'ซีเมนส์'ลั่นพร้อมชิงระบบราง ชูสินค้ามาตรฐานโลก /ยันมาร์เก็ตแชร์รถไฟฟ้ายังสูง

10 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
"ซีเมนส์"ลั่นมีความพร้อมเข้าร่วมแข่งโครงการรถไฟทั้งระบบ ชูจุดแข็งสินค้าและบริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีและคุณภาพมาตรฐานระดับโลก เผยตลาดเปิดกว้างให้ผู้ผลิตทุกราย การแข่งขันช่วยเปิดเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า มั่นใจมาร์เก็ตแชร์รถไฟฟ้ายังสูงกว่า 50%

[caption id="attachment_80239" align="aligncenter" width="358"] โทมัสซ์ มาซัวร์ รองประธานอาวุโส หัวหน้ากลุ่มธุรกิจการเดินทางและระบบขนส่ง บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด โทมัสซ์ มาซัวร์ รองประธานอาวุโส หัวหน้ากลุ่มธุรกิจการเดินทางและระบบขนส่ง บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด[/caption]

นายโทมัสซ์ มาซัวร์ รองประธานอาวุโส หัวหน้ากลุ่มธุรกิจการเดินทางและระบบขนส่ง บริษัท ซีเมนส์ ประเทศไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ซีเมนส์อยู่ในตลาดมานานประมาณ 20 ปี ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้า บีทีเอส โดยให้บริการแบบเบ็ดเสร็จทั้งตัวรถไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ และการซ่อมบำรุง ต่อมาก็เป็นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน เอ็มอาร์ที ที่บริหารโดยบริษัท บีอีเอ็ม และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด นอกจากรถไฟฟ้าในเมืองแล้ว ยังได้ร่วมกับบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บีอีเอ็ม โดยซีเมนส์ได้รับสัญญาติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณสำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ-ขอนแก่น

ดังนั้น การที่รัฐบาลเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ประกอบด้วยรถไฟฟ้าในเมือง, รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็ว ถือเป็นโอกาสของธุรกิจด้านนี้ ซึ่งบริษัทฯพร้อมเข้าร่วมแข่งขันในโครงการต่างๆ ทั้งในลักษณะการบริการแบบเบ็ดเสร็จ หรือเทิร์นคีย์ และซับ คอนแทรค ก็ได้

"ปัจจุบันตลาดเปิดกว้างสำหรับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย ซีเมนส์พร้อมเข้าเสนอทุกโครงการที่เรามีสินค้าที่เหมาะสม ซึ่งการแข่งขันเป็นเรื่องที่ดีถ้าเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้เลือกสิ่งที่ดี"

นายโทมัส ยอมรับว่า สินค้าของซีเมนส์ราคาค่อนข้างสูง แต่สินค้าของเรามีคุณภาพและเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์และมีการใช้งานมาแล้วทั่วโลก ในการแข่งขันราคาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกค้า ซึ่งบริษัทจะนำเสนอสินค้าในราคาที่อยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณของลูกค้า โดยมีคุณภาพและเทคโนโลยีสอดคล้องกับที่ลูกค้ามีความต้องการ จนถึงวันนี้ลูกค้ายังเชื่อมั่นในคุณภาพและเทคโนโลยีของซีเมนส์ เราก็พร้อมเข้าประมูลให้มากที่สุด

กรณีที่มีการกล่าวว่าระบบของซีเมนส์ เป็นระบบปิดนั้น ไม่เป็นเรื่องจริง เราสามารถเสนอระบบอาณัติให้กับบริษัทใดที่จะมาขายรถไฟ หรือต่อขยาย ที่เห็นชัดเจนคือจะเห็นได้จากโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส วันนี้ได้เปลี่ยนไปใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบริษัทอื่น(บอมบาดิเยร์จากแคนาดา) หรือขบวนรถไฟฟ้าจากที่เคยซื้อซีเมนส์รายเดียว ก็หันไปซื้อรถไฟจากจีน นอกจากนี้ยังมีระบบจ่ายไฟ แม้กระทั่งระบบสื่อสารภายใน ก็ซื้อจากบริษัทอื่นเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องซีเมนส์ทั้งหมด

สำหรับแบ่งการตลาดของซีเมนส์ ในโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหรือรถไฟในเมืองนั้น เดิมครองส่วนแบ่งการตลาด 100% เพราะรถไฟฟ้าบีทีเอสใช้ของซีเมนส์ทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีสายสีม่วงเกิดขึ้น หรือสีต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของเราลดลง อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ายังครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% เนื่องจากยังมีทั้ง รถไฟฟ้าบีทีเอส, แอร์พอร์ตลิ้งค์ และเชื่อว่าด้วยผลงานที่ดีกับลูกค้า บวกด้วยคุณภาพและเทคโนโลยีที่ดี ทำให้ซีเมนส์ยังเติบโตในตลาดได้

นอกจากขายสินค้าและบริการแล้ว ที่ผ่านมาซีเมนส์ยังได้พัฒนาบุคคลากรระบบรางมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เพื่อรองรับการบริการซ่อมบำรุงให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวน 200-250 คน หรือโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน เอ็มอาร์ที ก็รับมาอีก 200-250 คน ปัจจุบันมีบุคคลากรประมาณ 550 คน ทั้งหมดจะทำงานให้กับระบบรางทั้งประเทศต่อไป นอกจากทำงานในประเทศแล้ว ยังส่งบุคลากรเหล่านี้ไปทำงานบริการให้กับโครงการต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งมีที่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย และเยอรมนี

"ถ้าพิจารณาจากแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้านระบบราง คิดว่าบุคลากรที่มีไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร ระดับปริญญาตรี หรือ ช่าง ระดับ ปวช. ปวส. เราจะพัฒนาคนไทยตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อให้เรียนรู้ตั้งแต่แรก วันนี้ ทั้ง ซีเมนส์ หรือบริษัทคู่แข่ง รวมถึงผู้ให้บริการ เปรียบเหมือนโรงเรียนสร้างบุคลากรให้กับประเทศ ในอนาคตถ้าซีเมนส์ได้โครงการใหม่ จะใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปทำงาน พร้อมกับรับคนใหม่เข้ามาเสริมและทำงานร่วมกัน ถือเป็นการสร้างคนให้กับประเทศ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,181 วันที่ 7 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559