กนง. คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% มองเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเพิ่ม แนะจับตาเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงิน

04 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์เรื่อง  กนง. คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% มองเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเพิ่ม แนะจับตาเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงิน

keypoint

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 3 สิงหาคม 2016

เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนในภาคการเกษตรที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงโดยรวมมีมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

เงินเฟ้ออาจกลับสู่เป้าหมายช้ากว่าที่คาด ตามราคาน้ำมันโลก

ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม รวมทั้งพฤติกรรม search for yield

ความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักมีมากขึ้น ส่งผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน

Implication

อีไอซีคาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ตลอดปี 2016

เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space)

สรุปคำแถลงการณ์ของ ธปท. เทียบกับการประชุมครั้งก่อน

การประชุมครั้งนี้ (3 ส.ค. 2559)

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามรายได้และความเชื่อมั่นของครัวเรือนในภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าที่คาด ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศสูงขึ้น เช่น ความไม่แน่นอนภายหลัง Brexit ปัญหาภาคการเงินในยุโรป และพัฒนาการทางการเมืองในต่างประเทศ ในขณะที่ความเสี่ยงในภาคการเงินจีนยังมีอยู่

สถานการณ์เงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคมชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่ระยะเวลาอาจเลื่อนออกไปบ้างขึ้นอยู่กับทิศทางของราคาน้ำมันโลกเป็นสำคัญ

ความเสี่ยงที่ กนง. ติดตาม

1.พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง

3.ความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

เหตุผลของกนง.

นโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอและต่อเนื่อง และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space)

การประชุมที่แล้ว(22 มิ.ย. 2559)

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามคาด แต่การลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับต่ำ และการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด โดยความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง อย่างไรก็ดี ความกังวลด้านภัยแล้งลดลง และราคาสินค้าเกษตรบางรายการเริ่มปรับดีขึ้น

สถานการณ์เงินเฟ้อ

แรงกดดันเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคมที่ปรับเป็นบวกมากขึ้นจากราคาพลังงานและอาหารสดที่เร่งขึ้น และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เริ่มปรับสูงขึ้นเล็กน้อย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี

ความเสี่ยงที่ กนง. ติดตาม

1.พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง

3.ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และ Brexit

4.ความเสี่ยงในภาคการเงินจีน

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

เหตุผลของกนง.

นโยบายการเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอและต่อเนื่อง และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space)

ผู้เขียน ณฐกร วิสุทธิโก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์