ร.ฟ.ท.เร่งรีดรายได้3พันล้าน บริหารสัญญาที่ดิน-เดินรถ

07 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
ร.ฟ.ท.ปฏิบัติการรีดรายได้กว่า 1 หมื่นสัญญาบริหารทรัพย์สินและเดินรถ เบื้องต้นฝ่ายบริหารทรัพย์สินเร่งต่อสัญญาพื้นที่ขนาดกลางและย่อยเกือบ 1 พันสัญญาภายใน 3 เดือนนี้ พร้อมจัดการที่ดินถูกบุกรุก คาดหากจัดเข้าระบบแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยคาดดันรายได้เพิ่มเป็นปีละ 3 พันล้านบาท ด้านที่ดินแปลงใหญ่ใช้โมเดลพื้นที่ย่านพหลโยธินเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาพื้นที่สถานีแม่น้ำ และกม.11 โดยจะว่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งเชี่ยวชาญด้านพัฒนาที่ดินให้ได้ภายในปีนี้

[caption id="attachment_79093" align="aligncenter" width="470"] สราวุธ เบญจกุล  ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) สราวุธ เบญจกุล
ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)[/caption]

นายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจมีข้อสั่งการให้ ร.ฟ.ท.ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้จากการบริหารทรัพย์สินและการเดินรถให้มีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มรายได้ โดยสัญญาเช่าที่ดินกว่า1 หมื่นสัญญาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ของฝ่ายบริหารทรัพย์สิน จำนวน 5,558 สัญญา และของฝ่ายการเดินรถ 8,540 สัญญา ซึ่งขณะนี้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินเร่งให้มีการต่อสัญญาที่หมดอายุภายในระยะเวลา 3 เดือนนี้ให้ได้จำนวน 990 สัญญา

สำหรับที่ดินร.ฟ.ท.แยกตามประเภทการใช้งาน แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตทาง 1.89 แสนไร่ พื้นที่ย่านสถานี(วางราง) 5,333 ไร่ พื้นที่บ้านพัก/ที่ทำการ 3,755 ไร่ และพื้นที่อื่นๆที่ไม่ใช่เดินรถ 3.6 หมื่นไร่ รวมทั้งสิ้น 2.34 แสนไร่ สำหรับพื้นที่แปลงใหญ่ ประกอบด้วย พื้นที่สถานีแม่น้ำ 260 ไร่ พื้นที่กม.11 ขนาด 359 ไร่ พื้นที่มักกะสัน 745 ไร่ พื้นที่ย่านพหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อ 2,300 ไร่ และพื้นที่ย่านรัชดาภิเษก-พระราม 9จำนวน 104 แปลง

ส่วนใหญ่ทั้ง 990 สัญญานั้นจะเป็นรายปกติคือแปลงขนาดกลางและเล็ก ไม่มีรายแปลงใหญ่ ซึ่งได้แยกออกไปชัดเจน ล่าสุดนั้นแปลงรัชดาภิเษกทั้ง 124 แปลง (72 สัญญา) ต่อสัญญาครบทั้งหมดแล้ว โดยเดิมช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้จ่ายค่าเช่าปกติ 61 สัญญา ค้างชำระ 7 สัญญา ได้เคลียร์เรียบร้อยทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้จะเริ่มทยอยไปสำรวจแปลงอื่นๆต่อไป อาทิ หัวหิน สระแก้ว อรัญประเทศ เชียงใหม่ หาดใหญ่ กาญจนบุรี ย้ำต้องนำรายงานสภาพปัญหาการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ให้บอร์ดทราบทุก 2 สัปดาห์

"เมื่อพิจารณารายได้จากการพัฒนาทรัพย์สินปัจจุบันจะพบว่าอยู่ในระดับ 2,700 ล้านบาท แต่อยากให้เพิ่มมากกว่า 3,000 ล้านบาท เมื่อมีการจัดระบบอย่างถูกต้องแล้ว โดยจะตรวจสอบแม้กระทั่งการรายงานว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะต่อนี้ไปต้องมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีระบบข้อมูลที่ชัดเจน ประการสำคัญจำนวนกว่า 2,000 สัญญานั้นจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการให้สามารถจัดเก็บได้ครบตามสัญญา"

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังมีที่ว่างเปล่าอีกจำนวนมาก สามารถนำไปหารายได้เพิ่ม โดยเฉพาะที่ดิน 3 แปลงใหญ่ คือสถานีแม่น้ำ, กม. 11 และพื้นที่ย่านพหลโยธินหรือสถานีกลางบางซื่อ แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาอัตรากำลังของบุคลากรที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และขาดความชำนาญในการหาประโยชน์จากการพัฒนาที่ดิน จึงต้องใช้ที่ปรึกษาเข้ามาช่วยในการกำหนดราคาที่ดินแต่ละแปลงอย่างเป็นธรรม เร่งสร้างความพร้อมให้กับบุคลากรของร.ฟ.ท. โดยกำหนดว่าภายในปีนี้ต้องจัดหาเอกชนที่มีความรู้ความชำนาญด้านการหาประโยชน์จากการพัฒนาที่ดินมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ร.ฟ.ท. อาทิ การทำทีโออาร์ การประมูล ซึ่งขณะนี้เริ่มดำเนินงานพัฒนาศูนย์พหลโยธิน และคาดว่าจะเป็นโมเดลนำไปใช้กับการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่อื่นๆ ที่ใช้บทบาทที่ปรึกษาเข้ามาทำหน้าที่ด้านต่างๆแต่อยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานพ.ร.บ.ร่วมลงทุน หรือพีพีพี เพื่อนำรายได้ส่วนนี้ไปชดเชยการให้บริการรถไฟที่ขาดทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน

“สำหรับแปลงที่มีมูลค่าที่ดินในระดับกลาง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะระดับพันล้านบาทจะต้องเร่งนำมาจัดหาประโยชน์ โดยช่วง 3 เดือนนี้จะได้ตัวที่ปรึกษาเข้ามาทำหน้าที่ให้กับร.ฟ.ท.ที่จะต้องไปศึกษาข้อมูลที่ดินที่ร.ฟ.ท.พร้อมศึกษารูปแบบการจัดหาประโยชน์มานำเสนอ ว่าสามารถนำไปพัฒนาได้อย่างไรบ้าง เพราะที่ปรึกษาแต่ละรายน่าจะมีฐานลูกค้าอยู่ในมือชัดเจน ประการสำคัญร.ฟ.ท.ใช้ที่ปรึกษามาเป็นจำนวนมากแต่ขาดความต่อเนื่องเท่านั้น"

“การหาประโยชน์จากที่ดินของร.ฟ.ท.โดยเร่งนำสัญญามาบริหารจัดการให้ชัดเจนภายใน 3 เดือนนี้ อีกทั้งในปีงบประมาณ 2560 ยังจะใช้เป็นเกณฑ์การประเมินการทำงานให้กับนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการร.ฟ.ท.ต่อไป นั่นคือการเพิ่มรายได้จากที่ดินเหล่านี้ภายใต้ความเป็นไปได้ในแต่ละโครงการ ซึ่งฝ่ายบริหารทรัพย์สินและฝ่ายการเดินรถจะต้องกำหนดแผนบริหารจัดการให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมจริงๆ ควรเปิดโอกาสให้อย่างเสมอภาค ในราคาที่ตรงตามราคาตลาดปัจจุบัน”

สำหรับการจัดระบบบริหารจัดการทรัพย์สินของร.ฟ.ท.ในครั้งนี้จะได้ทราบข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ได้รายได้เพิ่มขึ้น และสามารถตรวจสอบได้ การบริหารสัญญามีความสำคัญมากจะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังนั้นจึงจะต้องนำระบบไอทีทันสมัยเข้าไปกำกับแต่ละสัญญาให้สามารถเรียกตรวจสอบได้

ประการสำคัญเตรียมจะเสนอใช้ม.44 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทรัพย์สินร.ฟ.ท.เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ก่อนที่จะตั้งคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกควบคู่กันไปด้วย โดยมอบหมายให้พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง กรรมการบอร์ดและประธานอนุกรรมการทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. รับไปดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดแล้ว

ทั้งนี้ในปี 2559 สัญญาที่มีอยู่ของฝ่ายบริหารทรัพย์สิน จำนวน 5,564 สัญญารับค่าเช่าต่อปีประมาณ 2,017 ล้านบาท เมื่อปรับค่าเช่าจากการต่อสัญยารอบใหม่จะเพิ่มเป็น 2,050 ล้านบาท ในปี 2560-2562 ค่าเช่าต่อปี 2,050 ล้านบาทจะเพิ่มเป็น 2,074 ล้านบาท และปี 2563-2565 ค่าเช่าเดิม 2,074 ล้านบาทจะเพิ่มเป็น 2,100 ล้านบาท
โดยได้มีการประมาณการรายได้จากการบริหารทรัพย์สินในปีงบประมาณ2559-2568 ไว้จำนวน 2,873 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 3,287 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 5,117 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 4,242 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 3,161 ล้านบาท ปี 2564 จำนวน 3,304 ล้านบาท ปี 2565 จำนวน 3,454 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 3,612 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 3,789 ล้านบาทและปี 2569 จำนวน 3,928 ล้านบาท

สำหรับสัญญาที่จะสิ้นสุดในปี 2559 มีจำนวน 10 สัญญา สัญญาที่จะสิ้นสุดในอีก 5 ปี (ปี 2565) จำนวน 11 สัญญา สัญญาที่จะสิ้นสุดในอีก 10 ปี(ปี 2570) จำนวน 35 สัญญา และสัญญาที่จะสิ้นสุดเลย 10 ปี(หลังปี 2570) จำนวน 19 สัญญา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559