Hungry for Leading Change (3) กระหายในการนำการเปลี่ยนแปลง

29 ก.ค. 2559 | 12:00 น.
การสร้างพลังของความคิดและจินตนาการของสิ่งใหม่ๆและพลังของความสุขในการนำการเปลี่ยนแปลงเป็นหัวใจหลักสำคัญที่จะสร้างความกระหายในการเรียนรู้เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ใน 2 ตอนที่แล้วเราพูดถึงคำว่า H-U-N-G-R-Y โดย คำว่า

H-Have a new paradigm shift คือการปรับกรอบความคิดใหม่

U-Unconscious Incompetencies คือการตระหนักรู้ว่าเราเป็นน้ำชาที่เต็มแก้วหรือไม่

N-New belief คือการสร้างความเชื่อใหม่ที่ทุกอย่างเป็นไปได้

G-Good to great discipline คือมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ

สำหรับคราวนี้คงจะมาดูอีก 2 ตัวสุดท้ายก็คือคำว่า

R-Respect for strategic heartbeat

การรู้จักและเคารพพลังของเสียงเรียกร้องจากภายในหัวใจเราที่เรียกว่าพลังของต่อมสุขใจเป็นกระบวนการค้นหา ชื่นชมและเคารพพลังที่ยิ่งใหญ่ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวเรา หลายคนฟังเสียงของคนรอบข้างว่าอยากให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้และเราก็ปรับตัวตามไปแต่บางครั้งอาจจะงงว่าเราจะไปที่ไหนกัน ถ้าเราไม่ได้ฟังเสียงกระซิบที่เกิดจากภายในหัวใจของเราว่า Strategic heartbeat ของเราซึ่งเป็นหัวใจที่เราหรือองค์กรเราชอบเรา เก่งและมีคุณค่า เป็นเสมือนจุดรวมของพลังที่ยิ่งใหญ่ที่อยู่ภายใน

ผู้เขียนเคยจัด Workshop ในการวางวิสัยทัศน์ว่าองค์กรจะมีทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร มีการวิเคราะห์ถึงคู่แข่ง การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม การมองคู่แข่งใหม่ การคำนึงถึงกฎเกณฑ์ที่เราต้องมีข้อจำกัดซึ่งสิ่งต่างๆหล่านี้จะทำให้เรามองเห็นความเคลื่อนไหวของธรรมชาติที่อยู่ล้อมรอบตัวเราได้เป็นอย่างดี

แต่สิ่งที่สำคัญที่หลายองค์กรมักจะมองข้ามไปก็คืออะไรที่เรารักและสนุกที่จะทำและเราทำแบบลืมวันลืมคืนซึ่งเป็นเสมือนต่อมสุขใจขององค์กรเป็นต่อมพลังที่มักจะทำให้ผู้ก่อตั้งมีพลังในการผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านอุปสรรคนานัปการและยังไม่ล้มหายตายจากไป

อะไรที่เป็นพรแสวงขององค์กรที่เรากระหายและแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอซึ่งทำให้เราเป็นแนวหน้าในสิ่งที่เราทำและเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วกว่าคนอื่น ซึ่งทั้งความรัก ความชอบ ความสนุกทำให้เราประสบความสำเร็จจนมาถึงปัจจุบัน และถ้าเราสามารถประสานกับคุณค่าใหม่ของความต้องการของลูกค้าที่ผกผันกับการเปลี่ยนแปลงและมีความต้องการที่ซับซ้อนขึ้นอยู่เรื่อยๆ ก็จะกลายเป็น Strategic heartbeat หรือต่อมสุขใจขององค์กรของเรา

Y-Young at heart

ผู้นำหลายคนมักจะพูดเสมอว่าให้คิดแบบมีหัวใจที่เป็นเด็ก Young at heart แต่มีการกระทำที่เป็นผู้ใหญ่ จะเป็นการผสมผสานความคิดใหม่ๆ จินตนาการที่ไม่อยู่ในกรอบกับคำว่าความเป็นไปได้และแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม

การสร้างบรรยากาศให้มีการคิดและมีจินตนาการแบบเด็กๆเห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเท่าทันธรรมชาติ ที่มีการเกิดแก่และตายลงซึ่งเป็นวัฏจักรที่เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราเข้าใจวัฏจักรขององค์กรเราว่าเริ่มแก่ลงเราจำเป็นที่ต้องสร้างหน่วยงานที่มีความเป็นเด็กที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆที่สร้างความกระชุ่มกระชวยให้เกิดขึ้นในองค์กรและที่สำคัญไม่ถูกหน่วยงานที่มีอายุมากล้มล้างความคิดใหม่ลง

จังหวะและเวลาในการสร้างหน่วยงานและทีมงานรุ่นใหม่เพื่อสร้างให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในทันเวลาเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ ผู้เขียนมักได้รับเชิญให้ไปช่วยเพาะบ่ม New Talent leader ในองค์กรเพื่อที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการสร้างนวัตกรรมทางความคิดใหม่และเป็นตัวประสานระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องที่เป็น Gen ใหม่ที่เป็นหนุ่มสาวไฟแรงแต่ต้องการอิสระทางความคิดที่ต้องผสมสานกันให้ถูกที่ถูกเวลา

ถ้าองค์กรมีคำว่า H-U-N-G-R-Y อยู่ในสัญชาตญาณหรือ DNA ขององค์กรแล้วจะสามารถที่จะยืนอยู่บนยอดคลื่นของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีความสุขแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559