อัดเงินดันเศรษฐกิจโค้งท้าย คลังลั่น!ก้อนใหม่รอหมุน/ต่างชาติไร้กังวลผลโหวต7ส.ค.

28 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
กูรูเศรษฐกิจหลายสำนักไร้กังวล! ผลโหวต 7 สิงหา สอดรับคลัง-สศช.ชี้หลายปัจจัยหนุนทั้งปีโต 3.3% ขุนคลังอภิศักดิ์ลั่น พร้อมอัดฉีดโค้งท้าย เงินก้อนใหม่รอหมุนกำลังซื้อฐานรากผ่านมาตรการรัฐ คาดกระตุ้นจีดีพีใหม่เพิ่มก่อนสิ้นปีอีก 0.3% นายแบงก์/นักเศรษฐศาสตร์ เตือนระยะต่อไปให้ระวัง “ฟองสบู่สินทรัพย์” จับตาลงทุนภาคเอกชน ความต่อเนื่องทางการเมือง ห่วงก่อการร้ายสะเทือนท่องเที่ยว

จากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.2% ในไตรมาส 1/59 ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดีนัก สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าไทยเองก็มีพัฒนาการที่ดีกว่าหลายประเทศแต่ระหว่างที่รอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)ประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส 2/2559 (15 ส.ค.59) ความท้าทายระยะต่อไปไตรมาส 4/2559 ยังต้องจับตาจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ จะส่งผลเชิงบวกหรือลบต่อเศรษฐกิจไทย

คลังลั่น!พร้อมอัดฉีดเศรษฐกิจ

ต่อประเด็นดังกล่าว นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ไตรมาส 4 ถ้ามีกลุ่มไหนเดือดร้อนก็พร้อมจะช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวย้ำชัดว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่มาตรการใหม่ที่จะออกมานั้นจะเน้นดูแลในกลุ่มที่เดือดร้อนโดยยืนยันพร้อมจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีก เพียงแต่ขอติดตามปัจจัยภายนอก จากภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

"ไม่สามารถบอกล่วงหน้าว่าจะอัดฉีดอะไรบ้าง ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่ยืนยันว่ามีเงินพร้อมจะนำมาอัดฉีดเศรษฐกิจอีกหลายหมื่นล้านบาท หากเกิดเหตุฉุกเฉินเงินที่เตรียมไว้ไม่พอก็พร้อมจะกู้มาดูแลเศรษฐกิจแต่รัฐบาลนี้จะไม่กู้โดยไม่จำเป็น แต่เรา ยังมั่นใจทั้งปีนี้จีดีพีจะเติบโตได้ตามเป้าที่คาดการณ์ไว้ 3.3%"

เงินก้อนใหม่รอหมุนศก.ฐานราก

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากกระทรงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประเมินความต้องการตลอดจนแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้าย ว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มมาตรการกระตุ้นเข้าไปอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า จีดีพีปี 2559 ขยายตัวได้เกิน 3.3% แน่นอน โดยยังให้น้ำหนักไปที่การกระตุ้นกำลังซื้อ การปรับโครงสร้างการผลิตโดยเฉพาะภาคการเกษตร ตลอดจนการปรับกฎระเบียบต่างๆ ให้กลุ่มเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

"หากประเมินเม็ดเงินงบประมาณที่ใส่เข้าสู่ระบบเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีเฉพาะปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อปรับปรุงด้านเครื่องจักร รวมถึงแนวทางการตั้งกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี ที่มีปัญหาสภาพคล่องวงเงิน 1,000 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้วคิดเป็นวงเงินรวมกันไม่ต่ำกว่า 1-2 แสนล้านบาท"

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินผ่านโครงการช่วยเหลือชุมชนให้เข้าถึงสินเชื่อ ในลักษณะที่ให้ชุมชนหรือหมู่บ้านบริหาร ตลอดจนควบคุมผ่านทางกรรมการหมู่บ้าน โดยคาดว่าเร็วๆนี้จะมีวงเงินก้อนใหม่อัดอัดเข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากอีกไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท หวังทำให้เศรษฐกิจมีแรงหมุน เกิดการขับเคลื่อนจากภายในของแต่ละชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีการประเมินแล้วว่า หากมีเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบทุกๆ 1 แสนล้านบาท จะเกิดจีดีพีปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ดังนั้นเมื่อเบ็ดเสร็จน่าจะทำให้เกิดจีดีพีเพิ่มขึ้นจากโครงการต่างๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 0.2-0.3% และคาดว่าจีดีพี ปี 2560 (ประเมินอย่างไม่เป็นทางการ) จะขยายตัวภายใต้กรอบ 3.5-4%

"เชื่อว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปีนี้จะขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.3% แต่คงไม่ถึงระดับ 4% ทั้งนี้เป็นผลมาจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยจีดีพี ไตรมาส 3 ยังมีโอกาสสูงที่จีดีพีจะขยายตัวสูงสุดถึง 4% ขณะที่ไตรมาส 4 น่าจะจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3.5%

หลายปัจจัยหนุนทั้งงปีโต 3.3%

สอดรับกับนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสศช. กล่าวว่า ครึ่งปีหลังของปี 2559 สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกจากแนวโน้มภาคการเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากปัญหาภัยแล้งเริ่มบรรเทาโดยมีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก ทำให้เกษตรกรเตรียมการเพาะปลูกมากขึ้นและจะส่งผลให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น อย่างไรก็ตามครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก รวมทั้งผลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปและอังกฤษหลังจากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้แก่นักลงทุนแต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เท่าครึ่งปีแรก และทั้งปีอยู่ที่ 3.3%

ก่อนหน้านี้นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าปี 2559 ยังคงเป้าการเติบของจีดีพีที่3-3.5% เนื่องจากมองว่ายังพอมีปัจจัยบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ประการแรก จะเห็นว่าไตรมาสที่สี่ของปีปฏิทินจะมีความพิเศษอยู่ที่ว่าจะมีงบประมาณออกมามากมีงบเท่าไหร่ต้องผลักดันออกมาใช้ให้หมด ไม่งั้นจะต้องส่งคืนและจะส่งผลกระทบในปีถัดไปด้วย ฉะนั้นครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่งบประมาณภาครัฐออกมาได้มากที่สุด

ประการที่ 2 ผลกระทบต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องจากกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้แถลงรายงานการค้ามนุษย์ หรือ TIPs Reportประจำปี 2559 โดยเลื่อนอันดับไทย สู่สถานะที่ดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง(Tier 2 Watch list หรือ Tier 2.5) ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตรงนี้ทำให้เราเชื่อมั่นว่า จะทำให้ภาพลักษณ์เราดีขึ้นในกรณี ใบเหลืองเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) ที่เห็นความพยายามของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา

ประการที่ 3 เรื่องขีดความสมารถในการแข่งขันของไทยที่ไอเอ็มดี(International Institute for Management Development: IMD) จัดอันดับความสามารถของประเทศไทยดีขึ้นจากอันดับ 30 ในปี 2558 เลื่อนมาอยู่ที่อันดับ 28 ในปี 2559 ประการที่ 4 การที่ราคาน้ำมันเริ่มนิ่ง หรือมีแค่ความวูบวาบเล็กน้อย ก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น

นักวิเคราะห์ชี้7สิงหาไม่อันตราย

ด้านดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ทีเอ็มบีประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะขยายตัวได้ 2-3% แต่บนสมมติฐานถ้าการลงทุนภาคเอกชนต้องมา แต่เวลานี้ยังมีความเป็นห่วง การลงทุนของภาคเอกชนที่ยังไม่มา ส่วนหนึ่งอาจเป็นบรรยากาศของการลงทุนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งเป็นผลจากสัญญาณการส่งออก (ยังไม่เห็นทางออกและต้องใช้เวลา) หรือกำลังซื้อที่ยังไม่Recovery ขณะที่กำลังการผลิตเป็นปัญหาระยะยาวมากกว่า รวมถึงการลุ้นผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้

"ส่วนตัวมองว่า วันที่ 7 สิงหาคมนี้ไม่อันตราย สิ่งที่ต้องดูต่อไปคือ ปีหน้าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ส่วนปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ออกมาดีครึ่งปีแรกเช่น การบริโภคสินค้าคงทนที่ปรับดีขึ้น แต่จะต้องดูความต่อเนื่องด้วยหรือกำลังซื้อไม่แย่ แต่ยังไม่ Recovery รวมทั้งภาคการส่งออกซึ่งต้องใช้เวลา ส่วนหนี้ครัวเรือนยังสูง ทำให้การใช้จ่ายไม่ฟื้นแต่แนวโน้มหนี้เอ็นพีแอลเชื่อว่าไม่แย่กว่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ปัจจุบันผู้บริโภคอย่าพยายามสร้างหนี้เพิ่มและควรบริหารสภาพคล่อง รวมทั้งรายรับและรายจ่ายเป็นสำคัญ"

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวถึงผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ จะส่งผลเชิงบวกหรือลบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นถ้ามองในมุมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือเอฟดีไอนั้น ในสายตาต่างชาติ ไม่คิดว่าผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นประเด็นที่ทำให้ทุนต่างชาติไม่เชื่อมั่น และจากการสำรวจท่าทีทุนต่างชาติล่าสุดพบว่ายังสนใจลงทุนในประเทศไทยและมั่นใจว่าเป้ามูลค่าคำขอรับการส่งเสริมในปี 2559 จะยังยืนอยู่ที่ 4.50 แสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินลงทุนนี้ 60% จะมาจากการลงทุนใหม่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่เป็นหลัก

เตือนเพิ่มระวัง"ฟองสบู่สินทรัพย์"

ขณะที่นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ปัจจัยที่จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไตรมาส4/59คือ 1.ภาคการท่องเที่ยงซึ่งเป็นรอบของไฮซีซันโดยยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังคงเดินทางเข้ามาต่อเนื่อง 2.ราคาข้าวที่เริ่มขยับซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวปลายปี 3.ความพยายามของรัฐบาลในการเร่งเบิกจ่ายและลงทุนซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสัญญาณการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐปีนี้ดีกว่าที่ผ่านๆมาซึ่งเห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องของหน่วยงานของรัฐ

ด้านความเสี่ยงที่เป็นปัจจัยต้องจับตาคือ ช่วงนี้ไทยรับอานิสงค์จากเงินทุนไหลเข้าซึ่งเป็นผลพวงจากเบร็กซิทเห็นได้จากตลาดหุ้นที่ปรับเพิ่ม อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรลดลง แต่แนวโน้มเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวอาจจะเป็นผลเพียงชั่วคราว ซึ่งถ้าหากคนมีการกู้เพิ่มอาจส่งผลฟองสบู่สินทรัพย์(Asset Bubble) ซึ่งส่วนตัวยังมองแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าอาจจะเพียงชั่วคราวซึ่งอาจจะมีแรงกระชากเงินไหลเข้าและไหลออก ถ้าคนกู้เพิ่มเพื่อเก็งกำไรอาจจะส่งผลฟองสบู่สินทรัพย์จึงต้องระวังฟองสบู่สินทรัพย์

แนะรัฐปลุกกำลังซื้อในประเทศ

ดร.สกนธ์ วรัญญวัฒนา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ครึ่งปีหลังต้องติดตามความต่อเนื่องของการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งทางการพยายามจะเร่งอย่างเต็มที่แต่ต้องยอมรับเม็ดเงินลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในปีนี้ยังเป็นเพียงส่วนน้อย แต่หากมีความต่อเนื่องจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นภาคเอกชนในระดับหนึ่ง

"เวลานี้ประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศ ดังนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น ปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร ไม่ว่าจะจัดโซนนิ่งหรือเพิ่มมูลค่าสินค้าประเภทไหนเพื่อทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งดีกว่าจะปล่อยให้ภาคเกษตรไปตามยถากรรม เพราะกำลังซื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคเกษตร" ดร.สกนธ์ กล่าวและว่า

นอกจากนี้กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อจะปรับนิยามของหนี้ครัวเรือนนั้น เป็นประเด็นอ่อนไหวและสะท้อนภาคชนบทและภาคเกษตรหากทางการสามารถปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรได้ก็จะนำไปสู่ความสามารถของกำลังซื้อภายในประเทศสำหรับปัจจัยด้านต่างประเทศนั้น ส่วนตัววิตกกังวลภัยก่อการร้ายที่อาจจะกระทบภาคการท่องเที่ยวของไทย เช่น สหรัฐฯหรือยุโรป อาจจะพิจารณาในแง่ของการออกมาท่องเที่ยว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559