ธปท.จับตาความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก-การเมืองในประเทศ

04 ส.ค. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แบงก์ชาติเผยไตรมาส 2/59 เศรษฐกิจขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ชูปัจจัยหนุนต่อเนื่อง “การใช้จ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยว” ด้าน สศค.เผยภาพรวมเศรษฐกิจยังโต 3.3% แต่ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกในปีนี้ลงเหลือติดลบ 1.9% จากเดิมคาดติดลบ 0.7% เหตุศก.โลกยังเปราะบางฉุดไตรมาส 2/59 ติดลบ 4.1%/แนวโน้มช่วงที่เหลือเกาะติด 3ปัจจัยเสี่ยง “การชะลอตัวประเทศคู่ค้า-ความเชื่อมั่นภาคเอกชน-อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน”

[caption id="attachment_77157" align="aligncenter" width="382"] พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พรเพ็ญ สดศรีชัย
ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 2/2559 ยังคงขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยหนุน คือ การใช้จ่ายภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้ชะลอตัวลงบ้างจากไตรมาสก่อน โดยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวมี 2.4 ล้านคนขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตร ที่รายได้เริ่มกลับมาขยายตัวหลังจากปัญหาภัยแล้งคลี่คลายลงและความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น

สำหรับมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำยังคงหดตัว 5% เป็นการหดตัวในหลายหมวดสินค้า เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยเฉพาะเอเชีย ปัญหาโครงสร้างการค้าที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกที่ยังหดตัว แม้ทิศทางปรับเพิ่มบ้างตามราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลให้ภาคการผลิตและการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องติดตามความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจโลก และปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัว โดยทั้งปีธปท.ยังคงประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไว้ที่ 3.1% และส่งออกหดตัว 2.5%

“ช่วงไตรมาสที่ 2 แม้รายได้ภาคเกษตรจะยังขยายตัวอยู่ แต่ยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะแรงส่งจริงๆ จะมาจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่การดำเนินนโยบายของรัฐบาลก็มีมาตรการมาคอยช่วยดูแลเศรษฐกิจอยู่แล้ว ส่วนปัญหาทางด้านการเมือง ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องติดตาม”

ทั้งนี้เอกสารธปท.เผยแพร่ ระบุ ดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาสนี้เกินดุล 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในส่วนของดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย(TDI) เช่น ธุรกิจขายส่งสินค้า การผลิต ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ทำจากแร่โลหะ แปรรูปถนอมเนื้อสัตว์ การนำเงินออกไปฝากต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ(FIF)ส่วนใหญ่ในฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเก๊า และการให้สินเชื่อทางการค้าของภาคธุรกิจแก่คู่ค้าในต่างประเทศ ตามมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตามเดือนนี้ยังคงมีเงินทุนไหลเข้ากลับมาซื้อสุทธิหลักทรัพย์ไทยทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน

สอดคล้องทิศทางการลงทุนในภูมิภาคหลัง Brexit นักลงทุนคาดการณ์ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม (โดยเฉพาะญี่ปุ่น) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)อาจจะเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงสิ้นปี2559หรือต้นปี 2560 จึงทำให้นักลงทุนต่างประเทศกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ การกู้ยืมระยะสั้นของภาคสถาบันการเงิน , TDI เช่น ธุรกิจคมนาคม จากการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นต่างประเทศรายใหญ่ กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งและการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไป

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศยังขยายตัวได้ 3.3% (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-3.6%) ดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่เติบโต 3.2% และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 2.8% แม้การส่งออกสินค้าในไตรมาส 2/59 หดตัวอยู่ที่ 4.1% ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.9% ต่อปี เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นไปอย่างเปราะบาง และมีความไม่แน่นอนสูง สศค.จึงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออกในปีนี้ลงเหลือ ติดลบ 1.9% (ช่วง -2.2ถึง-1.6%)จากเดิมคาดติดลบ 0.7% ด้านการบริโภคเอกชนขยายตัว 2.3% (ช่วงคาดการณ์2.0-2.6%) การบริโภคภาครัฐ 3.6% (ช่วงคาดการณ์ 3.3-3.9%) การลงทุนภาคเอกชน 2.6% (2.3-2.9%) การลงทุนภาครัฐ 10.5 (ช่วงคาดการณ์ 10.2-10.8%) สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการจะหดตัว -1.4%(ช่วงคาดการณ์ -1.7 ถึง-1.1%)

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ระดับ 61.1 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผล กระทบต่อสถานการณ์การส่งออกของไทย ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในภาพรวมยังทรงตัว โดยการลงทุนในหมวดก่อสร้าง แม้ว่าภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว 11.5% ต่อปี แต่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศยังหดตัว -1.6% ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวอยู่ที่ -11.6% ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษ (เครื่องบิน เรือ และรถไฟ) พบว่า หดตัวเช่นกันที่ -5.1% ต่อปี

ส่วนสถานการณ์ด้านการคลัง (ไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2559) ยังสะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลจากการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรวมสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 677.8 พันล้านบาท ขยายตัว 19.0% ต่อปี ขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 638.8 พันล้านบาท ขยายตัว 20.7% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้ 101.5 พันล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 31.7% ต่อปี

ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้น จากภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกและภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) กลับมาขยายตัวที่ 1.5% ต่อปี จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว -0.9% ต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559