‘สมคิด’บี้แผนพัฒนาหารายได้ เล็งตามแนวไฮสปีดเทรน-มอเตอร์เวย์/ปลุกเอกชนร่วมลงทุน

05 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
“สมคิด” ไล่บี้แผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแนวเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม ทั้ง 3 มอเตอร์เวย์และ 4 ไฮสปีดเทรน ยํ้าชัดนำพื้นที่ส่วนราชการมาพัฒนาก่อนเพื่อสร้างแรงจูงใจเอกชน ยกโมเดลจุดพักรถของญี่ปุ่นมาพัฒนาบนเส้นทางมอเตอร์เวย์ พร้อมสั่งสนข.เน้นโชว์ความทันสมัยลบภาพเดิมของสถานีให้บริการในปัจจุบัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมการใช้พื้นที่ตามแนวเขตทางตามโครงการรถไฟความเร็วสูงของกระทรวงคมนาคมว่า ได้สั่งการให้เร่งจัดทำรายงานการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีของโครงการรถไฟความเร็วสูงจำนวน 4 เส้นทางได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา , กรุงเทพฯ-หัวหิน - ,กรุงเทพฯ- ระยอง และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ รวมถึงได้เร่งรัดหาข้อสรุปของผลตอบแทนทางการเงินเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีแก่เอกชนโดยให้เวลาภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสรุปรายละเอียดเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้เนื้อหารายงานทั้งหมดจะต้องมีการสรุปพื้นที่ที่จะใช้ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในเบื้องต้น รวมถึงตัวเลขรายได้และผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพื่อนำมาร่างเป็นเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง(TOR) ให้ภาคเอกชน โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทางมีความคืบหน้าไปมาก และได้สั่งการให้เน้นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนพื้นที่หน่วยราชการก่อนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคประชาชน และจะชักชวนภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมลงทุนในการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางของทั้ง 4 โครงการ อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ศึกษาการพัฒนาจุดพักรถมอเตอร์เวย์ให้ตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนที่เดินทาง โดยให้ใช้รูปแบบโมเดลจุดพักรถของประเทศญี่ปุ่นมาดำเนินการที่เน้นความทันสมัย ภาพลักษณ์ใหม่ดึงดูดใจด้านการบริการ โดยอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าจะกลับมารับฟังรายงานอีกครั้ง

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าพื้นที่นำร่องดำเนินการพัฒนาเชิงพาณิชย์ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ ก่อนจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ในส่วนแผนงานการพัฒนาสถานี เบื้องต้นจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน 4 – 5 สถานีหลักเช่น ลาดกระบัง ศรีราชา พัทยา และระยอง เป็นต้น ส่วนเส้นทางต่อไปที่จะพัฒนาได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยจะพัฒนาในพื้นที่ สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน อยู่ระหว่างการเสนอให้คณะกรรมการ PPP คาดว่าจะสามารถใช้มาตรา 44 เร่งรัดให้สามารถพิจารณาได้พร้อมเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า เบื้องต้นได้จัดงานประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการให้เอกชนร่วมลงทุนและบริหารจัดการสถานีบริการทางหลวง(Service Area) บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ช่วงชลบุรี-พัทยา และช่วงพัทยา-มาบตาพุด) ก่อนที่จะทยอยดำเนินการในอีก 2 เส้นทางคือบางปะอิน-นครราชสีมาและบางใหญ่-กาญจนบุรีต่อเนื่องกันไป ทั้งนี้ได้คาดการณ์มูลค่าการลงทุนไว้ทั้ง 3 เส้นทางประมาณ 1,000 ล้านบาท

"เมื่อประเมินความสนใจนักลงทุนแล้วเสร็จ จะเห็นความชัดเจนว่าจะเปิดโอกาสให้เอกชนรายเดียวหรือหลายรายเข้ามาแข่งประมูลรับบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยจะเร่งสรุปให้แล้วเสร็จในปลายปีนี้เพื่อเสนอสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณารายละเอียดแล้วจึงนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) เห็นชอบ และนำเสนอ ครม.อนุมัติในปี 2560 โดยจะแบ่งการพัฒนาพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับ คือ สถานที่พักริมทางหลวง (Rest Area) สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) และศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) "

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559