โตโยต้ายันไทยยังเป็นฐานผลิตหลัก

28 ก.ค. 2559 | 12:00 น.
นายเคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นฯ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้ค่ายรถมีความพยายามผลักดันตลาดรถพลังไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในความเป็นจริงต้องมีการวางแผนในระยะยาว โดยรถไฟฟ้าจะได้รับความนิยมแค่ไหน ต้องพิจารณาจากระยะเวลาการชาร์จ ระยะทางที่วิ่งได้แต่ละครั้ง และสถานีชาร์จไฟฟ้าแพร่หลายแค่ไหน สำหรับโตโยต้ามองว่า การพัฒนาต้องค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากรถพลังงานไฮบริด ตามด้วยรถแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด แล้วจึงค่อยเป็นรถพลังไฟฟ้า ซึ่งในสหรัฐอเมริกา รถไฟฟ้ามียอดขายน้อยกว่ารถไฮบริด เนื่องจากสถานีชาร์จไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ แม้แต่ในญี่ปุ่น รถพลังไฟฟ้าก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

[caption id="attachment_75602" align="aligncenter" width="376"] เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นฯ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นฯ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย[/caption]

สำหรับตลาดรถยนต์ในครึ่งปีแรกของปี 2559 จากเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะชะลอตัวประกอบกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทำให้ มียอดขายรวมประมาณ 367,481 คัน ลดลง 0.4 % โดยโตโยต้ามียอดขาย 109,078 คัน ลดลง 11.4 % แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 35,700 คัน ลดลง 33.0 % รถเพื่อการพาณิชย์ 73,378 คัน เพิ่มขึ้น 5.1 % สำหรับการส่งออกในครึ่งปีแรก โตโยต้าได้ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปจำนวน 166,299 คัน คิดเป็นมูลค่า 96,953 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 26 % และมีการส่งออกชิ้นส่วน มูลค่า 31,335 ล้านบาท รวมเป็นมูลค่าการส่งออกที่ 128,288 ล้านบาท”

นายทานาดะ กล่าวต่อไปว่า กำลังการผลิตของโรงงานโตโยต้าทั้ง 3 แห่งรวม 7.7 แสนคัน/ปี แต่ปัจจุบัน ใช้ไป 60-70 % เนื่องจากตลาดส่งออกซึ่งมีสัดส่วน 60 % กำลังการผลิต มีคำสั่งซื้อลดลง โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นลูกค้ารายหลัก ได้ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก ทำให้โตโยต้าต้องจัดโครงการจากกันด้วยใจ สำหรับพนักงานซับคอนแทร็กต์ ซึ่งรับสมัคร ประมาณ 900 คน แต่มีมาสมัครกว่า 1,000 คน จึงต้องหยุดรับ โดยบริษัทให้เงินชดเชย และพร้อมจะรับพนักงานกลับมาทำงานเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

สำหรับตลาดครึ่งปีหลังปี2559 ยังทรงตัว ทำให้คาดว่า ยอดขายทั้งปีจะอยู่ที่ 7.4 แสนคัน ลดลง 7.5% โดยโตโยต้ายังคงเป้าหมายการขายสำหรับตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ไว้ที่ 2 .4 แสนคัน และได้ปรับเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 3.12 แสนคัน ลดลง 17 % เนื่องจาก ผลกระทบของตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ประเทศไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโตโยต้า และเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้โตโยต้ายังคงมุ่งมั่นที่พัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนโตโยต้าในประเทศไทย ตลอดจนการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการผลิตระดับสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559