การปรับตัวครั้งใหญ่ในสตาร์บัคส์ (1)

30 ก.ค. 2559 | 05:00 น.
หนึ่งในปรัชญาองค์กรของสตาร์บัคส์ คือการทำให้พนักงานมีความสุข พันธมิตรธุรกิจมีความสุข และลูกค้ามีความสุข เมื่อเร็วๆนี้ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างในองค์กรเพื่อกระตุ้นแรงใจในการทำงานให้แก่พนักงาน เช่น การปรับนโยบายด้านการแต่งกายทั้งของผู้บริหารและพนักงานหน้าร้าน ให้มีความผ่อนคลายและเป็นกันเองมากขึ้น แสดงความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ตราบเท่าที่ยังดูสะอาดสะอ้าน มีบุคลิกดี และดูเป็นมืออาชีพ เช่น พนักงานหน้าร้านรวมทั้งบาริสต้า สามารถใส่เสื้อผ้ามีสีสันสะท้อนบุคลิกของตัวเองภายใต้ผ้ากันเปื้อนสีเขียวของทางร้าน สามารถย้อมผมมีสีสัน มีรอยสัก (แต่ห้ามมีรอยสักบนใบหน้าและลำคอ) สามารถเจาะจมูกได้ (แต่ต้องเป็นหมุดเล็กๆ ห้ามเป็นห่วงๆ หรือเจาะส่วนอื่นที่มองเห็นได้ รวมทั้งเจาะหมุดที่ลิ้นก็ยังห้ามอยู่)

ไม่เพียงเท่านั้น สตาร์บัคส์ในสหรัฐอเมริกา ยังประกาศปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงาน (ในสหรัฐฯ) ในอัตรากว่า 5 % ไปจนถึงอัตราสูงสุด15 % ทั้งยังเพิ่มรางวัลตอบแทนเป็นหุ้นให้แก่พนักงานที่ทำงานให้กับบริษัทเป็นอย่างดีติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี โดยจะให้หุ้นมากกว่าอัตราเดิมถึงสองเท่า นอกจากนี้ บริษัทยังยืดหยุ่นมากขึ้นเกี่ยวกับตารางการเข้าทำงานของพนักงาน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป้าหมายก็เพื่อทำให้สตาร์บัคส์เป็นองค์กรธุรกิจที่ดึงดูดใจให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็นพวกมิลเล็นเนียล (millennials) หรือพวกเจเนอเรชันแซด (Generation Z) เข้ามาร่วมทำงาน

[caption id="attachment_76498" align="aligncenter" width="500"] สตาร์บัคส์ในสหรัฐอเมริกา สตาร์บัคส์ในสหรัฐอเมริกา[/caption]

ทั้งนี้เพราะงานวิจัยพบว่า คนรุ่นใหม่ยุคใหม่มีทางเลือกในการทำงานเพิ่มมากขึ้นทำให้องค์กรธุรกิจที่ต้องการบุคลากรรุ่นใหม่ไฟแรง จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้คนเหล่านี้เข้ามาร่วมงานด้วย ซึ่งก็ไม่เพียงสตาร์บัคส์เท่านั้น บริษัทอื่นๆ เช่น วอลมาร์ท ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯและของโลก ก็กำลังใช้มาตรการคล้ายๆกันซึ่งรวมถึงการให้เงินเดือนเพิ่มขึ้น เพื่อจูงใจคนเข้าร่วมทำงาน

“ในช่วงหลายปีมานี้ เราเห็นชัดว่าผลตอบแทนในรูปแบบต่างๆคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะจูงใจให้ผู้ร่วมงานของเราอยู่กับองค์กรอย่างยาวนาน” นายฮาวเวิร์ด ชูลท์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสตาร์บัคส์กล่าว
แต่ก็แน่ละ เมื่อต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ก็คาดหวังได้ว่าต้องมีการปรับราคาสินค้าตามมา สตาร์บัคส์เองก็ไม่ปฏิเสธในเรื่องนี้ โดยนายชูลท์สกล่าวว่า จะมีการปรับราคากาแฟบางรายการภายในร้านสาขาที่เป็นของสตาร์บัคส์ลงทุนเองในสหรัฐอเมริกา และจะเป็นการปรับขึ้นราคาเพียงเล็กน้อย คือราวๆ 10-20 เซ็นต์ต่อแก้ว หรือบางรายการเช่นเครื่องดื่มในกลุ่มกาแฟเอสเปรสโซและชาลาเต้อาจปรับเพิ่มแก้วละ 30 เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม สตาร์บัคส์ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วลูกค้าอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 1% แต่สินค้าบางรายการหรือคิดเป็นสัดส่วนราว 65 % ของสินค้าทั้งหมดที่จำหน่ายภายในร้านก็จะไม่มีการปรับราคาแต่อย่างใด คราวนี้เมื่อถามว่า แล้วลูกค้าจะได้เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงแล้วลูกค้ารู้สึกว่าได้บ้าง บริษัทย้ำว่ามีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมนูเพื่อความสดใหม่ไม่มีคำว่า “จำเจ” อยู่เสมอ นั่นหมายรวมถึงลูกค้าจะมีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่นเมื่อเร็วๆนี้ มีการนำเสนอเมนูเครื่องดื่มที่มีกะทิเป็นส่วนผสมเป็นครั้งแรก เป็นต้น

อีกข่าวดี (หรือเปล่า?) สำหรับลูกค้าสตาร์บัคส์ก็คือ การปรับขึ้นเงินเดือนและผลตอบแทนพนักงานในสหรัฐฯ จะเริ่มมีผลในเดือนตุลาคมศกนี้ แต่การปรับขึ้นราคาเครื่องดื่มในร้านนั้น เริ่มมีผลทันทีแล้วหลังประกาศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559