‘บิ๊กไบค์’ฮอตโตพรวด อีสเทิร์นฯทุ่มกว่า100ล้านเปิดฮาร์เลย์-เดวิดสัน ออฟ พัทยา

01 ส.ค. 2559 | 12:00 น.
ธุรกิจบิ๊กไบค์ในช่วง 3-4 ปีหลังมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่มีผู้เล่นในตลาดเพียงไม่กี่ราย และเป็นรายใหญ่ ทั้งแบรนด์ยุโรปและแบรนด์สหรัฐอเมริกา แต่พอแบรนด์จากค่ายญี่ปุ่นหันมาร่วมแบ่งเค้กในตลาดนี้ ทำให้ตลาดมีความคึกคักและเติบโตแบบรวดเร็ว และอีกหนึ่งค่ายบิ๊กไบค์ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานอย่าง ฮาร์เลย์-เดวิดสันก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เห็นโอกาสทางการตลาด และมีการขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

[caption id="attachment_76538" align="aligncenter" width="358"] อนุวัชร อินทรภูวศักดิ์ อนุวัชร อินทรภูวศักดิ์[/caption]

ล่าสุดได้ทำการแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายรายใหม่ในจังหวัดชลบุรี ที่รองรับลูกค้าในกลุ่มภาคตะวันออกทั้งหมด ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธิในการทำตลาดก็คือ บริษัท อีสเทิร์น ไทย ไรด์เดอร์ จำกัด หรือ “ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ออฟ พัทยา” ที่มีหัวเรือใหญ่อย่าง “อนุวัชร อินทรภูวศักดิ์” ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งภายหลังจากการเปิดตัวโชว์รูมและศูนย์บริการอย่างเป็นทางการในช่วงที่ผ่านมา ก็เตรียมงัดแผนงานใหม่หวังจะเพิ่มจำนวนประชากร HOG หรือ Harley-Davidson Owner Group ให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการลงทุนเพิ่ม ซึ่งแผนงานทั้งหมดจะเป็นอย่างไรใช้กลยุทธ์ใดบ้าง “ฐานเศรษฐกิจ”ได้สัมภาษณ์พิเศษถึง

จุดเริ่มต้นของบริษัท

ที่ผ่านมามีการติดต่อกับบริษัทฯแม่มาเป็นเวลากว่า 1 ปี ซึ่งระหว่างนั้นบริษัทแม่จะมีการตรวจสอบแบบละเอียด ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทางด้านการเงิน ที่มาที่ไปของเงิน หลังจากนั้นก็ตรวจโลเกชัน หรือ สถานที่ที่จะเปิดให้บริการว่ามีโอกาสทางการตลาดมากน้อยเพียงใด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นกินระยะเวลากว่า 1 ปี และหลังจากที่ทุกอย่างได้ข้อสรุป ได้มีการเตรียมแผนงานก่อสร้าง -ลงทุน และเปิดให้บริการที่พัทยา ภายใต้ชื่อ“ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ออฟ พัทยา” (Harley-Davidson of Pattaya )ภายใต้การบริหารงานของบริษัท อีสเทิร์น ไทย ไรด์เดอร์ จำกัด

สำหรับพื้นที่พัทยา ถือว่ามีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังรองรับจำนวนลูกค้าในฝั่งตะวันออกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่งทำเลในภาคนี้มีความแข็งแกร่งทางด้านอุตสาหกรรม และ การท่องเที่ยว

เม็ดเงินลงทุน

สำหรับการลงทุนของฮาร์เลย์-เดวิดสัน ออฟ พัทยาใช้งบไปกว่า 100 ล้านบาท บนพื้นที่ 1 ไร่ รองรับลูกค้าในเขตภาคตะวันออกทั้งหมด โดยโชว์รูมและศูนย์บริการดังกล่าวสามารถจอดรถโชว์ได้ 20 คัน และมีจำนวนช่องซ่อมให้บริการในเริ่มแรกคือ 3 ช่องซ่อม รองรับรถต่อวัน 6-9 คัน และภายใน 2 ปี จะสามารถเพิ่มบริการในส่วนของช่องซ่อมเป็น 6 ช่อง รองรับรถต่อวันได้ 18 คันต่อวัน

โดยบริษัทฯจะดูแลลูกค้าทั้งที่ซื้อรถกับผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และรถบางส่วนที่นำเข้ามาเอง อย่างไรก็ตามประเมินว่าอีก 2 ปีข้างหน้า รถฮาร์เลย์-เดวิดสัน ที่นำเข้ามาโดยผู้นำเข้าอิสระจะหมดไป เพราะกฎระเบียบ เงื่อนไขต่างๆมีความเข้มงวดขึ้น

วางแผนการตลาด

เป้าหมายนอกจากการขาย คือการสร้างวัฒนธรรมที่ดี โดยยึดหลักการซ่อมที่ดี ราคาไม่แพง มีการสร้างวัฒนธรรมร่วมกัน มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นจึงเน้นบริการหลังการขาย ดังจะเห็นได้จากการนำบุคลากรที่มีประสบการณ์ทำงานกับฮาร์เลย์ในออสเตรเลียกว่า 30 ปีมาร่วมงานด้วย ส่วนบุคคลากรช่าง หรือ หัวหน้าช่าง นอกจากจะมีประสบการณ์แล้ว ก็จะคัดเลือกคนในท้องถิ่นหรือในพื้นเพนั้นๆเพราะจะเข้าใจถึงวัฒนธรรมในท้องที่นั้นๆได้ดีกว่าคนต่างถิ่น อีกทั้งจะเน้นความรวดเร็วในการจัดหาจัดส่งอะไหล่ให้กับลูกค้า

ส่วนแผนการตลาด ล่าสุดได้จัดงานแกรนด์โอเพนนิ่งไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเชิญแขกและผู้ที่ขับขี่ฮาร์เลย์-เดวิดสันเข้าร่วมงาน ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจและขับขี่ฮาร์เลย์-เดวิดสันมาร่วมงานกันเป็นจำนวนกว่า 300 คน ซึ่งบริษัทฯได้มีการจัดเก็บฐานข้อมูลของลูกค้าเอาไว้และคาดว่าจะทำตลาดต่อยอดกันไปในอนาคต นอกจากนั้นแล้วภายในโชว์รูม ได้จัดมุมเพื่อประชากร HOG หรือ Harley-Davidson Owner Group ที่จะมาพูดคุยแลกเปลี่ยน สังสรรค์ หรือจะจัดงานมีตติ้ง

เป้าหมายการขาย

บริษัทเริ่มเปิดขายอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในระยะเวลา 1 ปีจะสามารถทำยอดขายได้ 250 คัน ปัจจุบันมีรถจำหน่ายราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 7 แสนบาทไปจนถึง 2.2 ล้านบาท และหลังจากเปิดขาย พบว่าลูกค้าให้ความสนใจรถในรุ่นสปอร์ตเตอร์ มากที่สุด ดังจะเห็นจากตัวเลขยอดขายของรถรุ่นนี้ที่คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% และอีกหนึ่งรุ่นคือ ซอฟเทล ที่มีสัดส่วนการขาย 25% และที่เหลือจะแบ่งเป็นรุ่นอื่นๆรวมกัน

ปัจจุบันลูกค้าที่ซื้อรถจากบริษัทคิดเป็นคนไทย 70% และอีก 30% เป็นชาวต่างชาติ เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ที่พัทยาซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่พฤติกรรมของลูกค้าฮาร์เลย์-เดวิดสันส่วนใหญ่จะซื้อรถเป็นคันที่2 และซื้อเพิ่ม ซึ่งไม่ได้นำคันที่มีอยู่มาเทรด-อิน โดยจะเก็บสะสมเรื่อยๆ แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆที่อาจจะมีการสวิตซ์แบรนด์ จากแบรนด์ญี่ปุ่นมาเป็นแบรนด์ยุโรป

แผนงานในอนาคต

โดยได้มีการพูดคุยกับบริษัทแม่ และได้ข้อสรุปในการเปิดสาขาอีกหนึ่งแห่งบนถนนวิภาวดี-รังสิต ใกล้ๆกับหลักสี่ ซึ่งจะใช้งบลงทุนกว่า 200-300 ล้านบาท บนพื้นที่ขนาด 3 ไร่ ซึ่งสาขานี้จะเป็นโชว์รูมแฟลกชิพ สโตร์ ที่ในเอเชียยังไม่มีรูปแบบนี้เกิดขึ้น และประเทศอื่นๆในแถบนี้หรือภูมิภาคนี้ สามารถเข้ามาดูรูปแบบใหม่นี้ได้ที่ไทย คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2560

โอกาสและศักยภาพของประชากรฮาร์เลย์-เดวิดสันในไทย

ยอดขายในไทยคาดว่าจะเป็นเบอร์ 3 ในภูมิภาคนี้ และยังเป็นรองประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน แต่บริษัทฯแม่ก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ดังจะเห็นจากการเปิดฮาร์เลย์-เดวิดสัน ยูนิเวอร์ซิตี้ ย่านพระราม 3ซึ่งถือเป็นแห่งที่ 2 ต่อจากสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชีย ในการสร้างบุคลากรด้านเซอร์วิส และให้ความรู้ด้านเทคนิคต่างๆ ทั้งด้านการดูแลบำรุงรถ การซ่อมรถอย่างครบวงจร และเปิดสอน 195 คอร์สต่อปี

โดยการลงทุนของบริษัทแม่ถือเป็นการให้ความสำคัญกับประเทศไทยมาก เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคต่างๆรองรับ มีความสะดวกสบาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559