ปลดล็อกตั้งโรงงาน107ประเภท เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้าไม่ต้องขออนุญาต/ช่วยลดต้นทุน

28 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
รัฐบาลปลดล็อกโรงงาน 107 ประเภทกิจการไม่ต้องขอใบประกอบการรง.4 หากใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานคาดกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับไม่เกินสิ้นปีนี้ กรอ.ชี้ช่วยสร้างผู้ประกอบการใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และลดภาระต้นทุน ส่งผลให้มีโรงงานที่ไม่ต้องมาต่อใบอนุญาตหายไป 2 หมื่นแห่ง

[caption id="attachment_75610" align="aligncenter" width="335"] มงคล พฤกษ์วัฒนา  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) มงคล พฤกษ์วัฒนา
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)[/caption]

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โรงงาน พ.ศ....ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาประกาศเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

โดยสาระสำคัญของร่างดังกล่าว เป็นการแก้ไขนิยามของโรงงานอุตสาหกรรม จากเดิมการประกอบกิจการโรงงานต้องมีเครื่องจักรขนาด 5 แรงม้าขึ้นไป และมีแรงงาน 5 คน เปลี่ยนเป็นการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมต้องมีขนาดเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป และมีแรงงาน 50 คน ถึงจะเข้าข่ายเป็นโรงงาน ซึ่งจะต้องมาขออนุญาตประกอบกิจการหรือใบ รง.4 และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรอ. ส่วนโรงงานที่มีเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้า จะมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำกับดูแล เพื่อติดตามดูแลโรงงานในท้องถิ่น ภายใต้พ.ร.บ.สาธารณสุข ที่จะควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับได้ไม่น่าจะเกินสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ การแก้ไขร่างพ.ร.บ.โรงงาน เนื่องจากเห็นว่าการขออนุญาตตั้งโรงงาน ถือเป็นต้นทุนในการประกอบการ และทำให้เกิดความไม่สะดวกในการทำธุรกิจ เมื่อมีการแก้ไขแล้วจะช่วยให้โรงงานขนาดเล็กที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย โดยไม่ต้องมาขออนุญาต เป็นการช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 ที่รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ในเวลานี้ ในการช่วยผู้ประกอบการรายเล็กลดอุปสรรคการดำเนินงาน และช่วยให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยลดบทบาทของกรอ.ในการกำกับดูแลมาเป็นผู้ส่งเสริมมากขึ้น

นายมงคล กล่าวอีกว่า ส่วนกิจการที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน จะครอบคลุมอยู่ในบัญชีประเภทโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีอยู่ 107 ประเภท ซึ่งเมื่อพ.ร.บ.โรงงานใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเภทโรงงานใดที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ก็ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานไม่ต้องมาขออนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4 จากกรอ. ยกตัวอย่างกรณีอยู่ซ่อมรถยนต์ต่างๆ กำหนดไว้ให้โรงงานทุกขนาดจะต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการหรือรง.4 กับกรอ.ก่อนถึงจะตั้งโรงงานได้

แต่หากอู่ซ่อมรถดังกล่าวใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า ก็ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานไม่ต้องมาขออนุญาต แต่หากใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า ต้องมาขออนุญาตตั้งโรงงานอยู่ดี หรือกรณีของห้องเย็นที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า ที่มีไว้สำหรับแช่อาหารสด ก็ไม่เขาข่ายเป็นโรงงาน แต่หากเป็นห้องเย็นขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมแช่แข็ง ยังถือว่าเป็นโรงงานอยู่ หรือแม้แต่กิจการซักอบรีดเสื้อผ้าที่อยู่ตามห้องแถวหรือคอนโดมิเนียม มีขนาดเล็กจะไม่เข้าข่าย ในขณะที่กิจการซักอบรีดที่มีกิจการขนาดใหญ่ ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรงงาน

ดังนั้น การที่จะเข้าข่ายเป็นโรงงานหรือไม่เป็นโรงงานนั้น จะพิจารณาจากขนาดของเครื่องจักรเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้ขึ้นกับประเภทของโรงงาน แต่อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.ใหม่ ได้เปิดช่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจที่จะลงนามประกาศประเภทโรงงานที่มีขนาดเครื่องจักรต่ำกว่า 50 แรงม้าได้ หากเห็นว่าประเภทโรงงานนั้น ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ

ทั้งนี้ อยากจะสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า หากใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานสิ้นสุดลงในปีนี้ จะต้องรอติดตามข่าวสารว่าพ.ร.บ.โรงงานใหม่มีผลใช้บังคับเมื่อใด เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงให้ไปต่อใบอนุญาต โดยจะมีกิจการที่ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงานที่ถูกตัดออกไปจำนวน 2 หมื่นแห่ง จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 8 หมื่นแห่ง เหลือเพียง 6 หมื่นแห่ง ที่ไม่ต้องมาขออนุญาตจากกรอ.แล้ว

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559