เตือนเกษตรเตรียมรับมือ 2 โรคแตงโมระยะออกดอก

05 ส.ค. 2559 | 07:59 น.
ในระยะนี้จะเข้าสู่ช่วงที่แตงโมออกดอก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนแตงโมเฝ้าระวังช่วงที่มีอากาศชื้น และมีฝนตกชุกตลอด ให้หมั่นสังเกตอาการของโรคเถาเหี่ยวและโรคราน้ำค้าง สำหรับโรคเถาเหี่ยว จะพบแสดงอาการเริ่มแรกใบล่างมีสีเหลือง ลุกลามจนเหลืองทั้งต้น ต่อมาเถาแตงจะเหี่ยวและตาย บางครั้งมีรอยแตกตามยาวลำต้นบริเวณโคนเถาใกล้ผิวดิน เมื่อผ่าไส้กลางเถาดูจะเห็นภายในเป็นสีน้ำตาล พบระบาดรุนแรงในพื้นที่สภาพดินเป็นกรด และในพื้นที่เดิมที่มีการปลูกแตงโมซ้ำต่อเนื่องกัน หากพบระบาด ให้เกษตรกรถอนต้นที่เป็นโรคออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที จากนั้นราดดินตรงจุดที่พบโรคและบริเวณใกล้เคียงด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราควินโตซีน 24% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

ในส่วนของโรคราน้ำค้าง มักพบอาการเริ่มแรกมีแผลเหลี่ยมเล็กสีเหลืองบนใบ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ กรณีที่มีความชื้นสูงในตอนเช้า จะพบเส้นใยเชื้อราเป็นขุยสีเทาดำตรงแผลใต้ใบ หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมโรคจะระบาดรวดเร็ว ทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น แตงโมที่เป็นโรคจะติดผลน้อย มีผลขนาดเล็ก และความหวานลดลง หากพบเริ่มระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ+เมทาแลกซิล-เอ็ม 64%+4% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไซมอกซานิล+ฟามอกซาโดน 30%+22.5% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดเมโทมอร์ฟ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 7 วัน โดยพ่นสารสลับกันเพื่อป้องกันเชื้อต้านทานสารเคมี และควรกำจัดด้วงเต่าแตงที่เป็นพาหนะแพร่เชื้อราสาเหตุโรค

สำหรับพื้นที่ที่พบอาการของทั้ง 2 โรคนี้ หลังเก็บเกี่ยวแตงโมเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรเก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการสะสมเชื้อสาเหตุโรค และควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชตระกูลแตง (แตงกวา ฟักทอง มะระ แคนตาลูป) หรือพืชในกลุ่มพริก มะเขือเทศ และมันฝรั่ง เพราะพืชกลุ่มนี้อ่อนแอต่อโรค หลีกเลี่ยงการปลูกซ้ำที่เดิมติดต่อกันเกิน 3 ปี ก่อนปลูกแตงโมในฤดูถัดไป ควรตรวจสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน ถ้าดินเป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวปรับสภาพดิน อัตรา 100-150 กิโลกรัมต่อไร่ กรณีจำเป็นต้องปลูกแตงโมซ้ำที่เดิม ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้มาก หรือปลูกพืชตระกูลถั่วแซมสลับแล้วไถกลบต้นถั่วให้เป็นปุ๋ยพืชสดลงไปในดิน วิธีนี้จะช่วยลดการเกิดโรคได้ และควรเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพจากแหล่งปลอดโรค อีกทั้งก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเมทาแลกซิล 35% ดีเอส อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม โดยไม่ควรปลูกแน่นจนเกินไป เพราะจะเกิดความชื้นสูง อากาศไม่ถ่ายเท และโรคระบาดได้รวดเร็ว