ตามไปดูมาสด้าแดนซามูไร ปักธงตลาดอาเซียนดันยอดขาย

10 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
ในวงการรถยนต์ หากเอ่ยถึงค่าย “มาสด้า” แม้จะเป็นแบรนด์รถยนต์ขนาดเล็กจากญี่ปุ่น มียอดขายแต่ละปีไม่มากนัก แต่มาสด้าก็ถือเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์สายพันธุ์สปอร์ตของโลกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งการออกแบบดีไซน์รถที่มีความโดดเด่น ทันสมัย มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง

เพื่อฉายภาพมาสด้าที่ญี่ปุ่นในปัจจุบัน และในอนาคตให้มีความชัดเจนมากขึ้น ระหว่างวันที่ 24-28 กรกฎาคมที่ผ่านมา “ฐานเศรษฐกิจ” เป็น 1 ในคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยที่ได้รับเชิญจาก บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมงาน Mazda ASEAN Media Forum ณ ประเทศญี่ปุ่น ไฮไลต์สำคัญในวันที่ 26 กรกฎาคมคือ ได้ร่วมทดสอบสมรรถนะ และเทคโนโลยีของรถมาสด้ารุ่นต่างๆ ที่ผลิตในญี่ปุ่นและส่งไปจำหน่ายทั่วโลก โดยได้ทดลองขับในรุ่นต่างๆ เช่น มาสด้า 2, มาสด้า 3,นิวมาสด้า 3,มาสด้า 6,มาสด้า MX-5 และมาสด้า CX-3 ณ สนามทดสอบ Mine Circuit เมืองโคกุระ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ในภาพรวมการทดสอบรถทุกรุ่นถืออยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งสมรรถนะของรถที่มีอัตราเร่งตอบสนองอย่างทันใจ รถมีความสมดุลในการทรงตัวในทุกสภาพการขับขี่ และระบบเบรกที่มีความปลอดภัยแม่นยำ

[caption id="attachment_80260" align="aligncenter" width="500"] โรงงานโฮฟุ(Hofu Plant) โรงงานโฮฟุ(Hofu Plant)[/caption]

ขณะที่อีกหนึ่งไฮไลต์คือการทดสอบขับรถนิวมาสด้า 3 ที่มีเทคโนโลยี “จี-เวคเตอร์ริ่ง คอนโทรล” หรือจีวีซี ซึ่งเป็นระบบควบคุมการลื่นไถลของรถขณะเลี้ยวหรือเข้าโค้ง ทำให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถได้อย่างง่ายดาย ช่วยลดความเหนื่อยล้าของผู้ขับ และช่วยลดการโคลงไปมาของศีรษะ และร่างกายของผู้โดยสาร ทำให้นั่งรถได้อย่างสบายขึ้น

นายมิโนริ ทากาตะ ผู้จัดการโครงการมาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เทคโนโลยี “จี-เวคเตอร์ริ่ง คอนโทรล”นับจากนี้จะถูกนำมาติดตั้งในรถยนต์มาสด้าทุกรุ่น(ยกเว้นรถปิกอัพ) โดยนำร่องรุ่นมาสด้า 3ใหม่ เป็นลำดับแรก และจะทยอยติดตั้งในรุ่นต่างๆ ต่อไป ซึ่งหลังจากเปิดตัวเทคโนโลยีดังกล่าวในญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้า ส่วนในประเทศไทยจะเปิดตัวมาสด้า3 ใหม่ ไมเนอร์เชนจ์ ที่ใส่เทคโนโลยี “จี-เวคเตอร์ริ่ง คอนโทรล”เข้าไป ในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โปปลายปีนี้ สนนราคาเริ่มต้นที่ 8.3 แสน- 1.1 ล้านบาท

[caption id="attachment_80261" align="aligncenter" width="500"] โรงงานโฮฟุ(Hofu Plant) โรงงานโฮฟุ(Hofu Plant)[/caption]

วันถัดมา คณะได้เดินทางไปยังเมืองยามากูชิ เพื่อเยี่ยมชมเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์มาสด้าที่โรงงานโฮฟุ(Hofu Plant) ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ต่อจากโรงงานที่เมืองฮิโรชิมา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของมาสด้า สำหรับโรงงานโฮฟุมี 2 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม ณ ปัจจุบันที่ 3.6 แสนคันต่อปี (จากกำลังการผลิตเต็มเพดาน 5 แสนคันต่อปี) แบ่งเป็นโรงงานที่ 1 ผลิตได้แก่ มาสด้า 2 และมาสด้า 3 ส่วนโรงงานที่ 2 ผลิต มาสด้า 6 กระบวนการผลิตทั้งหมดเป็นการผสมผสานกันระหว่างคน หุ่นยนต์ และเครื่องจักร โดยในทุก 1.02-1.04 นาที จะมีรถยนต์ที่ประกอบเสร็จออกจากโรงงานแห่งนี้ 1 คัน ทั้งนี้รถยนต์มาสด้าที่ผลิตได้ในญี่ปุ่น 25 % จะจำหน่ายในญี่ปุ่น และอีก 75% ส่งออกไปจำหน่ายใน 130 ประเทศทั่วโลก ด้วยยอดขายรวมกว่า 1.52 ล้านคันต่อปี โดยสัดส่วน 47% เป็นรถมาสด้า 3 สัดส่วน 35% เป็นมาสด้า 6 และอีก 18% เป็นรถมาสด้า 2

ขณะที่นายฮิโรชิ อิโนอุเอะ เจ้าหน้าที่บริหาร Emerging Markets (ตลาดที่กำลังเติบโตสูง) บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ตลาดที่กำลังขยายตัวสูงคือกลุ่มอาเซียน เห็นได้จากในปี 2556 รถมาสด้ามียอดขายในอาเซียนต่ำกว่า 8 หมื่นคัน แต่ในปี 2558 ล่าสุดมียอดขายมากกว่า 1.02 แสนคัน สวนกระแสการชะลอตัวของตลาดรถโดยรวม (ในจำนวนนี้เป็นยอดขายในไทยมากสุด 4.2 หมื่นคัน รองลงมาคือเวียดนาม 2.3 หมื่นคัน มาเลเซีย 1.5 หมื่นคัน อินโดนีเซีย 8 พันคัน สิงคโปร์ 6 พันคัน และอาเซียนอื่นๆ อีก 8 พันคัน)

“การทำตลาดในไทยจะเน้นรถมาสด้า 3, มาสด้า 2 และมาสด้าซีเอ็กซ์ 3 ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ในปีนี้มาสด้าจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวแทนจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งเป้าจะขยายให้ได้ 330 แห่ง จากปีก่อนที่มี 290 แห่ง เพื่อขยายพื้นที่การให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาค และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขึ้นเป็นท็อปทรี ใน 5 ตลาดหลักของเราในอาเซียน และตั้งเป้าอัตราการเติบโตของยอดขายจำนวนคันสำหรับตลาดอาเซียนในปีนี้ที่ 16%”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559