อุตสาหกรรมโลจิสติกส์กับเทรนด์การรักษาผู้ป่วยยุคใหม่

03 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
ผู้บริโภคในยุคศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปเป็น Empowered Consumers มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สังเกตง่ายๆ คือลูกค้ามักจะไม่ค่อยเชื่อโฆษณา แต่จะหาข้อมูลด้วยตนเองและเชื่อคำบอกเล่าแบบปากต่อปากจากเพื่อนหรือครอบครัวมากกว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากแพทย์ด้วยเช่นกัน คนไข้เหล่านี้มักคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และเปิดรับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอด รวมทั้งชอบมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก กลุ่มคนไข้ที่เป็น Empowered Consumers เหล่านี้มักต้องการตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้นว่าจะตนควรได้รับการรักษาที่ไหน เมื่อใด และอย่างไร

[caption id="attachment_77153" align="aligncenter" width="700"] โลจิสติกส์กับเทรนด์การรักษาผู้ป่วย โลจิสติกส์กับเทรนด์การรักษาผู้ป่วย[/caption]

จากพฤติกรรมของคนไข้ที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้เทรนด์การรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) หรือการแพทย์และการให้ยาในปริมาณที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแบบเฉพาะบุคคล มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคเริ่มต้องการการรักษาที่มีมาตรฐานมากขึ้น และเปิดใจยอมรับเทคนิคการรักษาแบบใหม่ๆ ที่ลงลึกถึงระดับพันธุกรรมและการทำงานของโปรตีนในร่างกายมากกว่าในอดีต หากกล่าวสั้นๆ Personalized Medicine ก็คือ “การรักษาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ถูกคน และถูกเวลา” การรักษาแบบนี้จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับประวัติพันธุกรรมของคนไข้ และปฏิกิริยาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการรักษา โดยจากผลการวิจัยทางคลินิก พบว่า Personalized Medicine สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้มากกว่าการรักษาในแบบเดิม
จะเห็นได้ว่าการรักษาหลายโรคในปัจจุบัน เช่น อัลไซเมอร์ ได้เปลี่ยนจากการรักษาเมื่อเกิดอาการแล้ว ไปเป็นการป้องกันและเตรียมพร้อมก่อนที่โรคจะเกิดจริง เพราะหลายคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์และมีความเสี่ยง มักจะไม่อยากรอคอยโดยไม่รู้ชะตากรรมว่าในอนาคตตนจะเป็นโรคนี้หรือไม่ แต่กลับเป็นฝ่ายเดินไปพบแพทย์ด้วยตนเอง เพื่อขอให้ตรวจคัดกรองด้วยเทคนิคขั้นสูง และยินดีที่จะทดลองรับการรักษาแบบใหม่ เนื่องจากผู้บริโภคเหล่านี้มีการเข้าถึงและศึกษาข้อมูลต่างๆ ซึ่งในอดีตจะมีเฉพาะคนในแวดวงการแพทย์เท่านั้นที่รู้

ผลต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

การรักษาแบบเฉพาะบุคคลไม่เพียงเป็นโอกาสใหม่ๆ ในวงการสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีความเกี่ยวพันถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งแต่เดิมไม่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุขภาพโดยตรง มีการประเมินว่าการรักษาแบบเฉพาะบุคคล จะทำให้ยอดขายและผลกำไรเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยมีมูลค่าสูงถึง 84 ล้านล้านบาทภายในปี 2565 และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ถึง 11.8% ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมสุขภาพโดยรวมที่โตเพียง 5.2% ต่อปี ถึง 2 เท่าตัว และหากพิจารณาเฉพาะภูมิภาคเอเชียแล้ว ด้วยฐานประชากรที่ใหญ่ และมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดการรักษาแบบเฉพาะบุคคลจำนวนมาก รวมทั้งการเปิดกว้างด้านความร่วมมือกับทั่วโลก คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ผลักดันการรักษาแบบเฉพาะบุคคลในเอเชียให้เติบโตสูงถึง 13% ในปี 2565

เนื่องจากการรักษาแบบเฉพาะบุคคลมีกระบวนการที่ซับซ้อนมาก บุคลากรทางการแพทย์จึงไม่ควรตีกรอบการทำงานเฉพาะในแวดวงสุขภาพเท่านั้น แต่ควรทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการคิดค้นนวัตกรรมและการเพิ่มประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยทักษะความรู้ และทรัพยากรจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน นับตั้งแต่ผู้ออกกฎหมาย ไปจนถึงซัพพลายเออร์ มิเช่นนั้นงานตรวจรักษาที่ยากลำบากอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว เช่น การนำตัวอย่างชิ้นเนื้อจากผู้ป่วยในเอเชีย ไปตรวจวิเคราะห์มะเร็งแบบเร่งด่วนในทวีปอื่น เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ โลจิสติกส์จึงเป็นหนึ่งในกลไกที่มีความสำคัญต่อวงการสุขภาพ เพราะความเชี่ยวชาญในการจัดการซัพพลายเชนและการขนส่งที่มีความซับซ้อน จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมสุขภาพสามารถปรับตัวตามตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสามารถแปลงอุปสรรคที่พบในการรักษาแบบ Personalized Medicine ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ

ปัจจัยที่ทำให้ซัพพลายเชนมีความสำคัญ

1) ค่าใช้จ่าย การรักษาแบบเฉพาะบุคคล อาจมีค่าใช้จ่ายสูงอย่างไม่น่าเชื่อ นับตั้งแต่การขอใบอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องใช้ผลการวิจัยทางคลินิกจำนวนมากมายืนยัน ไปจนถึงการตรวจวิเคราะห์ผู้ป่วยที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามประสิทธิผลในการรักษา ซึ่งในท้ายที่สุดสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายมหาศาล จนส่งผลต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบการด้านสุขภาพ และเป็นภาระต่อผู้ป่วยที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น

ในส่วนนี้ ซัพพลายเชนสามารถก้าวเข้ามามีบทบาทช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ โดยจากการศึกษาพบว่าเกือบ 25% ของต้นทุนยา และมากกว่า 40% ของต้นทุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีที่มาจากค่าขนส่ง ดังนั้น หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้แม้เพียงเล็กน้อย เช่น ลดเวลาขนส่งลง หรือลดปริมาณสินค้าที่ต้องสำรอง แต่เมื่อคิดรวมทั้งอุตสาหกรรมแล้ว อาจหมายถึงการลดค่าใช้จ่ายลงได้หลายหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

อีกสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือการสั่งยาจากโรงงานไปยังศูนย์กระจายสินค้าที่ปัจจุบันต้องใช้เวลาขนส่งโดยเฉลี่ยมากถึง 75 วัน ดังนั้นหากมีการจัดการซัพพลายเชนที่คล่องตัวแล้ว จะสามารถร่นระยะเวลาส่งยาที่สั่งซื้อให้สั้นลง และป้องกันปัญหาการขาดแคลนสินค้าที่จำหน่าย ซึ่งมีความหมายอย่างมากต่อธุรกิจ

2) การจัดส่งสินค้าที่สมบูรณ์ การจัดส่งผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาแบบเฉพาะบุคคลให้มีความสมบูรณ์ถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความท้าทายอย่างมาก ยกตัวอย่างการขนส่งเซลล์ต้นกำเนิดที่เพาะขึ้นจากเซลล์ของผู้ป่วย หากในขั้นตอนการขนส่งมีความเสียหายใดๆเกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลต่อตัวผู้ป่วยจนถึงชีวิตได้ ดังนั้นผู้ให้บริการขนส่งจึงต้องพัฒนาระบบจัดการที่ก้าวล้ำ เพื่อป้องกันปัญหาระหว่างการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ เช่น เทคโนโลยี FedEx Priority Alert ของเฟดเอ็กซ์ ที่จะสามารถเฝ้าติดตามสินค้าที่ต้องการการดูแลขั้นสูงได้แบบ 24 ชั่วโมง และจะแจ้งเตือนเชิงรุกเมื่อเกิดความล่าช้า เพื่อให้สามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็วหากมีปัญหาเกิดขึ้น

3) การควบคุมอุณหภูมิ วัสดุทางชีวภาพ เช่น เซลล์ หรือชิ้นเนื้อ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาเฉพาะบุคคล การขนส่งจึงต้องการระบบควบคุมความเย็นที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มีความสมบูรณ์จนถึงมือผู้รับ ในปัจจุบันการจัดส่งวัสดุทางชีวภาพเหล่านี้ยิ่งมีความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากมีตลาดเกิดใหม่จำนวนมากซึ่งเป็นประเทศในเขตร้อน และมีระยะทางขนส่งที่ไกล วงการสุขภาพจึงจำเป็นต้องพึ่งพาซัพพลายเชนและการขนส่งแบบควบคุมความเย็นที่มีความเชื่อถือได้

คาเดนซ์ ฟาร์มาซูติคอล อิงค์ เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยาที่ได้รับผลดีจากการจัดส่งแบบควบคุมความเย็น โดยบริษัทได้ส่งยาอะเซตามิโนเฟนสำหรับฉีดรักษาอาการปวด จำนวนถึง 106 พาเลตต์ (น้ำหนักมากกว่า 100 ตัน) จากเมืองอนาญญิในอิตาลี ไปยังเมืองเมมฟิส สหรัฐอเมริกา โดยใช้กระบวนการจัดส่งแบบควบคุมความเย็นทั้งบนภาคพื้นดินและบนอากาศ ซึ่งรวมถึงการใช้เครื่องบินโบอิ้ง 777 ที่มีห้องควบคุมความเย็น CRT และการใช้ผ้าคลุมควบคุมอุณหภูมิ รวมทั้งมีหน่วยสนับสนุนการผ่านขั้นตอนศุลกากร ซึ่งผลสำเร็จที่ได้รับคือบริษัทสามารถตอบสนองความต้องการยาดังกล่าวที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายลดลง

เมื่อผู้ป่วยยุคใหม่มีความรู้และตื่นตัวในเรื่องการรักษาของตนเอง แน่นอนว่าจะทำให้เทรนด์การรักษาแบบเฉพาะบุคคล ได้รับความสนใจมากขึ้น และมีความจำเป็นที่ซัพพลายเชนต้องเข้ามามีบทบาทในกระบวนการรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย เพื่อคว้าโอกาสจากการเติบโตของเทรนด์ดังกล่าว วงการสุขภาพจำเป็นต้องทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาครัฐ รวมทั้งผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อร่วมกันพัฒนาการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการรักษาแบบเฉพาะบุคคลนี้ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจยาและสุขภาพเท่านั้น แต่ยังหมายถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมที่จะมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อีกมากมาย รวมถึงผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่จะได้อานิสงค์จากการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559