รองนายกฯแนะแรงงานไทยให้ความสำคัญ‘ภาษา’

04 ส.ค. 2559 | 10:10 น.
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ศ.นิคมจันทรวิทุร อาคารกระทรวงแรงงาน กล่าวในที่ประชุมว่า  กพร.ปช. มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ทำหน้าที่เป็นกลไกที่มีความสำคัญในการพัฒนาแรงงานไทย เพื่อส่งเสริมศักยภาพแรงงาน เป็นกำลังแรงงานยุค 4.0 ตาม นโยบายประเทศไทย 4.0 การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มุ่งหวังให้แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพ  มีทักษะฝีมือเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ  จึงต้องพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น รองรับอาชีพต่าง ๆ ที่มีมากขึ้น ฉะนั้น การทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องหาแนวทางให้สอดคล้องกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายอุตสาหกรรม 4.0

“การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ‘ภาษา’ เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะมีฝีมือแล้ว จะต้องพัฒนาภาษาให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ  ขอฝากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าทำอย่างไรจะทำให้คนรุ่นหลังเป็นเจนเนอเรชันใหม่ รองรับการพัฒนาในทุก ๆ เรื่องของประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” พลเอก ประวิตร กล่าว

ด้าน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ พ.ศ.2560 - 2564 และยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน พ.ศ.2560 - 2564 ซึ่งทั้ง 2 ยุทธศาสตร์มีรายละเอียดชัดเจน โดยจะมีแผนฯรองรับ เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการมีมูลค่าสูง เป็นรายได้หลักของประเทศ  โดยเน้นไปที่การพัฒนากำลังคนให้มีทั้งปริมาณและคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล นำมาตรฐานแรงงานอาเซียนมาเป็นกรอบการพัฒนา โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กลุ่มกำลังแรงงานที่อยู่ในระบบการศึกษาให้สอดแทรกในหลักสูตร ส่วนกลุ่มแรงงานที่มีอยู่เดิมจะประสานกับภาคธุรกิจและสมาคมที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาแรงงาน ทั้งนี้ 2 ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า

“ปัจจุบันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมีแรงงานในระบบประมาณ 1.2 ล้านคน และมีความต้องการแรงงานเข้ามาทดแทนประมาณ 30,000 คนต่อปี ซึ่งนอกจากเรื่องทักษะฝีมือในการทำงาน ยังต้องพัฒนาในเรื่องภาษาและไอทีควบคู่กันไปด้วย” ปลัดกระทรวงแรงงานในตอนท้าย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงาน 2 ชุด คือ คณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารและคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ