จ่อลดปริมาณส่งก๊าซให้ปตท. ปตท.สผ.ขอขึ้นราคาไม่ได้ต้นทุนผลิตในอ่าวไทยสูงขึ้น

28 ก.ค. 2559 | 08:00 น.
ปตท.สผ.จ่อลดส่งมอบปริมาณก๊าซตามสัญญาให้ปตท. หลังเจรจาขอปรับขึ้นราคาก๊าซแหล่งบงกชและอาทิตย์ไม่ได้ ส่งผลกระทบต้องให้ไปนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นแทน ภาครัฐเป็นห่วงกระทบค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เตรียมหาทางออก ขณะที่ปตท.ยัน แม้เป็นบริษัทลูก ก็ปรับขึ้นให้ไม่ได้ อ้างสร้างภาระต้นทุนปิโตรเคมีแข่งขันลำบาก

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากภาวะที่ราคาน้ำมันตกต่ำในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในส่วนของก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชเหนือและแหล่งอาทิตย์ รวมกำลังการผลิตกว่า 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ได้ประสบปัญหากับต้นทุนที่จะพัฒนาแหล่งหรือผลิตก๊าซส่งมอบให้กับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ได้ตามสัญญาที่ 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

โดยขณะนี้ทางปตท.สผ.อยู่ระหว่างพิจารณาที่จะขอลดปริมาณการส่งมอบก๊าซจากสัญญาหรือดีซีคิวลงมา เพราะไม่สามารถจะแบกรับภาระต้นทุนในการพัฒนาแหล่งก๊าซที่เพิ่มขึ้นได้ โดยที่ผ่านมาทางปตท.สผ.พยายามที่จะเจรจากับทางปตท.เพื่อขอปรับราคาก๊าซจากแหล่งบงกชและอาทิตย์ขึ้นไปให้ใกล้เคียงกับราคานำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในตลาดจรที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 6 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู แต่ผลการเจรจายังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากทางปตท.ไม่ยอมที่จะปรับราคาก๊าซขึ้นให้ได้

ทั้งนี้ เนื่องจากปตท.ได้อ้างว่า จะมีผลทำให้ราคาเฉลี่ยของต้นทุนก๊าซธรรมชาติของ ปตท .ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ภาระต้นทุนของ ปตท. เพื่อป้อนก๊าซเข้าโรงแยกก๊าซ แล้วส่งผลผลิตป้อนโรงงานปิโตรเคมี และโรงไฟฟ้าต่าง ๆ สูงขึ้น ในขณะที่ปิโตรเคมีนั้น ถือเป็นตัวทำกำไรในช่วงราคาน้ำมันดิบตกต่ำ เนื่องจากราคาวัตถุดิบได้ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ หากปรับขึ้นจะกระทบความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจปิโตรเคมีของ ปตท.

นอกจากนี้ ยังส่งผลไปถึงค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าจะสูงขึ้น ส่งผ่านไปยังผู้บริโภค จากค่าเอฟทีที่สูงขึ้นตาม กระทบต่อประชาชนโดยรวม จึงไม่สามารถที่จะปรับราคาก๊าซขึ้นให้ได้

"ทางปตท.สผ.ได้เริ่มเจรจากับปตท. มาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยกำหนดเป้าหมายราคาเฉลี่ยใหม่ของก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกชที่ระดับราคาใกล้เคียงกับราคาที่ ปตท. นำเข้าแอลเอ็นจีในตลาดจร (spot market) ซึ่งเป็นราคาที่ ปตท. น่าจะยอมรับได้ เพราะที่ระดับราคาเท่า ๆ กัน ก๊าซจากอ่าวไทย ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี และราคานี้จะช่วยให้ผู้รับสัมปทานสามารถลงทุนสำรวจ และพัฒนาในพื้นที่ส่วนที่มีความเสี่ยงสูงของแหล่งบงกชเหนือได้บางส่วน เพียงพอที่จะรักษาระดับการผลิตที่ 570 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันไปได้อีกอย่างน้อย 2 ปี และมีโอกาสที่จะค้นพบก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกเพื่อรักษาระดับการผลิตไปอีก 2 ปีจนถึงสิ้นอายุสัมปทาน"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เมื่อการปรับขึ้นราคาก๊าซไม่ได้ข้อยุติ ทางผู้ผลิตสามารถที่จะขอลดปริมาณส่งก๊าซตามสัญญาลงมาได้ โดยต้องแจ้งให้ปตท.รับทราบล่วงหน้า 1 ปี ซึ่งทางกระทรวงพลังงานเป็นห่วงว่า ในช่วงตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป จะต้องหันไปนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีในปริมาณที่มากขึ้นกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะต้องเข้าใจว่า หากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลง ปตท. ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทน ซึ่งแม้แต่ในภาวะที่แอลเอ็นจีล้นตลาด และราคาน้ำมันตกต่ำอย่างเช่นปัจจุบันนี้ ก็ยังมีราคาแพงกว่าราคาก๊าซของแหล่งบงกชเหนือ และเมื่อถึงปี 2561 แนวโน้มราคาแอลเอ็นจีคงจะต้องสูงขึ้นอีกอย่างแน่นอน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานคงต้องหาทางออกในเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559