โค้งท้ายประชามติ7ส.ค.คึกคัก เหนือ-อีสานเปิดเวทีระดมความเห็น

04 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
โค้งสุดท้ายก่อนถึงวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ(รธน.)ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ พลพรรคต่างๆทยอยระบุความเห็นส่วนตัว"ไม่รับ"ร่างรธน.ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ฟากสนับสนุนร่าง รธน.ก็ออกมาประกาศ "รับ" ร่างรธน. โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) รวมถึง ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี "ตัวแปร" สำคัญที่จะชี้ชะตาอนาคตของร่างรธน.ฉบับนี้ คือ ภาคประชาชน น่าสนใจว่าจากผลสำรวจของ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้าโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจครั้งที่ 10 เกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ระบุว่า มีประชาชนกว่า 59% ที่ยังไม่ตัดสินใจ

[caption id="attachment_78657" align="aligncenter" width="500"] ร่วมประชามติ ร่วมประชามติ[/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" ประมวลความพร้อมและความเคลื่อนไหวต่างๆในห้วงเวลานี้ พบว่า ในหลายพื้นที่เป็นไปอย่างคึกคัก ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชน ดังเช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดย พล.ต.โกศล ประทุมชาติ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นประธานจัดกิจกรรม"ชุมชนสัมพันธ์รอบค่ายกาวิละ และการอบรมชี้แจงเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ" เพื่อให้ความรู้ในสาระสำคัญของร่างรธน.แก่ข้าราชการในหน่วยงานของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรในพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นใน 2 พื้นที่ คือ จังหวัดพิษณุโลก และเชียงใหม่ โดยมี นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นวิทยากร

ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า วันที่ 2 สิงหาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้จัดเวทีเพื่อให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรธน.และประเด็นเพิ่มเติม จากนั้นในวันที่ 4 สิงหาคม จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ถึงช่วงประตูท่าแพ ตั้งเป้าให้มีผู้มาใช้สิทธิ 80 %

ขณะที่นายเกรียงไกร พานดอกไม้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2550 จังหวัดเชียงใหม่มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 70 % ปัจจุบันมีผู้มีสิทธิออกเสียงเพิ่มขึ้นจากเดิมรวมกว่า 1.29 ล้านคน และตั้งเป้ามีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ 80% ซึ่งทาง กกต.ประจำจังหวัดได้จัดหน่วยไว้เพิ่มขึ้นจากเดิม 2,626 หน่วย เป็น 2,645 หน่วย ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เชื่อมั่นว่า จะบริหารจัดการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำพูนได้จัดกิจกรรมสนับสนุนและสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริตภาคประชาชนในกิจกรรม “ประชามติ - ลำพูนโปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน” โดยนายวิทยาอาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน พร้อมด้วยนายณรงค์ อ่อนสอาดผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นำหัวหน้าส่วนราชการ เครือข่าย ป.ป.ช.ภาคประชาสังคมจังหวัดลำพูน สภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรชุมชนและประชาชนเข้าร่วมงาน

ขณะที่ในจังหวัดอุดรธานีเป็นไปอย่างคึกคักเช่นกัน โดยเปิดเวทีเพื่อให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ซึ่งมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ อาทิ นายปราโมทย์ ธัญพืช ปลัดจังหวัดอุดรธานี ในฐานะตัวแทนของครู ก. นายธระชัย แสนแก้ว ตัวแทนฝ่ายการเมือง อดีต สส.จังหวัดอุดรธานี ดร.ประจญ กิ่งมิ่งแฮ ตัวแทนนักวิชาการ ดร.สุทธิชัย หล่อตระกูล อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นางฉายา ตยางคนนท์ ประธานสภาอุสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนจากภาคเอกชนร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559