนื่องจากจะต้องพิจารณาประเภทกิจการให้ตรงตามเป้าหมาย และพื้นที่บางส่วนต้องกันไว้ให้สำหรับให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีได้มีโอกาสเข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนได้ด้วย ซึ่งมองว่าการจับจองพื้นที่น่าจะได้ข้อยุติภายในสิ้นปีนี้ และหลังจากนั้นในช่วงกลางปีหน้าคาดว่าผู้ประกอบการบางส่วนน่าจะเข้าใช้พื้นที่ก่อสร้างโรงงานได้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ทางรัฐบาลหวังที่จะเป็นพื้นนำร่องและนำโมเดลไปใช้สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจากการศึกษาของคณะอนุกมธ.ฯ พบว่าพื้นที่ดังกล่าว จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอุปสรรคโดยเร็ว เพราะบางเรื่องต้องเป็นอำนาจของรัฐบาลเข้ามาแก้ไขหรือผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้ดำเนินการที่เร็วขึ้น

โดยอุปสรรคที่สำคัญๆ นั้น เช่น ขนาดของพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น จำนวน 2.07 แสนไร่ กำหนดพื้นที่ให้สามารถเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้าได้ประมาณ 8,660 ไร่ (พื้นที่สีม่วง) หรือคิดเป็น 4.17% ของพื้นที่ทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับพื้นที่สีเขียว จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากติดประกาศกระทรวงมหาดไทย ห้ามก่อสร้างดัดแปลงหรือเปลี่ยนการใช้อาคารบางชนิดหรือบางปะเภท รวมถึงปัญหาสภาพการจราจรที่แออัดบริเวณด่านศุลกากรบ้านคลองลึก ที่มีขนาดเล็กไม่สามารถขยายพื้นที่ให้สอดคล้องกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคตได้

นอกจากนี้ ระเบียบและขั้นตอนการนำเขา-ส่งออกสินค้า ยังไม่เอื้ออำนวยและส่งเสริมบรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดีมากเพียงพอ เช่น ขั้นตอนพิธีการทางศุลกากรของไทยและกัมพูชา มีความแตกต่างกันในบางเรื่อง อาจก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่ผู้นำเข้า-ส่งออก และการเปิดใช้พื้นที่ควบคุมร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟยังไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงกัมพูชาได้ เป็นต้น ซึ่งหากรัฐบาลเข้ามาดูแลแล้ว คาดว่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น และจะช่วยสร้างมูลค่าทางการค้าผ่านชายแดนจังหวัดสระแก้วได้มากขึ้น จากปีก่อนมีมูลค่าราว 8 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559