‘อุ๋ย’ห่วงชาวนา-สวนยางถูกลืม แนะใส่เงินตรงกระตุ้นกำลังซื้อ

02 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
หม่อมอุ๋ย!ห่วงชาวนา-สวนยาง 12-13 ล้านคนตกขบวนความช่วยเหลือเสนอรัฐบาลใส่เงินตรงถึงมือหวังเพิ่มกำลังซื้อหนุนเศรษฐกิจคล่องตัว “ทีดีอาร์ไอ” ชี้ราคาสินค้าเกษตรตกตํ่า รัฐควรออกมาตรการกระตุ้น ห่วงครึ่งปีหลังบริโภคหดตัว จับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ย“ดอลลาร์แข็ง” ส่วน “ยูโร-ปอนด์”อ่อนค่ารอสรุปทางออกอังกฤษและอียูหลังเบร็กซิท

[caption id="attachment_77073" align="aligncenter" width="434"] ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี[/caption]

ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในงานดินเนอร์ทอล์กซึ่งจัดโดยสมาคมเช่าซื้อไทย ว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่ถูกกระทบจากการปรับลดลงของราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงส่งผลฉุดแรงซื้อ/กำลังซื้อให้ลดลง ซึ่งเห็นได้จากการค้าโลกที่ปรับลดลง ส่งผลต่อภาคการส่งออกทั่วโลกรวมถึงภูมิภาคเอเชียและไทย ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ แม้ปัจจุบันตอบไม่ได้ว่าราคาสินทรัพย์ที่ปรับลดต่ำสุดหรือยัง ซึ่งบางคนก็บอกยัง แต่บ้างคนก็บอกว่าราคาบางพืชผลราคาลดลงต่ำสุดแล้ว ดังนั้นเมื่อโลกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งที่จะทำได้แน่นอนคือการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐเพื่อให้เกิดการจ้างงานและทำให้คนมีรายได้เพิ่มเพื่อจะมาช่วยจับจ่ายใช้สอย แต่การลงทุนภาครัฐยังมีกระบวนการทำให้ล่าช้าแม้ว่าความตั้งใจของรัฐบาลจะมีสูงก็ตาม ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยได้ขณะนี้คือต้องทำให้แต่ละเซ็กเตอร์มีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย

"เวลานี้กลุ่มที่น่าสงสารที่สุดคือ กลุ่มที่รายได้ลดลง เนื่องจากราคาสินค้าที่เขาผลิตปรับลดลงซึ่งในสายตาของผมคือชาวนาปลูกข้าวและชาวสวนยาง ซึ่ง2กลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 12-13ล้านคน(ชาวนา 3.6ล้านครอบครัวกว่า 10ล้านคน ส่วนชาวสวนยาง8.5แสนครอบครัว)คนเหล่านี้รายได้ลดลงมหาศาล นับตั้งแต่ปี2557ถึงปัจจุบัน ราคาที่เป็นอยู่ยังเป็นราคาขาดทุน ทำให้กลุ่มนี้ไม่มีกำไรที่จะใช้จ่ายแม้กระทั่งซื้อมอเตอร์ไซด์"

ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวเพิ่มเติมว่าแนวทางเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงนั้นต้องทำให้คนเหล่านี้มีรายได้สูงขึ้น แม้จะมีทฤษฎี 108 แต่สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายคือ Negative Income Tax ในความหมายของตนคือ การใส่เงินช่วยเหลือในเซ็กเตอร์ที่อ่อนแรงที่สุดคือ ชาวนาและชาวสวนยางโดยใส่เงินเข้าบัญชีโดยตรง ซึ่งนอกจากเป็นแนวทางที่ไม่มีพวกกระสือโรงสีหรือนักการเมืองมาเกาะหลังกินแล้ว ยังเป็นการประทังที่ดีที่สุด เพราะคน 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ของคนในประเทศหากคนเหล่านี้ได้รับการดูแลเศรษฐกิจไทยจะคล่องตัวมากกว่านี้

สำหรับนโยบายตะโกนให้เอกชนลงทุนนั้น ในโลกเศรษฐกิจเสรีเอกชนจะขับเคลื่อนระบบ โดยรัฐปูพื้นให้เดิน เพราะการลงทุนของภาคเอกชนนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับคำสั่งซื้อสินค้า(ออร์เดอร์) ขณะที่การค้าโลกลดลงจึงไม่มีใครขยายสต๊อกหรือลงทุนใหม่ ถ้าลงทุนก็จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ไปหมด โดยส่วนตัวจึงมองนโยบายด้านการลงทุนของเอกชนนั้นสูญไปเลย

" เท่าที่ได้พูดคุยนักลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เข้ามาในไทย ส่วนใหญ่รู้ว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวไม่ได้เพียงยืนระยะให้อยู่ อย่าบุ่มบ่าม ยังพอทนได้ คือยังพอมีกำไรแต่จะหวังทำกำไรมากมายไม่ได้ ขณะที่การจดตั้งเขตเศรษฐกิจนั้นขยายไปมากแล้วใน CLMV ซึ่งค่าแรงไทยรอบนอกจะถูก จึงใช้ฐานเมืองไทยผลิตสินค้าราคาแพงหรือมีเทคโนโลยีสูงขึ้น ดังนั้นไทยจึงมีความหวังแต่ต้องปรับตัวใหม่ อย่าประมาท"

อดีตรองนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก่อนที่ราคาน้ำมันจะปรับลดในปี 2557 นั้น ปริมาณยอดการส่งออกของไทยเริ่มลดลงมาแล้วตั้งแต่ปี 2555 จากนั้นภาคส่งออกยังสะท้อนการหดตัวและติดลบอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะสินค้าส่งออกจากไทยหลายตัวมีต้นทุนที่แพงสู้เวียดนามหรือเขมรไม่ได้ อีกทั้งขาดเทคโนโลยี ดังนั้นหากภาคส่งออกไทยยังไม่ทำอะไรเลยก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์มากนักจากการที่ตลาดโลกจะฟื้นกลับมาอีกครั้ง

นอกจากต้องปรับตัวแล้ว ขณะเดียวกันตลาดเกิดใหม่ที่ยังมีศักยภาพจะต้องกระตุ้นให้ขยายลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและนำสินค้าส่งออกข้ามไปยังประเทศอื่น ซึ่งปัจจุบันในเวียดนามมีการเข้าไปลงทุนประมาณ 80 บริษัท หรือในสปป.ลาวเริ่มมีบริษัทเล็กๆเข้าไปกว่า 200แห่งและกัมพูชาหรือเมียนมาต่างก็เริ่มกันแล้วทั้งธุรกิจรายใหญ่และเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการออกกฎหมาย International Trading Companyเพื่อจูงใจให้บริษัทเอกชนต่างประเทศและในประเทศจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) ตอนนี้มีบริษัทเข้ามาแล้ว 90แห่งโดยญี่ปุ่นยังคงใช้ไทยเป็นฐานแม้จะย้ายไปประเทศข้างเคียงบ้างแล้ว

สอดรับกับ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ(ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่าขณะที่เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างช้าๆ(ประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ปรับลดลงเหลือ 2.4%จากต้นปีคาดว่าจะเติบโตได้ 2.9%) ภาครัฐต้องหาทางหาเครื่องมือประคองให้อยู่ได้ รวมถึงการลงทุนภาครัฐหรือออกมาตรการกระตุ้นหรือช่วยเหลือภาคบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ก็ดีขอตั้งข้อสังเกตว่า ครึ่งปีหลังที่ยังไม่เห็นมาตรการใหม่อาจทำให้การขยายตัวของการบริโภคปรับลดบ้างโดยรวมทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 2% ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าการลงทุนภาครัฐซึ่งเติบโตไปแล้ว 13.6% เป็นสิ่งที่ช่วยได้กระตุ้นภาคการบริโภคแต่การลงทุนภาครัฐมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งหวังว่าภาคการท่องเที่ยวจะขยายตัวเติบโตได้15%โดยครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าที่ผ่านมากรณีไม่เกิดเหตุการณ์เหนือความคาดหมายเช่นปีที่แล้ว ขณะที่ภาคส่งออกมูลค่ายังคงติดลบ 3%แต่เชิงปริมาณติดลบ 2.5% ทั้งนี้ความไม่แน่นอนของตลาดโลกทั้งดีมานด์และการปรับตัวของผู้ส่งออกไทยเองด้วย

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทีดีอาร์ไอกล่าวอีกว่า หลังผลประชามติอังกฤษออกจากสภาพยุโรป (Brexit) นักลงทุนบางส่วนยังไม่มั่นใจ ส่วนหนึ่งที่โยกเงินออกไปก่อนหน้าเริ่มโยกเงินกลับเข้ามาสู่เมืองไทย เห็นได้จากตลาดหุ้นไทยที่ปรับเพิ่มเพราะมีเงินไหลเข้าและแนวโน้มเทรนนี้จะมีต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2559 ขณะที่ค่าเงินนั้นจะเห็นปอนด์อ่อนค่าไปแล้วกว่า 10% และยูโรอ่อนค่าลง 2.5% ซึ่งสะท้อนผลจากมีเงินไหลออกจาก 2 ตลาดนี้ซึ่งทั้ง 2 สกุลเงินยังอ่อนค่าจนกว่าจะมีความแน่นอนหรือข้อสรุปจากอังกฤษและอียู โดยในส่วนของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นค่าเงินบาทอยู่ในระดับกลางๆ แต่ขีดความสามารถด้านการแข่งขันของอัตราแลกเปลี่ยนยังไม่เปลี่ยนไปมากนัก สำหรับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ(เฟด)ยังเป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์จับตา เพราะสหรัฐให้น้ำหนักกับปัจจัยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจรอบด้าน อย่างไรก็ตามเรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมันนั้นมองไประยะ 2 ปีข้างหน้าจะไม่ปรับขึ้นเกิน 60 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยที่ราคาอ้อยในตลาดโลกไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า ส่วนราคาข้าวและยางยังคงทรงๆอยู่ระดับปัจจุบัน

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559