เศรษฐกิจครึ่งปีหลังไร้ปัจจัยลบ สศอ.ฟันธงภาคผลิตอุตฯโตต่อเนื่องดันจีดีพีขยายตัว 2.5%

02 ส.ค. 2559 | 05:00 น.
สศอ.ชี้ภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังสดใส ไร้ปัจจัยฉุดการฟื้นตัว หลังเห็นสัญญาณดีต่อเนื่องจาก 6 เดือนแรก ภาคการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง คาดทั้งปีอัตราใช้กำลังผลิตจะเข้าสู่ภาวะปกติที่ 70% ดึงจีดีพีภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้ 1.5-2.5% เผย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญรถยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็กและอาหาร ล้วนมีกำลังผลิตเพิ่ม

[caption id="attachment_77058" align="aligncenter" width="345"] วีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ  รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) วีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.)[/caption]

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจครึ่งปีหลังว่า จากการสะท้อนของภาคการผลิตอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาพบว่า มีสัญญาการฟื้นตัวค่อนข้างดี เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนและการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหดตัวลดลงจากช่วงไตรมาสแรกติดลบอยู่ที่ 12 % และไตรมาส 2 ติดลบอยู่ที่ 8.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงผู้ประกอบการเริ่มมีความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจที่จะสั่งสินค้ามาผลิตและลงทุนในเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ ก็หดตัวลดลง จากเดือนเมษายน ติดลบที่ 8.2% พฤษภาคม ติดลบ 5.2 % และมิถุนายนติดลบ 1.3% จึงส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ปรับตัวอยู่ที่ 66.6% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั้งปี 2558 อยู่ที่ 65.8 % โดยส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือเอ็มพีไอในช่วงครึ่งปีขยายตัวอยู่ที่ระดับ 0.2% ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงไตรมาสแรกติดลบที่ 1% และช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นบวกที่ 1.5%

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางสศอ.จึงมีความมั่นใจในช่วงครึ่งปีหลังจากนี้ไป ตัวเลขเอ็มพีไอจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และคาดว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ระดับ 1-2 % จากปีก่อนขยายตัวเพียง 0.34 % เท่านั้น และดาดว่าจะทำให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตขึ้นมาอยู่ในระดับ 70 % ที่ถือเป็นระดับปกติได้ โดยจะส่งผลให้การขยายตัวหรือจีดีพีภาคอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 2.5-3.5 % ได้ จากที่ปีก่อนขายตัวไม่ถึง 1%

นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การที่สศอ.ประเมินแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นนั้น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่เห็นปัจจัยลบที่จะมาเป็นแรงกดดันให้เศรษฐกิจชะลอตัว ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเกิดผล อีกทั้ง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการภาครัฐต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้น และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐก็เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเห็นได้จากอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา การผลิตเพิ่มขึ้นถึง 2.6 % จากการบริโภคและจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 25.81 % ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นตาม สะท้อนได้จากยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นถึง 18.49%

อย่างไรก็ตาม จะปัจจัยที่ยังเป็นห่วง คงจะมีเพียงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่เป็นผลจากการลงประชามติของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป อาจจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะไปซ้ำเติมกับการส่งออกของประเทศที่มีปัญหาอยู่แล้ว เท่านั้น ซึ่งหากทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เข้ามาดูแลในส่วนนี้ได้ดี ก็จะส่งผลกระทบมากนัก

ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่คาดว่าทั้งปีจะผลิตได้ที่ 2 ล้านคัน เพิ่มจากปีก่อน 4.59 % เป็นการผลิตจำหน่ายในประเทศ 9 แสนคัน เพิ่มขึ้น 12.55 % ผลิตเพื่อส่งออก 1.1 ล้านคัน ลดลง 8.71 % อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.79 % โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.87 % มาจากการขยายตัวของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.29 % อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กล้า คาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น 3.8-5.7 % มาอยู่ที่ระดับ 17.3-17.6 ล้านตัน อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.05 % ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ สอดคล้องกับการจำหน่ายภายในประเทศที่ขยายตัว และอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและส่งออกจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 0-5 % และ 0-3 % ตามลำดับ

ทั้งภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว สอดรับกับดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำรวจโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ที่คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 99.8% เพิ่มขึ้นจากเมื่อพฤษภาคม ที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559