ยก"บัณฑิตแรงงาน"ข้อต่อสำคัญเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับภาครัฐ

28 ก.ค. 2559 | 06:52 น.
กระทรวงแรงงาน ยก"บัณฑิตแรงงาน" คือ 'ข้อต่อ' สำคัญ เชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับภาครัฐ สนับสนุนการทำงานของกระทรวงฯ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในการทำงานให้เกิดขึ้นกับประชาชนในตำบลและหมู่บ้าน

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานะประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพบัณฑิตแรงงาน ณ โรงแรมพีซลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดกระบี่ว่า บัณฑิตแรงงานมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของกระทรวงแรงงานโดยการเข้าไปสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างความมั่นคงในการทำงานให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งการที่บัณฑิตแรงงานได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน รวมถึงการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลด้านแรงงานในพื้นที่ จะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานในพื้นที่ ทั้งในส่วนของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้ง ข้อมูลที่มีคุณภาพและทันต่อเหตุการณ์เป็นสิ่งสำคัญซึ่งบัณฑิตแรงงานจะเป็นผู้ที่เข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์และสภาพข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่ของตนใน 2 เรื่อง คือ 1. ข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงาน ของประชาชนในพื้นที่เพื่อเป็นข้อมูลในการให้บริการ พัฒนา และแก้ไขปัญหาแก่ประชาชน เช่น ผู้ว่างานที่พร้อมจะทำงาน ผู้ต้องการฝึกอาชีพ ข้อมูลผู้สูงอายุ คนพิการแรงงานนอกระบบ และผู้ที่ไปทำงานต่างประเทศ เป็นต้น และ 2. ข้อมูลด้านอื่นๆที่นอกเหนือจากภารกิจหลักของกระทรวงแรงงานที่สามารถสนับสนุนหน่วยงานอื่น ๆ ได้ เช่น ข้อมูลเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาไม่ได้ศึกษาต่อยังไม่มีงานทำ และต้องการหางานทำ ข้อมูลสถานการณ์อยู่อาศัยประชากรในพื้นที่ เป็นต้น

ทั้งนี้ บัณฑิตแรงงานกระทรวงแรงงาน นับเป็นสื่อกลางที่จะนำบริการและสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนควรจะได้รับ ไปสู่ประชาชนในพื้นที่ เปรียบเสมือนเป็นข้อต่อที่เชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ซึ่งจะช่วยลดหรือบรรเทาสถานการณ์ความไม่ไว้วางใจ ซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับประชาชน โดยการทำงานในพื้นที่จะต้องให้ความสำคัญในการปรับปรุงบริการ กระบวนการ และสร้างคุณค่าให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนด้วย เช่น การพัฒนาอาชีพนอกจากประสานจัดฝึกอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตำบล หมู่บ้านของตนแล้ว ยังต้องคำนึงถึงหลักสูตรที่จัดอบรม การจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด และการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"เชื่อมั่นว่าบัณฑิตแรงงานที่ได้เข้ามาสัมมนาในครั้งนี้จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ เพื่อนำความรู้ที่ได้รับเกี่ยวกับการพัฒนาความคิดเชิงสร้างสรรค์ การสร้างพลังในการทำงานร่วมกัน สร้างความสามัคคี รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานสำรวจและจัดเก็บข้อมูล ไปปรับใช้ในการทำงาน และการดำรงชีวิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง เพื่อนร่วมงาน องค์กร และท้องถิ่น รวมทั้งผลักดันเป้าหมายในระดับต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายอนุรักษ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานมีบัณฑิตแรงงานจำนวน 380 คน ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ปัตตานี จ.นราธวาส จ.ยะลา และ จ.สงขลา (อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และอ.สะบ้าย้อย)ทำหน้าที่ในการเป็นสื่อกลาง เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและภารกิจของกระทรวงฯ โดยนำบริการและข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานในทุกมิติ ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกันบัณฑิตแรงงานก็เป็นตัวกลางที่จะนำความต้องการของประชาชน ในพื้นที่ส่งต่อภารกิจงานของกระทรวงฯ และหน่วยอื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น บัณฑิตแรงงานยังทำหน้าที่เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเป็นพี่เลี้ยงในการทำงานให้อาสาสมัครแรงงาน รวมทั้ง มีส่วนช่วยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในพื้นที่ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน และประสานการทำงานของหน่วยงานต่างๆ เป็นตัวกลางในการติดต่อประสานงานระหว่างผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนาประชาชน กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และเป็นกลไกในการทำงานในรูปแบบ "ประชารัฐ" ซึ่งอาศัยความร่วมมือร่วมใจ และการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนเจ้าหน้าที่รัฐ และเอกชน