หุ้นไทยไต่ระดับ1,600จุด จับตา 4 ปัจจัยบวกให้นํ้าหนักประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

02 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
ขุนคลังมั่นใจสถานการณ์เงินทุนต่างชาติไหลเข้าไทยพุ่ง เหตุมั่นใจเศรษฐกิจไทยดาวเด่นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เชื่อแบงก์ชาติสกัดเงินร้อนเอาอยู่ ขณะที่เงินบาทแข็งโป๊กในรอบ 4 เดือน หลังบีโอเจไม่มีมาตรการคิวอีเพิ่มฟากนักวิเคราะห์-ผู้จัดการกองทุน จับตา 4 ปัจจัย ดันหุ้นทะยาน 1,600 จุด ให้นํ้าหนักผลประชามติ 7 สิงหาคม เตือนตลาดมีโอกาสปรับฐานจากความคาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและความเสี่ยงทางการเมือง

ตลาดทุนไทยถูกยกให้เป็นหนึ่งดาวเด่นในเอเชีย โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่สะท้อนจากกระแสเงินต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าส่วนใหญ่เป็นเงินร้อน หรือเงินเก็งกำไรระยะสั้น ที่ไหลเข้ามาลงทุนต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังเบร็กซิท ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผย ตั้งแต่ต้นปี 2559-ปัจจุบัน (สิ้นสุด 28 มิ.ย.) นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสะสมแล้วถึง 8 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับตลาดพันธบัตร สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ระบุว่าครึ่งปีแรกเงินต่างชาติไหลเข้ากว่า 1 แสนล้านบาท

บาทแข็งโป๊ก รอบ 4 เดือน

ผลจากเงินไหลเข้าต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าจนหลุดระดับ 35 บาท โดยเฉพาะหลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 28 กรกฏาคม ที่ผ่านมา ตามด้วยอีกเหตุการณ์ที่นักลงทุนทั่วโลกลุ้นระทึก คือ การประชุมของธนาคารกลางญีปุ่น (บีโอเจ) เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคมที่ผ่านมา

นักค้าเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่าวันที่ 29 กรกฏาคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากเปิดตลาดที่ 34.84-34.86 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับดังกล่าวแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือน โดยปัจจัยหลักมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง และธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังไม่มีมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือมาตรการคิวอี(QE) เพิ่มเติม โดยจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินเยนและค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

 ขุนคลังชี้เงินไหลเข้าสะท้อนศก.แกร่ง

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าในช่วงนี้ ว่า การที่มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงถึงสถานะความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยขณะเดียวกันหากประเมินจากฐานะการคลังของประเทศแล้วยังถือว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง เงินคงคลังอยู่ระดับสูง สามารถรองรับความผันผวนได้อย่างดี ซึ่งต่างชาติเองก็มองถึงเศรษฐกิจไทยว่าเป็นกลุ่มบลูชิพ หรือดาวเด่นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่

ขณะที่มั่นใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะสามารถดูแลสภาวะเงินทุนไหลเข้าซึ่งอาจเกิดในระยะสั้นซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเห็นถึงมาตรการดูแลคือ ธปท. ได้ออกพันธบัตรขึ้นมาดูดซับเงินทุนไหลเข้าถือว่ายังไม่มีความน่ากลัว อย่างไรก็ดีหากเปรียบเทียบแล้วลองมองต่างมุมการที่มีเงินทุนไหลเข้ายิ่งเยอะมากเท่าไหร่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่มีเงินทุนไหลออกเรียกว่ามีเงินเข้ากระเป๋าดีกว่ามีเงินออกจากกระเป๋าและยิ่งเยอะเท่าไหร่ นั่นยิ่งหมายถึงว่าเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากเท่านั้นโดยเฉพาะการที่มีเงินทุนไหลเข้าสามารถออกมาตรการดูแลง่ายกว่าการที่ไทยต้องตกอยู่ในภาวะเงินทุนไหลออก
อย่างไรก็ดี การที่มีเงินทุนไหลเข้าอาจมีผลต่อต้นทุนการเงินบ้าง แต่คนที่ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มธรกิจรายใหญ่มากกว่า

มูดี้ส์คงเครดิต-การเมืองเสี่ยง

ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)ได้รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s)หรือมูดี้ส์ว่าเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 Moody’s ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ระดับ Baa1 โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) พร้อมทั้งยืนยันเพดานความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ A2 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1 พร้อมทั้งยืนยันเพดานเงินฝากธนาคารสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ Baa1 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1

โดยมูดี้ส์วิเคราะห์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน จากปัจจัยหลักการลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ขณะที่ความซบเซาของความต้องการสินค้าในตลาดโลก และความอ่อนแอของการลงทุนภาคเอกชน ยังเป็นปัจจัยส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งไทยยังเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนในผลการแสดงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ทั้งนี้มูดี้ส คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี2559,2560จะขยายตัวที่ 2.8% และ 3% ตามลำดับจากปัจจัยหนุนการลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากภาคบริการ วัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

จับตา 4 ปัจจัย ลุ้นมติ 7ส.ค.

ด้านทิศทางตลาดหุ้นไทย จากการสำรวจนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และผู้จัดการกองทุน มองว่าในระยะสั้นนี้มี 4 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตามและอาจทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ( SET ) ปรับตัวขึ้นไปที่ 1,600 จุด ดังนี้ 1. สภาพคล่องที่ไหลจากตลาดพันธบัตรเข้ามาในตลาดหุ้น ผลจาก 20 % ของธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ 2. กำไรบริษัทจดทะเบียนไทย(บจ.)ไตรมาส 2 /2559 ที่จะประกาศออกมา ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 3. ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ และ 4. ราคาน้ำมันโลก

โดย 3 ปัจจัยแรก ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์(บล.)ธนชาต จำกัด(มหาชน)คาดว่าหากเป็นไปตามนั้น จะทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 1,600 จุด

อย่างไรก็ตามนายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานมากขึ้น เนื่องจากตลาดมีความคาดหวังสูงต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลัง

ส่วนการประชุมธนาคารกลางอังกฤษในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ นักวิเคราะห์เกือบทั้งหมดคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษจะประกาศลดดอกเบี้ยลง ความคาดหวังที่สูงต่อมาตรการดังกล่าวทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานเมื่อมีการประกาศนโยบายออกมาจริง

นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ เช่น การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญของไทยในวันที่ 7 สิงหาคม และการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของอิตาลีในเดือนตุลาคม ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการล้มรัฐบาลและเกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง

ส่วนอีกปัจจัยที่จะมีผลต่อหุ้น คือราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลงตามปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐอเมริกาที่แนวโน้มกลับมาเพิ่มขึ้นหลังราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์รวมถึงอุปสงค์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามผลของฤดูกาลในช่วงไตรมาส 3 การปรับฐานของราคาน้ำมันรอบใหม่อาจส่งผลกดดันต่อการคาดการณ์ผลกำไรในกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นหลายๆ ตลาด

 แนะขายหุ้นลดเสี่ยงถือเงินสด

นายคมศร คาดว่าตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐานในระยะสั้นเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาและแนะนำให้นักลงทุนขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงบางส่วนและถือเงินสดรอลงทุนรอบใหม่ โดยยังคงแนะนำให้นักลงทุนกลับมาทยอยลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นเมื่อตลาดปรับฐาน เนื่องจากราคาที่ยังคงไม่แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว และค่าเงินเยนที่น่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปี หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีเริ่มใกล้เข้ามา ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำไรจากการส่งออกสินค้าของบริษัทในญี่ปุ่น

มองหุ้นไทยดีสุดในเอเซีย

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)ธนชาต จำกัด กล่าวว่า บรรยากาศของหุ้นไทยที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากกระแสเงินลงทุนต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ โดยมียอดซื้อขายสุทธิตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมากกว่า 8 หมื่นล้านบาทแล้ว ส่งผลให้ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยสูงเกือบ 18%ซึ่งพบว่าตลาดหุ้นไทยมีโมเมนตั้มดีที่สุดในเอเชีย

ส่วนความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้หลังมีการส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับขึ้นนั้น คาดว่าตลาดยังคงไม่เชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหรือบอนด์ยีลด์ ยังปรับตัวลดลงอยู่ ขณะที่ปัจจุบันหุ้นไทยไม่ถูกและไม่แพง โดยมีอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พี/อี เรโช)อยู่ที่ 16 เท่า โดยหุ้นบางตัวอาจแพงเกินไป

สำหรับบลจ.ธนชาต วางกลยุทธ์เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่เป็นหลัก เพราะคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติและการลงทุนจากภาครัฐ โดยให้น้ำหนักในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งก็สามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเป้าที่วางไว้

"เชื่อว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง และการใช้จ่ายภาครัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในช่วงนี้อาจเน้นลงทุนใน กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอาหาร กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มขนส่ง มากขึ้น " นายบุญชัยกล่าว

"บีโอเจ"ดันเงินวิ่งเข้าไทย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่าการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่ระดับเดิมถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ส่วนใหญ่คาดการณ์อยู่แล้ว โดยหลังจากนี้ต้องติดตามว่าบีโอเจจะนำเงินออกมาซื้อสินทรัพย์ประเภทใดเพิ่มมากขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะจากเดิมดอกเบี้ยของญี่ปุ่นก็ติดลบ,ากพออยู่แล้ว ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะมีมากนัก โดยที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมีการขายหุ้นเป็นส่วนใหญ่ และเพิ่มเริ่มกลับเข้ามาในช่วงนี้ ดังนั้น ในความคิดเห็นส่วนตัวจึงมองว่าการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือคิวอี ไม่ได้มีผลต่อตลาดหุ้น แต่อาจจะมีผลต่อตลาดพันธบัตรมากกว่า

"หากประเทศญี่ปุ่นมีสภาพคล่องที่ล้นเกิน อาจจะส่งผลทำให้มีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรของไทยเพิ่มมากขึ้นได้ เพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า"นายไพบูลย์กล่าว

HSBCมองเงินบาทแตะสิ้นปี35บาท

นางสาวนลินฉัตรโชติธรรมนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารเอชเอสบีซีประเทศไทย (HSBC)กล่าวว่าคาดการดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีปี2559และปี2560จะมีสัดส่วนเป็น9.6% และ7.8%ตามลำดับ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าโดย HSBCคาดว่าในไตรมาส2-3 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะอยู่ระดับ35.30 บาท และแข็งค่าเป็น35 บาทภายในสิ้นปีนี้ก่อนแตะ 34.40 บาท ในสิ้นปี 2560

"แม้ภาครัฐจะพยายามเร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยคาดการเบิกจ่ายงบประมาณด้านนี้ในปีงบประมาณ 2560 จะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้รับอนุมัติแล้ว 12 โครงการจาก 20 โครงการลงทุนเร่งด่วนซึ่งมีมูลค่าประมาณ 510,000ล้านบาท (คิดเป็น 3.4% ของจีดีพี) แต่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงเริ่มต้นน่าจะเป็นการก่อสร้างโดยส่วนใหญ่ ดังนั้นการนำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักรจึงน่ายังอยู่ระดับต่ำ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลที่ยังอยู่ระดับสูงจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนค่าเงินบาท"

ฟันธงกนง.คงดอกเบี้ย 3 ส.ค.

ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่จะถึงในวันที่ 3สิงหาคม 2559 นักเศรษฐศาสตร์และสำนักวิจัยส่วนใหญ่คาดการณ์กนง.ยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี และศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองสอดคล้องกันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต่อเนื่อง จากการบริโภค-ท่องเที่ยวดีขึ้นต่อเนื่อง มาตรการด้านการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า, เรื่องของ เบร็กซิท และความกังวลต่อสถานการณ์ธนาคารในอิตาลี

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559