‘ซีทีเอช’ แจงต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ยุติส่งสัญญาณผ่านไทยคม

01 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ไม่เห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการยุติการให้บริการของบริษัท ซีทีเอช เคเบิลทีวี จำกัด ผู้ให้บริการผ่านช่องสัญญาณดาวเทียมไทยคม ระบบ Ku-Band ตามที่ซีทีเอชเสนอ เนื่องจากมาตรการเยียวยาดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม ล่าสุดกสท.ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดำเนินการให้ซีทีเอช เสนอแผนเยียวยาผู้บริโภคเพิ่มเติมให้ครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันหรือภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

ต่อเรื่องดังกล่าวนายอมฤต ศุขะวณิช รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทได้ส่งทีมงานและแผนเยียวยาให้กสท.แล้วแต่แผนเยียวยาที่กสท.ต้องการให้ซีทีเอชแก้ไขนอกจากเรื่องกล่องรับสัญญาณแล้ว ยังต้องการให้ซีทีเอชกลับไปเช่าสัญญาณไทยคมเช่นเดิม ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นไปไม่ได้เพราะสาเหตุที่ต้องยุติการเช่าสัญญาณของไทยคมมาจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงเกินกว่าที่บริษัทจะแบกรับภาระไหว

"การที่กสทช.เสนอให้ซีทีเอชกลับไปเช่าสัญญาณไทยคมเช่นเดิม บริษัทต้องขอยืนยันว่าไม่สามารถทำได้เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทมีปัญหาด้านสถานะทางการเงิน และการเช่าสัญญาณไทยคมมีต้นทุนค่าใช้ที่สูง ดังนั้นการให้เยียวยาโดยใช้วิธีดังกล่าวจึงเป็นไปไม่ได้"

ส่วนการเยียวยาสมาชิกในด้านอื่นๆ เช่น การให้สมาชิกใช้กล่องเพื่อรับชมช่องฟรีต่อไป หรือเลือกคืนกล่องแล้วชดเชยด้วยการคืนเงิน บริษัทต้องขอพิจารณาเป็นรายกรณีไปเนื่องจากใช้กล่องของสมาชิกปัจจุบันมีความแตกต่างกัน นอกจากนี้บริษัทยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากเนื่องจากบริษัทต้องขอกลับไปทบทวนและพิจารณาองค์กรให้รอบคอบก่อนที่จะออกมาเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งหลังจากพิจารณาถี่ถ้วนแล้วบริษัทจะออกมาชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งอย่างเป็นทางการ

ด้าน ผศ.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ คณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กรณีของซีทีเอช จะต้องมีการประชุมคณะอนุกรรมการอีกครั้ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาที่ประชุมกสท.ไม่เห็นด้วยกับแผนเยียวยาที่เคยนำเสนอ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค ซึ่งแผนการเยียวยาของซีทีเอชที่ระบุไว้คือให้ผู้บริโภคใช้กล่องซีทีเอชต่อไปได้ ซึ่งไม่ค่อยเป็นธรรมกับผู้บริโภคมากนัก โดยส่วนตัวมองว่าซีทีเอชควรทำแผนเยียวยาหรือชดเชยให้กับผู้บริโภคมากกว่านี้

ส่วนกรณีที่กสทช. มีหนังสือแจ้งไปยัง บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด หรือช่อง 3 HD บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด หรือช่อง 7 HD และบริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด หรือช่องWorkpoint TV ให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เนื่องจาก มีการออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการและสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น

ล่าสุดนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับหนังสือเตือนจากทางกสทช.ซึ่งในเบื้องต้นอาจจะต้องเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจกับกสทช.ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากข้อมูลการวัดเวลาโฆษณาของกสทช.กับบริษัทอาจจะใช้รูปแบบวิธีต่างกันซึ่งอาจจะทำให้ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนได้

"สำหรับคำเตือนของกสทช.ที่ออกมาระบุว่าช่อง 3 HD มีโฆษณาเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ข้อมูลดังกล่าวอาจจะมีความคลาดเคลื่อนโดยรูปแบบการวัดที่ต่างกัน ซึ่งเบื้องต้นบริษัทจะขอเข้าไปชี้แจงกับกสท.อีกครั้ง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559