ยอดใช้ปูนไม่โตตามคาด ราคานํ้ามันตกตํ่าฉุดรายได้เอสซีจีทรุด

03 ส.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีแรกว่าจะฟื้นตัวหรือจะขยายตัวดีขึ้นหรือไม่นั้น อาจจะสะท้อนได้จากยอดความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ว่ามีการขยายตัวมากน้อยเพียงใด จากปกติที่มีความต้องการใช้อยู่ราว 40 ล้านตันต่อปี ซึ่งจากการแถลงผลประกอบการไตรมาส 2 ของเอสซีจี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ยักษ์ใหญ่ธุรกิจปูนซีเมนต์ของประเทศ มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ 40 % ด้วยยอดขายในประเทศที่ 16 ล้านตันต่อปี ได้สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอีกแง่มุมหนึ่ง

ครึ่งปียอดใช้ปูนยังซบเซา

โดยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สภาวะตลาดของธุรกิจปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างของประเทศยังคงซบเซา กระทบต่อการเติบโตของปริมาณการขาย เนื่องจากความต้องการใช้ขยายตัวเพียง 1 % อีกทั้ง มีการแข่งขันกันสูง รายได้ของธุรกิจดังกล่าวนี้ในช่วงครึ่งปีปรับตัวลดลง 4 % มาอยู่ที่ 8.88 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรลดลง 11 % มาอยู่ที่ 5,766 ล้านบาท เป็นการส่งสัญญาณว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัวที่ชัดเจน

ทั้งนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ มีการขยายตัวเฉพาะในส่วนโครงการของภาครัฐที่เติบโตกว่า 10 % แต่ในส่วนของภาคเอกชนการ เช่น ภาคอยู่อาศัย ภาคพาณิชย์กรรม ที่มีสัดส่วนการใช้รวมกันถึง 70 % โครงการก่อสร้างยังชะลอตัวอยู่ ส่งผลให้การใช้ปูนซีเมนต์ในภาคดังกล่าวนี้ยังคงหดตัวอยู่ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะลงทุนก่อสร้างโครงการใหม่ๆได้

ทั้งปีขยายตัวแค่ 1%

แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาจจะยังทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก หรือทั้งปีขยายตัวเพียง 1 % จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นปีว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ 3-5 % จากปีก่อนที่ไม่มีการขยายตัวเลย ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ขยายตัวได้นั้น จะมาจากโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่โครงการจากภาคเอกชนนั้น คงจะมีน้อย เพราะกำลังซื้อลดลง จากผลกระทบของภัยแล้งช่วงทีผ่านมาทำให้รายได้ลดลง

ทั้งนี้ ด้วยกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ของเอสซีจีที่มีอยู่ประมาณ 23 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้กำลังการผลิตล้นเกินความต้องการของประเทศ และด้วยสภาพการแข่งขันที่สูง ทำให้เอสซีจียังต้องพึ่งการส่งออกไปประเทศเพื่อบ้านแทน ที่ปีนี้คาดว่าจะอยู่ประมาณ 4.5 ล้านตัน แม้ว่าจะเอสซีจีมีโรงงานปูนซีเมนต์อยู่ในบางประเทศๆ แล้วก็ตาม เช่น กัมพูชา และอินโดนีเซีย แต่ตลาดในประเทศต่างๆ ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์สูงอยู่ เนื่องจากมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา อุตสาหกรรมการก่อสร้างยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่อินโดนีเซีย ที่การขยายโครงก่อสร้างสาธารณูปโภคของภาครัฐ รวมถึงเวียดนาม มีความต้องการวัสดุก่อสร้าง ที่มาจากการก่อสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น อยู่อาศัย โรงงาน ตามการปรับตัวเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก หรือแม้แต่เมียนมา ก็เร่งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น

ราคาน้ำมันต่ำฉุดรายได้เคมิคัล

นอกจากนี้ จากผลกระทบของปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ที่ไม่ขยายตัวตามที่คาดการณ์ไว้ และด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังตกต่ำ ส่งผลมาถึงธุรกิจเคมิคัล ของเอสซีจี ที่ได้รับผลจากราคาเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงตามราคาแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี ส่งผลให้มีรายได้ในช่วงครึ่งปีลดลง 4 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 9.73 หมื่นล้านบาท แต่ถ้ามองในผลกำไรปรับตัวดีขึ้นถึง 43 % มาอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง ทำให้ส่วนต่างของวัตถุดิบกับผลิตภัณฑ์ยังอยู่สูงกว่า 700 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ที่ถือว่าเป็นระดับที่ยังดีอยู่

ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่ารายได้จะกลับมาเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากต้องรอดูราคาน้ำมันว่าจะเป็นอย่างไร แต่คาดว่าผลประกอบการในธุรกิจนี้ น่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากจะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน 40 วัน ซึ่งจะทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไป

แต่อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนี้ จะยังเป็นช่วงขาขึ้นไปอีก 2-3 ปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว และการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ยังสูงอยู่ ประกอบกับยังไม่มีกำลังการผลิตใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดมากนัก ส่งผลให้ตลาดยังตรึงตัว เป็นผลดีต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังในภูมิภาคนี้ แต่มีหลายฝ่ายกังวลว่า หากผ่านพ้นช่วงขาขึ้นไปแล้ว จะทำให้ธุรกิจเคมิคัล ของเอสซีจี ซึ่งสร้างรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด ปรับตัวลดลงไปมาก และจะทำให้รายได้รวมของเอสซีจีปรับตัวลดลงตาม จากช่วงครึ่งปีแรกรายได้อยู่ 2.188 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2 % มีกำไร 2.95 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 18 %

วางแผนชดเชยรายได้หาย

นายรุ่งโรจน์ สะท้อนว่า ดังนั้นในภาพรวมรายได้ของเอสซีจี คงไม่น่าจะเป็นห่วง เพราะจะมีรายได้จากโรงงานปูนซีเมนต์ที่ได้เข้าไปลงทุนในเพื่อนบ้านไว้แล้วเข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็น ที่เมียนมา จะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และที่สปป.ลาว ในช่วงต้นปี 2560 จากปัจจุบันที่เปิดเดินเครื่องในกัมพูชา และอินโดนีเซียไปแล้ว มีกำลังการผลิตรวมกันราว 6.5 ลานตันต่อปี รวมถึงอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการในเวียดนาม

อีกทั้ง จากการที่เอสซีจีได้ตั้งงบสำหรับการวิจัยและพัฒนาหรืออาร์แอนด์ดี สำหรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มหรือเอชวีเอไว้ปีละ 1 % ของรายได้รวม ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกนี้ใช้งบในส่วนนี้ไปแล้ว 2,378 ล้านบาท จากกว่า 4 พันล้านบาท จะทำให้เอสซีจีมีรายได้จากส่วนต่างๆ ที่กล่าวมานี้เข้ามาทดแทนรายได้ธุรกิจเคมีคัลที่หายไปได้

นอกจากนี้ ยังมองว่า ธุรกิจแพ็กเกจจิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ ยังมีธุรกิจที่มีอนาคตสดใส เนื่องจากยังเป็นที่ต้องการของตลาด สะท้อนได้จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีรายได้เพิ่มขึ้นมา 10 % มาอยู่ที่ 3.76 หม่นล้านบาท มีกำไร 2,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38 % เมื่อเทียบกับช่วยเดียวกันของปีก่อน

อีกทั้ง เอสซีจี จะมีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจต่างๆ หรือการลงทุนในโครงการใหม่ อย่างธุรกิจปิโตรเคมี ตามนโยบายเร่งรัดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่ขณะนี้กำลังศึกษาความเป็นไปได้อยู่ รวมถึงการยังไม่ยกเลิกการลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ที่เวียดนาม มูลค่าการลงทุนราว 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรร่วมทุนอยู่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ โดยแผนการลงทุนในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ไป อยู่ระหว่างการจัดทำแผนใหม่ ก็น่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ เพื่อนำเสนอบอร์ดพิจารณา ในขณะที่ปีนี้จะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งปีนี้ใช้ไปแล้ว 1.9 หมื่นล้านบาทซึ่งสูงกว่าปีก่อนอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น จากการดำเนินงานดังกล่าว น่าจะช่วยให้เอสซีจีมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะในปีนี้ที่คาดว่าทั้งกลุ่มจะเติบโตไม่เกิน 5 % จากปีก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559