‘เอคิว’อ่วมพิษหนี้กรุงไทย ที่ดิน 4,300 ไร่คาดไม่คุ้มมูลหนี้หมื่นล้าน

07 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
ในที่สุดผลกระทบก็ลามมาถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด(มหาชน)(บมจ.)(AQ ) หรือชื่อเดิม บมจ.กฤษดามหานคร ซึ่งมีจำนวน 14,698 ราย กรณีผิดนัดชำระหนี้ บมจ.ธนาคารกรุงไทย 1 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_79100" align="aligncenter" width="700"] ฐานะและผลดำเนินงาน บมจ.เอคิว เอสเตท ฐานะและผลดำเนินงาน บมจ.เอคิว เอสเตท[/caption]

โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ได้แขวนป้าย SP และ NP หรือพักการซื้อขาย และให้บริษัทดังกล่าวชี้แจงข้อมูล กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงานและฐานะการเงินที่ปรากฏในงบการเงิน อาจไม่แสดงค่าที่แท้จริง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้

สำหรับคำชี้แจงของ AQ สะท้อนว่าบริษัทดังกล่าวอยู่ในฐานะลำบาก โดยเฉพาะในประเด็นหลักประกันไม่คุ้มมูลหนี้ และหุ้นอาจถูกแช่แข็งยาว เพราะบริษัทดังกล่าวยังไม่ได้ส่งงบไตรมาส 1 ปี 2559

รายละเอียดคำชี้แจงตลท. มีดังนี้ นายสุทธิศักดิ์ วจีปิยนันทานนท์ กรรมการ บมจ. เอคิว เอสเตท แจ้งว่ากรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินงวดสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2558 เนื่องจากบริษัทมีความไม่แน่นอนอย่างเป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัทด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

กรณีแรกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง พิพากษาให้บริษัทฯต้องร่วมคืนเงิน 1 หมื่นล้านบาท แก่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย โดยบริษัท โกลเด้น อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด(ผู้กู้)และบริษัท เคแอนด์วีเอสอาร์เอส การ์เด้นโฮม จำกัด (บริษัทย่อยของผู้กู้) มีที่ดิน 4,323 ไร่ เป็นทรัพย์ที่ค้ำประกันการกู้ยืมกับบมจ.กรุงไทย

โดยราคาที่ดินที่เป็นหลักประกันมีราคาประเมิน 1.27 หมื่นล้านบาท และบริษัทคาดว่ามูลค่าบังคับขายของที่ดินจะมีราคา 8,924.30 ล้านบาท โดยบริษัทได้ตั้งสำรองภาระหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้นกับคดี บมจ.ธนาคารกรุงไทย 1,631.74 ล้านบาท มูลค่าของความเสียหายที่บริษัทจะต้องชดใช้จริงขึ้นอยู่กับความสามารถในการขายที่ดินหลักประกันให้ได้ราคาตามที่บริษัทประมาณการไว้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนอย่างเป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดความสงสัยอย่างมีสาระสำคัญ

กรณีที่ 2 จากการตัดสินของศาลฎีกา มีผลทำให้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่AQและบริษัทย่อยได้รับเข้าเงื่อนไขของหนี้ผิดนัดชำระตามที่กำหนดในสัญญาเงินกู้ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 เนื่องจากนายยงยุทธ ชัยพรหมประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหาร ได้ขอลาออกทำให้ AQ และบริษัทย่อยผิดเงื่อนไขเงินกู้จากสถาบันการเงิน 3 แห่ง ที่มีเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่งของกรรมการบริหาร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 มีเงินกู้ยืมที่ผิดนัดดังกล่าว 30 ล้านบาท โดยผลของการผิดนัดคือ หยุดการให้เบิกวงเงินสินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ศาลฎีกาตัดสินพิพากษาจนถึงปัจจุบัน สถาบันการเงินทุกแห่งที่ AQ และบริษัทย่อยได้รับสินเชื่อได้หยุดการให้เบิกใช้วงเงินสินเชื่อทุกประเภทชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม AQ แจ้งตลท.ว่า บริษัทยังคงประกอบธุรกิจได้ตามปกติโดยใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยโครงการปัจจุบันที่สร้างรายได้หลักให้บริษัทประกอบด้วย โครงการ Shadi –รังสิต โครงการกฤษดาแกรนด์พาร์ค -รังสิต โครงการ AQ Shadi - ชลบุรี-บายพาส โครงการรังสิตบิช พาร์ค -รังสิต และโครงการคอนโดมิเนียมการ์เดน -อโศก-พระราม 9

กรณีที่ 3 จากความไม่แน่นอนอย่างเป็นสาระสำคัญ ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างเป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่องของ AQ ซึ่งมีข้อบ่งชี้ว่าสินทรัพย์ของบริษัทอาจเกิดการด้อยค่า ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 31ธันวาคม 2558 ตามงบการเงินรวม 5,020.80 ล้านบาท จึงจ้างผู้ประเมินราคาอิสระหลายแห่งเพื่อประเมินราคาสินทรัพย์ใหม่ อย่างไรก็ตามผู้สอบบัญชีไม่สามารถสรุปผลการสอบทานในความเหมาะสมของมูลค่าโครงการได้ เช่น สิทธิการเช่าที่ดิน 81 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นรีสอร์ตที่เกาะล้าน จังหวัดชลบุรี ระยะเวลาการเช่า 27 ปี

อนึ่งก่อนหน้านี้นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า AQ ยังไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ดังกล่าวให้แก่ธนาคาร เนื่องจากลูกหนี้ยังไม่สามารถขายที่ดินจำนวน 4,300 ไร่ ที่เป็นหลักประกันได้ และทำให้ไม่มีเงินมาชำระหนี้ได้ตามกำหนดภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ดังนั้นธนาคารจึงได้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อศาลฎีกา เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์ที่เป็นหลักประกันดังกล่าว และให้อำนาจแก่ธนาคารสามารถนำมาขายทอดตลาดได้ เพื่อจะได้นำเงินที่ได้จากการขายส่วนนี้มาหักชำระคืนหนี้ของธนาคาร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559