แก้กฎหมายคืนอำนาจกองทุนฟื้นฟูฯ ธปท.ลั่นสร้างกลไกรับมือวิกฤติการเงินในอนาคต

06 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
ธปท.ชงคลังแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ธปท.ปี 51 มาตรา 19 คืนอำนาจกองทุนฟื้นฟูฯ รับมือวิกฤติระบบสถาบันการเงิน พร้อมสู่การประเมินภาคการเงินสากล FSAP ปี 61 ลั่นไม่ได้ส่งสัญญาณแบงก์มีปัญหา เชื่อ FIDFเหมาะสมทำหน้าที่ หลังมีประสบการณ์แก้วิกฤติต้มยำกุ้ง ชี้รูปแบบดูแลปรับเปลี่ยนตามไครซิสโลก ทั้งตั้งสถาบันการเงินแยกหนี้ดี-หนี้เสีย เน้นให้ธนาคารมีส่วนร่วมแก้ปัญหา

[caption id="attachment_79023" align="aligncenter" width="385"] ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้เสนอต่อกระทรวงคลังเพื่อเสนอแก้กฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2551 บทเฉพาะกาล มาตรา 19 ในการคืนอำนาจให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่หมดอายุลงและยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาทำหน้าที่แทน เนื่องจากหากย้อนไปดูบทเฉพาะกาล มาตรการ 19 ระบุว่า ไม่ว่ากรณีใดก็ตามที่เกิดปัญหาเชิงระบบของระบบสถาบันการเงิน จะต้องมีคนเข้าไปช่วยเหลือดูแลสภาพคล่อง หรือเข้าไปดูแลแก้ปัญหาตอนเกิดวิกฤติ ซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ เคยแก้ปัญหาดังกล่าวมาแล้วในปี 2540 ซึ่งมีกรอบกฎหมายและหลักการดำเนินงานอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาได้มีการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาการแก้กฎหมาย ซึ่งปัจจุบันแนวทางข้อสรุปที่ดีที่สุดน่าจะใช้กลไกของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นกลไกเดิม เพราะมีกรอบกฎหมายและกรอบวิธีการดำเนินงานอยู่แล้ว แต่ได้มีการปรับเงื่อนไขอยู่ 2-3 เรื่อง โดยนำบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นของระบบสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกา (Global Financial Crisis) และรูปแบบวิธีการช่วยเหลือจะมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ไม่ใช่เพียงแค่การให้กู้เข้าไปซื้อหุ้นเพียงอย่างเดียว เช่น หากเกิดปัญหาขึ้นจริงอาจจะทำเรื่อง การตั้งสถาบันการเงินเข้ามาและแยกหนี้ดีและหนี้เสียได้เร็ว (บิดแบงก์) หรือซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง หรืออย่างในสหภาพยุโรปมีความชัดเจนว่าผู้ถือหุ้นกู้ ก็ควรจะต้องรับผิดชอบภาระที่เกิดขึ้นด้วย รวมไปถึงจะต้องมีกลไกดูแลสถาบันการเงิน และระบบสถาบันการเงินที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะการแก้ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินจะต้องมีภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ภาระของภาครัฐเพียงอย่างเดียว

สาระสำคัญในการเสนอแก้กฎหมายดังกล่าว เพื่อปิดความเสี่ยงและช่องโหว่ของระบบสถาบันการเงิน ซึ่งทั้งหมดที่จะทำไม่ใช่ว่าธปท.เห็นว่าจะมีความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงินเกิดขึ้น แต่ธปท.ต้องการให้จิ๊กซอว์ต่างๆ ครบถ้วน เพื่อให้มีกลไกการดูแลเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ประกอบกับระบบสถาบันการเงินไทยมีแผนที่จะเข้าสู่การประเมินโครงการภาคการเงิน (Financial Sector Assessment Program: FSAP) เป็นการประเมินกลไกของระบบสถาบันการเงินของโลก ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งประเทศไทยได้รับการประเมินครั้งสุดท้าย 10 ปีมาแล้ว และหลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลกในปี 2551-2552 ได้มีมาตรฐานใหม่ๆ ออกมาเพิ่มขึ้น ทั้งไทยได้มีการทบทวนมาตรฐานต่างๆ และพบว่าเรื่องของ มาตรา 19 บทเฉพาะกาล ซึ่งครบกำหนดไปนาน ดังนั้น หากเกิดวิกฤติการเงินไม่เฉพาะสถาบันการเงินใดการเงินหนึ่ง จะต้องมีเครื่องมือและกลไกที่จะเข้ามาช่วยดูแลครบถ้วน ให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนกระบวนการแก้กฎหมาย เรื่องนี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งเพื่อเข้าสู่การประเมิน FSAP ที่จะเกิดขึ้นในปี 2561

ส่วนความพร้อมของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่จะมารับหน้าที่และบทบาทครั้งนี้ ธปท.เชื่อว่ากองทุนฟื้นฟูฯ มีประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญมานาน จะเห็นว่าในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินปี 2540 มีการคำนวณความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวนประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และมีการคาดการณ์ผลตอบแทนว่าจะอยู่ในสัดส่วน 40% แต่หลังจากกองทุนฟื้นฟูฯ เข้าไปทำและแก้ไขในหลากหลายรูปแบบ เช่น การเข้าไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงิน การตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) จะเห็นว่าผลตอบแทนที่ได้กลับมาสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก

สำหรับในข้อเสนอที่ว่าหากเกิดปัญหาไม่ควรจะเป็นภาระของภาครัฐอย่างเดียว ซึ่งที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้จ่ายเงินสมทบบางส่วนเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ จากกรอบเดิมที่จะเป็นภาระของภาครัฐเพียงอย่างเดียว และจะเห็นว่าบางประเทศมีการแก้ปัญหาแบบสุดโต่ง คือ ให้ระบบสถาบันการเงินดูแลกันเองไม่ให้เกิดความเสี่ยงเกิดขึ้น แต่ของธปท.จะเปิดช่องให้สถาบันการเงินมีส่วนช่วยดูแลต้นทุนหากเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการวางกลไกการดูแลให้ครบถ้วนเพื่อดูแลเตรียมการสำหรับในอนาคต เพราะปัจจุบันระบบสถาบันการเงินยังมีช่องโหว่หรือสุญญากาศอยู่ จึงต้องหากลไกที่เข้ามาช่วยปิดความเสี่ยง สอดคล้องกับการดูแลระบบเสถียรภาพสถาบันการเงินที่ว่า “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม”

“ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนเสนอแก้กฎหมาย เพื่อให้กระทรวงการคลังเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป แม้จะไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไร แต่เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการประเมินของ FSAP และเป็นการเติมเต็มเครื่องมือการดูแลระบบสถาบันการเงินให้ครบถ้วน ส่วนจะลดภาระการดูแลของภาครัฐอย่างเดียวนั้น ไม่ได้เป็นการที่จะเพิ่มขึ้นของเงินนำส่งอย่างเดียว แต่ยังมีหลายวิธี ซึ่งการเตรียมความพร้อมของกลไกเพื่อปิดสุญญากาศที่มีอยู่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559