กกพ.เปิดรับซื้อไฟอีกพันMW เงินลงทุนสะพัด 6 หมื่นล้าน

03 ส.ค. 2559 | 11:00 น.
กกพ.เร่งเดินหน้ารับซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนครึ่งหลังปีนี้ กำลังการผลิตรวม 1 พันเมกะวัตต์ เม็ดเงินลงทุน 6 หมื่นล้านบาท เตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนขยะชุมชน 130 เมกะวัตต์ยังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นคาดออกประกาศต้นเดือนกันยายนนี้ จากนั้นเตรียมเปิดรับซื้อโซลาร์ราชการและสหกรณ์อีก 519 เมกะวัตต์

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.จะทยอยออกประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วงครึ่งหลังปีนี้เพิ่มขึ้น คิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2561-2562 และจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนประมาณ 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ หรือคิดรวม 6 หมื่นล้านบาท

โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม จำนวน 50 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างออกร่างระเบียบประมวลหลักการปฏิบัติงาน ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจการไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ เพื่อกำหนดมาตรฐานในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีและเป็นระบบ เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน จะช่วยลดปัญหาการต่อต้านและคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าจากประชาชนในพื้นที่และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ส่วนโรงไฟฟ้าที่มีขนาด 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เช่นเดิม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆนี้ จากนั้นจะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

ขณะที่การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จำนวน 130 เมกะวัตต์ ล่าสุดอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นคาดว่าจะออกประกาศได้ภายในต้นเดือนกันยายนนี้

สำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม) หน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรส่วนที่เหลืออีก 519 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโซลาร์ฟาร์มราชการ 119 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 400 เมกะวัตต์ กกพ.จะเร่งออกประกาศรับซื้อภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ขณะที่โซลาร์ฟาร์มราชการที่จับสลากไปแล้วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จำนวน 281 เมกะวัตต์ ปัจจุบันผู้ประกอบการอยู่ระหว่างทยอยทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(พีพีเอ) ซึ่งกำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์(ซีโอดี)ในเดือนธันวาคมนี้

นายวีระพล กล่าวอีกว่า ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ Feed-in Tariff (FiT) ระยะที่ 1 ประเภทชีวมวล ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี) จำนวน 36 เมกะวัตต์ พบว่ามีผู้สนใจยื่นประมาณ 593 เมกะวัตต์ ซึ่ง กกพ.จะใช้วิธีการคัดเลือกแบบแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) หลังจากนั้นเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ทั่วประเทศ อีก 400 เมกะวัตต์ ภายในไตรมาส 3 ปีนี้

"การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทาง กกพ. ก็ทยอยเปิดรับซื้อต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะรับซื้อเพิ่มขึ้นทั้งจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม ขยะชุมชน โซลาร์ราชการและสหกรณฯส่วนที่เหลืออีก 519 เมกะวัตต์ และจะดูพื้นที่สายส่งไฟฟ้า ว่างเท่าไร เพื่อเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลและก๊าซชีวภาพเพิ่มเติม คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งพลังงานทดแทนที่จะเปิดรับซื้อดังกล่าวจะทยอยเข้าระบบปี 2561-2562 และจะทำให้เกิดเป็นเงินลงทุนตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับโครงการจำหน่ายไฟฟ้ารถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ล่าสุดทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เริ่มจัดทำมาตรการการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดย กกพ. ทำหน้าที่ดูแลค่าไฟฟ้า และหากผู้ประกอบการรายใดต้องการจำหน่ายไฟฟ้าสำหรับรถยนต์อีวี จะต้องมาขอใบอนุญาตจาก กกพ.ก่อน

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559