7องค์กรรัฐ-เอกชนดันโอท็อปผงาดโลก

03 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
“บิ๊กตู่” ดันสุดตัวสินค้าโอท็อปโกอินเตอร์ เร่งขนสินค้าติดดาวขึ้นเครื่องบินหวังช็อปผ่านสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลก ประเดิมเซ็นเอ็มโอยูกับ 7 หน่วยงานหลัก การบินไทย คิงเพาเวอร์ ทอท. ททท. ฯลฯ รวมพลังใช้เครือข่ายช่วยโปรโมตสินค้าในวงกว้าง ด้านบิ๊กทุนขอแจมเต็มที่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยเบฟ เซ็นทรัล โลตัส พร้อมหนุน ทั้งดึงบีโอไอ จูงใจ ตั้งโรงงานแปรรูปสินค้า-ท่องเที่ยวชุมชน เว้นภาษี 5 ปี

[caption id="attachment_77129" align="aligncenter" width="700"] นโยบายยกระดับสินค้าโอท็อปโกอินเตอร์ นโยบายยกระดับสินค้าโอท็อปโกอินเตอร์[/caption]

สืบเนื่องจาก กรมการพัฒนาชุมชนได้ พัฒนามาตรฐานสินค้าโอท็อปมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดรัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนยกระดับสินค้าโอท็อปทั้งระบบจากต้นทาง กลางทางและปลายทางสู่โอท็อปประชารัฐ เพื่อช่วยขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านคุณภาพสินค้า เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก สร้างความแข็งแรงในภาคครัวเรือนและช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากในภาพรวมเติบโตในอนาคตนั้น

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้กรมยกระดับสินค้าโอท็อป เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติและกระจายส่งออกไปทั่วโลกมากขึ้น ประกอบด้วย 1. ยกระดับสินค้าโอท็อปขึ้นเครื่องบิน 2. การสร้างแบรนด์สินค้าโอท็อป ให้เป็นที่รู้จัก ล่าสุดวันที่ 3 สิงหาคม 2559 นี้ กรมจะเซ็น MOU หรือ บันทึกความเข้าใจเบื้องต้น ร่วมกับพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.) บริษัท คิงเพาเวอร์กรุ๊ปฯ ดิวตี้ฟรี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงพาณิชย์ บริษัทไทยมอลล์ จำกัด รวม 7 ราย บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ เพื่อร่วมมือกันนำสินค้าโอท็อปที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมและ เป็นสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและติดดาวขึ้นเครื่องบินของการบินไทยเพื่อจำหน่ายให้กับชาวต่างชาติ บนเครื่องบิน ที่มีมากถึง 7.5 หมื่นที่นั่งต่อวันบินทั่วโลก

บินไทยช่วยชาวบ้าน128 สินค้า

ซึ่งนำเสนอสินค้าผ่านมาการบินไทยได้คัดเลือกสินค้าโอท็อปที่กรมเสนอไป จำนวน 128 รายการ จากทั้งหมด 500 รายการ เพื่อจำหน่วยบนเครื่องบิน และอีก 8รายการ ที่การบินไทยซื้อเพื่อแจกให้กับผู้โดยสาร บนเครื่องบิน และ จะเพิ่มปริมาณสินค้าขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้การบินไทยเลือก โดยมีบริษัทไทยมอลล์ฯ เป็นตัวแทนของการบินไทยเป็นผู้รับสินค้า โดยกรมได้จัดทำคู่มือแนะนำสินค้า 8 หมื่นเล่มและ หนังสั้นเพื่อให้ผู้โดยสารทำความเข้าใจประวัติและเรื่องราวของสินค้า ซึ่งเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศออกสู่สายตาชาวโลกอีกด้วยโดยกรมได้อำนวยความสะดวกด้วยการจัดทำแค็ตตาล็อกสินค้าที่ได้รับคัดเลือกแล้ว จำนวน 8 หมื่นเล่มแจกให้กับผู้โดยสาร ซึ่งสินค้าที่ต่างชาติสนใจจะเป็นสินค้าสะท้อนศิลปวัฒนธรรม เช่น ศิลปะบนไข่นกกระจอกเทศ ผ้าไทย หัวโขน เนกไท กระเป๋าฯลฯเนื่องจากเป็นเอกลักษณ์และไม่ซ้ำแบบใคร

นอกจากนี้ ผู้โดยสารสามารถสั่งสินค้าโอท็อปทางเว็บไซต์ รูปแบบอี-คอมเมิร์ซ สามารถสั่งของและรับสินค้าได้ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ และหากไม่สามารถซื้อบนเครื่องบินได้ สามารถ ซื้อได้ยังภาคพื้นดิน ซึ่งจะมีศาลาไทยของคิงเพาเวอร์ ที่รับซื้อสินค้าโดยตรงจากชาวบ้าน และจัดสินค้าโชว์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยในราคาสินค้าจะเท่ากับที่จำหน่ายบนเครื่องบิน ทั้งนี้ กรมมีเงื่อนไขให้บวกเพิ่ม ได้ไม่เกิน 30 % โดยบวก ภาษีมูลค่าเพิ่ม บวกค่าประกันความเสียหาย จากที่ชาวบ้านตั้งราคาขาย

ปั้นแบรนด์คลัสเตอร์สร้างจุดแข็ง

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมอบให้สร้างแบรนด์สินค้าโอท็อป เพื่อเป็นจุดแข็งของประเทศ โดยนายกฯให้ความสำคัญของกระเป๋าและให้จัดทำเป็นคลัสเตอร์กระเป๋า โดยมอบ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ ช่วยเพิ่มทักษะพัฒนาการสร้างแบรนด์เพิ่มมูลค่ากระเป๋าดังกล่าวให้ ซึ่งจังหวัดที่เด่นๆเรื่องสินค้ากระเป๋าจะมี ที่ นนทบุรี พะเยา พัทลุง สงขลา อาทิ ออกแบบกระเป๋ามโนรา เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจทั่วประเทศ 76 จังหวัด มีกลุ่มทำกระเป๋ากว่า 2,000 กลุ่ม โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า สาเหตุที่เลือกกระเป๋าเนื่องจากสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและนิยมซื้อกระเป๋า แม้แต่ผู้ชายก็มักเลือกซื้อกระเป๋าฝากคนในครอบครัว โดยเฉพาะชาวต่างชาติ

ขณะเดียวกัน กรมจะเพิ่มแบรนด์คลัสเตอร์สินค้าเพิ่ม คือ อาหารไทย ๆ แบบพื้นบ้าน และ ผ้าไทย คือผ้าไหม ในอนาคตอีกด้วย เนื่องจาก ที่ผ่านมามีโครงการพระราชดำริที่เด่นชัดขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำแบรนด์สินค้าของตนเองเพิ่มขึ้น และสามารถพัฒนาไปสู่เอสเอ็มอีได้ ขณะเดียวกัน จะต้องสร้างเทรดเดอร์ หรือ นักขายมืออาชีพ กระจายทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่รับสินค้าจากชุมชนเข้ามา รวมไว้ที่เดียว โดยกรมจะทำหน้าที่ เป็นเป็นตัวกลางและพัฒนาสินค้า

หมอเสริฐ-ไทยเบฟ-เซ็นทรัลแจม

จากนโยบายนำสินค้าโอท็อปขึ้นเครื่องบินล่าสุด สายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส โดยน.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้ติดต่อเซ็นสัญญากับกรม เพื่อขอรับสินค้าโอท็อปขึ้นเครื่อง และขอซื้อสินค้าจากจังหวัดตราด สุโขทัย เกาะสมุย มาลงที่สนามบินทั้ง 3 แห่ง และให้กรมช่วยพัฒนาอาชีพสร้างชุมชนรอบสนามบินเกาะสมุยในรูปแบบซีเอสอาร์ นอกจากนี้ ไทยเบฟ ที่เชื่อมโยงมาจาก บริษัทประชารัฐกับกรม ได้ติดต่อซื้อกาแฟถ้ำสิงห์ที่จังหวัดชุมพรจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่าง เซ็น MOU สินค้าจากกรมเช่นเดียวกัน ซึ่งไทยเบฟเองก็มีบิ๊กซีที่เป็นช่องทางจำหน่าย

ส่วนกลุ่มเซ็นทรัลจะเน้นสินค้าเกรดบนขึ้นไปเน้นขายต่างชาติซึ่งจะเซ็นสัญญาเช่นเดียวกันและเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมากรมได้เซ็นสัญญากับห้างโลตัส เพื่อซื้อกระเช้าสินค้าปีใหม่ จำนวน 1.2 หมื่นกระเช้า ซึ่งขณะนี้ กรมได้มอบจังหวัดที่มีจุดแข็ง 2 พื้นที่ได้แก่ อำเภอพุแค จังหวัดลพบุรี จำนวน 8,000 ราย และ กาญจนบุรีจำนวน 4,000-5,000 ราย ซึ่งได้มอบให้เทรดเดอร์ที่จังหวัดคัดเลือกเป็นผู้รวบรวมสินค้า ให้กับโลตัส เหมือนบริษัท ไทยแลนด์มอลล์ฯที่รวมสินค้าให้กับการบินไทย

เออีซี -กัมพูชา-จีน-เคนยาสน

นอกจากนี้ยังเน้นสร้างเทรดเดอร์ ที่เชียงใหม่และเชียงรายที่จะนำสินค้าเจาะตลาดจีน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างขออย.ที่จีน เพื่อจะนำมาแสดงต่อสินค้าโอท็อปไทยเพื่อส่งไปยังจีน ขณะเดียวกัน ประเทศเคนยา ยังสนใจให้ไทยส่งสินค้าโอท็อปไปยังประเทศของเขา จำนวนมาก อาทิ ไม้กวาดพันปี จากประเทศไทยขาย 300 บาท เคนยาขาย 1,000 บาทต่อชิ้น ซึ่งเหมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเคนยาเป็นประตูสู่ประเทศในแถบแอฟริกา ซึ่งจะเป็นผลให้สินค้าไทยกระจายไปสู้ย่านดังกล่าวรวมทั้งยูเอ็น อีกทั้งกัมพูชา มาเลเซีย ซึ่งได้ติดต่อโอท็อปไทยไปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ที่ผ่านกรมได้มอบผู้ว่าราชการจังหวัดแนวชายแดน จัดงานโอท็อบ2แผ่นดิน ทุกปีซึ่งได้รับการตอบรับจากประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งกรมเรียกว่าโอท็อปอินเตอร์

จับมือ บีโอไอยกเว้นภาษีสูงสุด5ปี

อธิบดีกล่าวต่อว่า นโยบายที่จะผลักดันให้สินค้าโอท็อปเติบโตอย่างยั่งยืน โดยได้เน้นการสร้างผู้ประกอบการตั้งศูนย์สินค้าโอท็อป จะได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 3ปี ส่วน โรงงานแปรรูปสินค้าและ ท่องเที่ยวเชิง ชุมชนได้รับยกเว้นภาษี 5ปี ซึ่งล่าสุด กรมได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ในกรณีดังกล่าวแล้วแต่มีเงื่อนไขต้องยื่นขอไม่เกินเดือนธันวาคม 2559

กระตุ้นด้วยภาษีช็อปช่วยชาติ

ขณะเดียวกัน ยังมีการกระตุ้น การจับจ่ายสินค้าโอท็อปช็อปช่วยชาติกรณี ซื้อสินค้า1.5หมื่นบาท ได้รับลดหย่อนภาษี ระหว่าง 1-31 สิงหาคม อีกทั้ง ยัง จัดงานแสดงสินค้าศูนย์ศิลปาชีพที่เมืองทองธานี 2,500 ร้านค้า 6หมื่นตารางเมตรที่เมืองทองธานี วันที่ 12-20 สิงหาคมนี้ คาดว่าจะมียอดเงินสะพัดทั้งเดือนสิงหาคม 1 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากการขาย โอท็อปในปั๊ม ปตท. ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ดีกรมมีหน้าที่ ยกระดับมาตรฐานสินค้า ให้มีคุณภาพพร้อมขาย พัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นเทรดเดอร์นักขายมืออาชีพ และประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะทำครบวงจร ซึ่งที่ผ่านมาได้ พัฒนาสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าว รัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะช่วงมีปัญหาเศรษฐกิจซึ่งปัจจุบันมี 8 หมื่นผลิตภัณฑ์ แต่ ขึ้นทะเบียน ติดดาวเพียง 10,000 กว่าผลิตภัณฑ์ และอยู่ระหว่างช่วยเหลืออีก 7 หมื่นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นนโยบายของพล.อ.อนุพงษ์เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1)ว่าจะยกระดับให้เป็นสินค้าติดดาวอย่างไรหรือ ระดับ 1 ดาวจะเป็น 4-5 ดาวอย่างไร เป็นต้น และคาดว่าปี 2559 จะมียอดขายโอท็อป 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม –ปัจจุบันมียอดรวม 9 หมื่นล้านบาท ส่วนปี2558 มียอดขาย 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ประชาชน สามารถมีงานทำ ยกระดับฝีมือ และ ช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากแข็งแรง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559