เศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 59 ฟื้นตัวดีขึ้น

28 ก.ค. 2559 | 08:40 น.
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน และในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ฟื้นตัวได้ดีขึ้นเป็นลำดับ นำโดย กทม.และปริมณฑล ภาคใต้ และภาคเหนือ  โดยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคสินค้าและบริการ ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวพร้อมกันทุกภูมิภาค ขณะที่รายได้จากผู้เยี่ยมเยือนแม้จะชะลอลงตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่หดตัว แต่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

ภาคเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคสินค้าและบริการ โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายเดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 16.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 14.8 ต่อปี สอดคล้องกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 34.9 ต่อปี และไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 22.3 ต่อปี ซึ่งยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวในภูมิภาค อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น จากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 9.4 ต่อปี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจยังคงมีความเปราะบางแต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในเดือนมิถุนายน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชน โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 8.6 และ 8.0 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.8 และ 2.3 ต่อปี ตามลำดับ

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน โดยยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายนขยายตัวที่ร้อยละ 19.9 และ 8.1 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 13.4 และ 9.3   ต่อปี ตามลำดับ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคเดือนมิถุนายนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 11.2 และ 9.1 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัว  ร้อยละ 10.3 และ 2.5 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคเดือนมิถุนายนยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 32.8 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 36.5 ต่อปี

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน โดยยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 27.6 และ 16.0 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 8.8 และ 5.7 ต่อปี ตามลำดับ และรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคเดือนมิถุนายนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี

ภาคใต้ เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้าน    อุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการใช้จ่ายและ   ยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 12.5 และ 6.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 10.5 และ 5.0 ต่อปี ตามลำดับ การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยเฉพาะยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 8.5 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี  รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคเดือนมิถุนายนขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 23.7 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 21.2 ต่อปี

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เฉพาะส่วนที่เก็บบนฐานการ  ใช้จ่ายและยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่เดือนมิถุนายนขยายตัวร้อยละ 8.9 และ 27.3 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 4.1 และ 14.7 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากรายได้เกษตรกรเดือนมิถุนายนขยายตัวได้ต่อเนื่องที่  ร้อยละ 2.7 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี สอดคล้องกับรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลในภูมิภาคเดือนมิถุนายนยังขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 48.0 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 2 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 62.2 ต่อปี