เผยผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย

29 ก.ค. 2559 | 06:16 น.
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 Moody’s ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลไทยสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินบาทที่ระดับ Baa1 โดยมีมุมมองความน่าเชื่อถือที่มีเสถียรภาพ (Stable Outlook) ในขณะเดียวกัน ได้ยืนยันเพดานความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ A2 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1 พร้อมทั้งยืนยันเพดานเงินฝากธนาคารสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ระดับ Baa1 และสกุลเงินบาทที่ระดับ A1 รายละเอียดปรากฏดังตาราง

ตารางแสดงผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดย Moody’s ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2559

pop

Moody’s วิเคราะห์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขัน โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความซบเซาของความต้องการสินค้าในตลาดโลก และความอ่อนแอของการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังเผชิญความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนในผลการแสดงประชามติของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากการส่งออกภาคบริการวัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว Moody’s ยังให้ความเห็นว่า ฐานะการคลัง ที่เข้มแข็ง ความอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงภาคต่างประเทศที่ต่ำ ตลอดจนความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนด และต้นทุนการระดมทุนของรัฐบาลที่อยู่ในระดับต่ำแสดงให้เห็นว่า ไทยมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะและนโยบายการเงินการคลังเชิงรุกได้อย่างน่าเชื่อถือ โดยถึงแม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ตัวชี้วัดด้านการคลังในภาพรวมยังมีความเข้มแข็งกว่ากลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน นอกจากนี้ แม้ว่าภาคการส่งออกยังคงอ่อนแอ แต่ความต้องการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับตัวลงของมูลค่าสินค้านำเข้า อาทิ ราคาน้ำมัน ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ซึ่งจะมีส่วนช่วยรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ ในปี 2559 และ 2560 Moody’s คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับในปี 2558 เนื่องจาก Moody’s เห็นว่า ไทยยังคงพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกภาคบริการ มากกว่าการใช้จ่ายภาคเอกชนและการส่งออกสินค้า ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวไม่มีความแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ