นมแบรนด์ดังเร่งเกมบุกอาเซียน ‘โฟร์โมสต์’5 ปีทุ่ม 5 พันล้าน/ไทย-เดนมาร์คพุ่งเป้าเพื่อนบ้าน

01 ส.ค. 2559 | 08:00 น.
ตลาดนมพร้อมดื่มไทยบูม แบรนด์ดังเฮโลใช้ไทยเป็นฐานบุกต่างประเทศ “โฟร์โมสต์” เปิดแผน 5 ปี ลงทุน 5 พันล้าน ขยายกำลังการผลิตดันไทยสู่ฮับนมอาเซียน พร้อมเดินหน้าพัฒนาแบรนด์ในเครือรับเทรนด์ตลาดนมขาขึ้น ฟาก “อ.ส.ค.” ส่งนม “ไทย-เดนมาร์ค” ทำตลาดเชิงรุกกัมพูชา ก่อนพุ่งเป้าไปยังลาว เมียนมาต่อ

[caption id="attachment_76530" align="aligncenter" width="337"] ดร.โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดร.โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)[/caption]

ดร.โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม "โฟร์โมสต์" เปิดเผยว่า บริษัทแผนในการใช้เงินลงทุนในประเทศไทยช่วง 5 ปีนับจากนี้ (2559-2563) ทั้งสิ้น 5,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นงบประมาณการลงทุน 1,000 ล้านบาทต่อปี ไม่ว่าจะเป็นการขยายไลน์การผลิตในโรงงานย่านหลักสี่และสำโรง ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 70-80% หรือคิดเป็น 3,000 ล้านยูนิตต่อปี ซึ่งหลังจากการขยายไลน์การผลิตแล้วบริษัทจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานได้ 12% ต่อปี ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการแข่งขัน นอกจากนี้ยังมีแผนในการขยายโรงงานแห่งที่ 3 ในย่านสามพรานในที่ดินของบริษัทหลายร้อยไร่ในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้แผนการขยายไลน์การผลิตและโรงงานแห่งใหม่ดังกล่าว เพื่อเป็นการรองรับการแข่งขันในตลาดนมเมืองไทยที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ กอปรกับเพื่อใช้เป็นฐานสำคัญในการส่งออกของบริษัทไปยังภูมิภาคอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีการขยายตลาดเข้าไปในกลุ่มประเทศใหม่ๆอย่างฮ่องกง กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น โดยวางเป้าหมายการเติบโตด้านรายได้จากตลาดต่างประเทศไว้ทั้งสิ้น 10% ต่อปี

"นมที่ผลิตจากประเทศไทยถือว่าเป็นนมคุณภาพที่สามารถส่งออกเพื่อไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเวียดนามคือประเทศคู่แข่งที่น่ากลัวแต่เรื่องคุณภาพทักษะการผลิตของเรายังถือว่าดีและได้รับการยอมรับมากกว่า"

ดร.โอฬาร กล่าวอีกว่า ขณะที่ในส่วนของตลาดภายในประเทศบริษัทได้เตรียมงบประมาณทางการตลาดมากกว่า10% ของยอดขายเพื่อเดินหน้าสร้างแบรนด์ในเครืออย่างต่อเนื่องผลิตภัณฑ์นมข้นหวาน-จืดนกเหยี่ยว,ผลิตภัณฑ์เรือใบ,โยโมสต์ เป็นต้น โดยมีแผนจะเปิดตัวสินค้าใหม่อีก 2-3 รายการในช่วงสิ้นปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทจะยังคงเดินหน้าให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณการตลาด80-90% เพื่อสร้างแบรนด์หลักอย่างโฟร์โมสต์ให้เติบโตต่อไป

อย่างไรก็ตามบริษัทวางเป้าหมายการเติบโตในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 8-9% ใกล้เคียงกับปีทีผ่านมา หรือคิดเป็นรายได้ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันบริษัทครองส่วนแบ่งทางการตลาดนมพร้อมดื่มอยู่ที่ 32% ขณะที่ภาพรวมตลาดนมเมืองไทยมีการเติบโตอยู่ที่ 5% ต่อปี นอกจากนี้มีรายได้จากการส่งออกที่ 2,300 ล้านบาทต่อปี (ปี 2558) คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการผลิตรวมโดยวางเป้าการเติบโตตลาดส่งออก 10% ต่อปี

ด้านดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า อ.ส.ค. ได้เร่งทำการตลาดเชิงรุกในประเทศกัมพูชาเพื่อขยายฐานผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นโดยส่งทีมเจ้าหน้าที่แผนกการค้าระหว่างประเทศร่วมกับตัวแทนจำหน่ายนมไทย-เดนมาร์คในกัมพูชา จัดโรดโชว์ส่งเสริมการขาย เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่ม ยูเอชที ไทย-เดนมาร์ค ในพื้นที่ 4 เมืองหลักของกัมพูชา ได้แก่ พนมเปญ พระตะบอง ศรีโสภณและเสียมราฐ โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 หลังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันยังมีการการจัดกิจกรรมโรดโชว์ส่งเสริมการขาย "Milk On the Road in Cambodia Season 2" นี้ มุ่งประชาสัมพันธ์ตราสินค้าไทย-เดนมาร์ค ในตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ยูเอชที พร้อมส่งเสริม และขยายตลาดโยเกิร์ตพร้อมดื่มยูเอชที ผสมคอลลาเจน 4 รส ได้แก่ รสส้ม สตรอว์เบอร์รี่ สับปะรด และรสเลมอน ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มผู้รักษ์สุขภาพ กลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา กลุ่มวัยทำงาน รวมถึงร้านขายปลีกต่างๆ ซึ่งจะช่วยรักษาและ เพิ่มส่วนแบ่งตลาดในกัมพูชามากขึ้น

"ปีนี้ อ.ส.ค.ได้ตั้งเป้าผลักดันส่งออกผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คไปยังกัมพูชา มูลค่ากว่า 700 ล้านบาท คิดเป็น78 % ของเป้าหมายส่งออกตลาดอาเซียน เช่น ลาว และพม่า รวมมูลค่า 900 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนในการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์คไปยังลาวและพม่าก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดเมียนมาถือเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบสูงมาก แต่ปัจจุบันมีการส่งออกผ่านด่านตามแนวชายแดนเท่านั้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559