กกร.ฟันธงศก.ครึ่งหลังฟื้นชัด กำลังซื้อ-ผลิตเพิ่มแต่ห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยงจากนอกประเทศ

05 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
กกร.ตอกยํ้าภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังฟื้นตัวชัดเจน ไร้ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ กำลังซื้อและกำลังการผลิตกลับมาขยายตัว ส่งผลให้คงจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 3-3.5% แต่ยังกังวลกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัย จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ผลกระทบต่อเนื่องจากประชามติอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป และความอ่อนแอของสถาบันการเงินในอียูอาจกระทบถึงไทย

[caption id="attachment_78758" align="aligncenter" width="414"] เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เจน นำชัยศิริ
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)[/caption]

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 องค์กร(กกร.) เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของภาคส่งออกของเดือนมิถุนายนปีนี้ที่ติดลบในอัตราที่ลดลงในระดับ -0.07 % และในช่วง 6 เดือนแรกติดลบลดลงที่ -1.59 %

อีกทั้งสินค้าอุตสาหกรรมของเดือนมิถุนายน กลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ ประกอบกับปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เห็นได้จากยอดขายรถยนต์และรถยนต์จักรยานยนต์ในประเทศปรับตัวสูงขึ้น เป็นการสะท้อนให้เห็นการใช้จ่ายในประเทศปรับตัวไปในทิศทางที่ดี ประกอบกับมีการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วง 6 เดือนแรกที่ 13 %

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะเข้าสู่ช่วงการสิ้นสุดงบประมาณประจำปีและเข้าสู่งบประมาณปี 2560 จะส่งผลให้ภาครัฐมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อมาดำเนินการโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้น และกำลังเข้าสู่ช่วงการลงนามสัญญาจัดจ้าง

จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้กกร.ยังมองไม่เห็นปัจจัยเสี่ยงที่จะมาฉุดภาวะการชะลอตัวเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง จึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 3.0-3.35 % และการส่งออกที่ -2.0-0.0 % ไว้เท่าเดิมอยู่

นายเจน กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ทางกกร.ยังมีความเป็นห่วงกับปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ที่จะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การแข็งค่าของเงินบาทที่ขณะนี้อยู่ในระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่ามากสุดในรอบปี ซึ่งมองว่าเกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาในระยะสั้น เป็นปัจจัยที่ไม่ปกติที่เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทางกกร.แสดงจุดยืนที่ไม่อยากเห็นเงินบาทที่แข็งค่ามากเกินไปควรจะอ่อนค่าที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป

ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าลงมามาก จะส่งผลกระทบถึงมูลค่าการส่งออกที่ปรับตัวลดลง รวมถึงปริมาณส่งออกสินค้าอาจจะปรับตัวลดลงด้วย เนื่องจากการขอปรับขึ้นราคาสินค้าทำได้ลำบาก แม้ว่าค่าเงินในภูมิภาคนี้เกือบทุกประเทศจะแข็งค่าขึ้นก็ตาม แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะต้องเข้ามาดูแลและอาจมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการไม่ให้ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ ยังกังวลกับปัญหาสืบเนื่องจากการลงทุนประชามติอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป(อียู) ที่หลังจากนี้ไป จะต้องติดตามผลการเจรจา ซึ่งไม่ทราบว่าจะออกมาในรูปแบบใด รวมถึงปัญหาภาคธนาคารในยุโรป ที่เวลานี้สถานะไม่ค่อยแข็งแรง จาก 3 ปัจจัยนี้ จะส่งผลทางอ้อมมาถึงไทยได้

ส่วนกรณีการคำนวณจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร กับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่ไม่ตรงกัน จนทำให้เกิดการฟ้องร้องนั้น ในส่วนนี้ทางรัฐบาลได้มาตรา 44. ในการขยายระยะเวลาให้ผู้ประกอบการที่คำนวณแบบบีโอไอ ให้มาจ่ายภาษีภายในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ จากเดิมมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดในวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องมีระยะเวลาที่จะคำนวณภาษีใหม่ให้เป็นไปตามแบบของกรมสรรพากรได้ เมื่อความชัดเจนออกมาในรูปแบบนี้แล้วเชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559