กฎหมายใหม่บังคับใช้กลางปี60 สรรพสามิตยันอัตราภาษีใหม่ไม่สร้างภาระผู้บริโภค

07 ส.ค. 2559 | 10:00 น.
อธิบดี "สมชาย" ย้ำอัตราภาษีใหม่ต้องไม่สร้างภาระกับผู้บริโภค-ใช้ราคาขายปลีกโดยไม่รวมแวตเพื่อความเป็นธรรมทั้งผู้นำเข้าและผู้ผลิตที่ค้าขายในประเทศ ขณะที่กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตกฤษฎีกากำลังเร่งเพื่อที่จะส่งเข้า สนช.ไม่เกินเดือนก.ย.นี้ โดยจะมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า ขณะเดียวกันกรมจัดทำอนุบัญญัติ/วิธีปฏิบัติรองรับให้เป็นที่พอใจของผู้ประกอบการ

[caption id="attachment_79105" align="aligncenter" width="365"] สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต[/caption]

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงร่างแก้ไขกฎหมายภาษีสรรพสามิตว่า ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ในช่วงตรวจร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยร่างกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในกลางปีหน้า ซึ่งขั้นตอนปัจจุบันทางคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังเร่งพิจารณาคาดว่าจะเรียบร้อยภายในเดือนสิงหาคมเพื่อที่จะส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หรือไม่เกินเดือนกันยายน สาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตครั้งนี้ เพื่อที่จะให้เกิดความโปร่งใส เกิดความเป็นธรรม และเป็นสากล ซึ่งหลักใหญ่คือ การใช้ราคาขายปลีกในการคำนวณภาษีสรรพสามิต จากเดิมสินค้านำเข้าจะใช้ราคา CIF และสินค้าในประเทศจะใช้ราคาหน้าโรงงาน แต่ภายใต้กฎหมายฉบับแก้ไขนั้น การคำนวณภาษีสรรพสามิตจะใช้ราคาเดียวกัน คือ ราคาขายปลีกโดยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้นำเข้าและผู้ผลิตที่ค้าขายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เน้นย้ำในประเด็นว่าต้องไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภคจนเกินไป

"นัยความหมาย เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งจะมีช่วงเวลานี้ 180 วันหรือ 6 เดือนให้กรมสรรพสามิตต้องไปพิจารณาดูเรื่องอัตราภาษีของสินค้าแต่ละตัวเพื่อที่จะไม่เป็นภาระของประชาชน เพราะเมื่อฐานราคาขายปลีกสูงขึ้น ในส่วนของอัตราจะต้องปรับลดลงไปเพื่อที่จะให้เป็นไปตามมติครม.และมีผลบังคับใช้กลางปีหน้าและแน่นอนรายได้ภาษีจะเพิ่มขึ้นแต่ในหลักการต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่สร้างภาระผู้บริโภค"

ต่อข้อถามเรื่องการออกกฎหมายรองรับร่างกฎหมายหลักดังกล่าวนั้น อธิบดีระบุว่าขณะนี้กรมกำลังจัดทำอนุบัญญัติ (ประมวลและวิธีปฏิบัติ) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักของกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยที่ผ่านมากรมสรรพสามิตได้ร่วมกับภาคเอกชนศึกษาเกี่ยวกับอัตราภาษีและมีการจดบันทึกไว้เบื้องต้น ซึ่งจะนำมาบันทึกไว้ในอนุบัญญัติให้เป็นที่พอใจของผู้ประกอบการ นอกจากสาระเกี่ยวกับการลดขั้นตอนหรืออำนวยความสะดวกในการทำงานที่ให้สามารถง่ายขึ้นแล้ว ส่วนแนวโน้มการจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้นอย่างไรภายใต้กฎหมายฉบับใหม่นั้น ในทางปฏิบัติการจัดเก็บรายได้ภาษีของกรมสรรพสามิตจะขึ้นอยู่กับการบริโภคโดยปัจจุบันกรมมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณ 20%

สำหรับเป้าหมายการจัดเก็บภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณปีงบประมาณ 2560นั้นกำหนดรายได้จัดเก็บไว้ที่ 5.2 แสนล้านบาท โดยที่เป้าหมายของปีงบประมาณ 2559 นี้อยู่ที่ 4.56 แสนล้านบาทที่เหลืออีก 3 เดือนคาดว่ากรมจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มประมาณ 2-2.5 หมื่นล้านบาทซึ่งมาจากพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน เครื่องดื่ม ส่วนภาษีรถยนต์น่าจะทรงตัวหรือใกล้เคียงปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตยังมุ่งเน้นดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเรื่องสุรา เหล้า บุหรี่โดยเฉพาะไวน์ชุมชนซึ่งผลิตสุราออกมาไม่เป็นมาตรฐานซึ่งเป็นอันตรายของผู้บริโภคนั้น โดยกรมสรรพสามิตได้สนองนโยบายรัฐบาลและสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ปราบปรามหน่วยงานในพื้นที่/ใกล้เคียง โดยจับกุมในรอบ 9 เดือนมูลค่าของกลางประมาณ 150 ล้านบาท

สำหรับสินค้าที่จับกุมได้มี 2 ประเภทคือ สินค้าที่ลักลอบเข้ามาตามแนวบริเวณชายแดน กับสินค้าผลิตภายในประเทศโดยไม่ผ่านกระบวนการถูกต้องตามกฎหมาย โดยทั้ง 2 ส่วนเราได้เน้นย้ำโดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตร่วมงานกับหน่วยงานข้างเคียง และการกำกับดูแลป้องกันปราบปรามเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ในการผลิตสุราให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนสินค้านำเข้าตามแนวชายแดนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานข้างเคียงไม่ว่ากรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ ตามตามชายแดน ซึ่งทำให้การป้องกันปรามปรามสำเร็จได้ผลด้วยดี

อนึ่ง ผลจัดเก็บรายได้ช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558-มิถุนายน 2559) กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 3.92 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.76 หมื่นล้านบาทเศษ หรือ 4.7% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 18.2%) โดยภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,091 ล้านบาท หรือ 8.7% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 23.6%) เนื่องจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์เฉลี่ยต่อคันเพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,755 ล้านบาท หรือ 9.3% (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 8.8%) และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,902 ล้านบาท หรือ 3.9% (สูงกว่า ช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 41.3%) เนื่องจากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซินจากลิตรละ 4.95 และ 5.60 บาท เป็นลิตรละ 5.35 และ 6.0 บาท ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559