3ปีเปลี่ยนผ่าน‘เกษตรอินทรีย์’ บังคับตีตราติดโลโกยกระดับสินค้า

02 ส.ค. 2559 | 06:00 น.
ปี 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีแผนเร่งขับเคลื่อนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 6 นโยบายสำคัญ รวมทั้งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อควบคุมการแสดงฉลากและการใช้ชื่อ "อินทรีย์" บนสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จากนโยบายดังกล่าว "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ "นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน" เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานหลักที่จะขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ.เรื่องการแสดงฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ (มาตรฐานบังคับ)ถึงภาพรวมเกษตรอินทรีย์ไทย และความคืบหน้าเรื่องมาตรฐานบังคับที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

[caption id="attachment_77065" align="aligncenter" width="374"] ดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดุจเดือน ศศะนาวิน
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ หรือ มกอช. ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[/caption]

เหตุผลต้องออกกฎหมาย

นางสาว“ดุจเดือน" กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมีความสนใจในเรื่องของคุณภาพสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีคำถามมากมายที่แสดงถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์จริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จะต้องบังคับแสดงฉลาก เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกและซื้อหาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ได้อย่างถูกต้อง โดยสังเกตจากตรารับรองเกษตรอินทรีย์ ที่ มกอช.รับรอง

"ปัจจุบันจะเห็นว่าตลาดเกษตรอินทรีย์ขยายตัว แต่มีผู้ผลิตบางรายที่ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์จริง แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความสับสนและความไม่เชื่อถือต่อเกษตรอินทรีย์โดยรวม นอกจากนี้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่มีโอกาสที่จะได้พบปะโดยตรงกับเกษตรกร หรือมีโอกาสในการสอบถามถึงขั้นตอนการผลิตได้ ดังนั้นการรับรองมาตรฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้บริโภค"

อีกด้านสำหรับผู้ประกอบการที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ผลิตจำเป็นต้องได้รับการตรวจรับรองจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับก่อน เพราะประเทศผู้นำเข้าบางประเทศมีกฎหมายหรือมีระเบียบควบคุมการใช้ฉลากเกษตรอินทรีย์บนผลิตภัณฑ์ เช่น สหภาพยุโรป(อียู) ได้ออกกฎหมายบังคับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้น

"ที่ผ่านมาไทยไม่มีกฎระเบียบบังคับ ทำให้มีสินค้าเกษตรที่ติดฉลาก "อินทรีย์" โดยไม่ได้มาตรฐานและไม่ผ่านการรับรองจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ ไม่มีความเชื่อมั่นต่อสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย"

ให้เวลาเปลี่ยนผ่าน 3 ปี

ปัจจุบันไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานแล้วประมาณ 1.5 แสนไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 9 หมื่นไร่ พืชผัก 3,000 ไร่ ไม้ผล 5,000 ไร่ และอื่นๆ อีกกว่า 5 หมื่นไร่ เช่น พืชไร่ พืชสมุนไพร และพืชอื่นๆ รวมทั้งสัตว์น้ำและปศุสัตว์อินทรีย์ ขณะที่ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 5 หมื่นตันตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท การจัดจำหน่ายในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้า และตลาดซื้อขายโดยตรงจากเกษตรกร

"สัญลักษณ์มาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ ของไทย จะเป็นตราของ มกอช. หรือจะเป็นมาตรฐานของต่างประเทศก็ได้ ซึ่งฉลากพวกนี้จะสังเกตง่ายจะมีคำว่า ออร์แกนิก แต่สินค้าส่วนใหญ่ในตลาดจะไม่ติดฉลากแต่เขียนคำว่าอินทรีย์ ดังนั้นต่อไปหากมีมาตรฐานบังคับ ผู้ที่ติดฉลากอินทรีย์ไม่ว่าจะมาจากต่างประเทศหรือจำหน่ายในประเทศจะต้องได้รับมาตรฐานจริง ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะถือว่าเป็นการให้ความรู้และคุ้มครองผู้บริโภค"

สำหรับการยกร่างติดฉลากบังคับในครั้งนี้จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 3 ปี เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้มีระยะเวลาปรับตัว ระหว่างนี้แม้จะไม่ได้ติดฉลากบังคับ ทางกระทรวงจะออกมาแนะนำและให้ความรู้กับผู้บริโภค ปัจจุบันจะเห็นว่า ทาง มกอช. จะแนะนำอยู่ประมาณ 3-4 มาตราที่เชื่อถือได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ เช่น ตรามาตรฐาน Organic Thailand หรือตราประเทศที่เป็นที่นิยม เช่น ตรามาตรฐาน USDA Organic ระบบตรามาตรฐานของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท.เป็นหน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์เอกชน ส่วนใหญ่จะรับรองเรื่องข้าว เป็นต้น

"ส่วนหน่วยงานเครือข่ายไทย PGS เกษตรอินทรีย์+ ( "เกษตรอินทรีย์พลัส") ประกอบด้วยร้านเลม่อนฟาร์ม, เครือข่ายเมล็ดพันธุ์เกษตรอินทรีย์ กรีนเนท,โครงการกาแฟอินทรีย์รักษาป่า กรีนเนท เอสอี, เครือข่ายวนเกษตร, สหกรณ์กรีนเนท และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ซึ่งรวมกันแล้วมีเกษตรกรที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์ PGS เกือบ 150 ครอบครัวใน 6 จังหวัดของภาคเหนือ กลาง และอีสาน ที่มีการรับรองโดยระบบชมชุนรับรองนั้น ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยหารือกันหลายรอบ ในหลักการเบื้องต้นก็จะให้ PGS ว่าเป็นขอบเขตมีกระบวนการที่น่าเชื่อถือคือมีระบบกระบวนการในการรับรองตนเอง อาทิ GPS จากชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศประเทศไทย เป็นต้น ไม่ใช่ใครจะมารับรองกันเอง"

เปิดเวทีก่อนบังคับจริง

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.เรื่องการแสดงฉลากสินค้าเกษตรอินทรีย์ (มาตรฐานบังคับ)ทาง มกอช. จะจัดเวทีอภิปรายสำหรับผู้มีส่วนได้เสีย 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 9-10 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต และครั้งที่ 2 วันที่ 23-24 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการแสดงฉลากและการกล่าวอ้างสินค้าเกษตรอินทรีย์ (มาตรฐานบังคับ) เพื่อนำไปปรับปรุงให้ร่างมาตรฐานมีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายก่อนนำร่างมาตรฐานดำเนินการตามขั้นตอนของ มกอช.เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

"หลังจากได้ข้อสรุปจะนำข้อคิดเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธานเพื่อพิจารณาอนุมัติ และเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป หลังประกาศใช้แล้วจะมีระยะผ่อนปรนให้ 3 ปี ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการปรับตัว ใครไม่ใช่เกษตรอินทรีย์แท้จริงจะต้องถอดฉลากออกจากผลิตภัณฑ์ ไม่งั้นจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559