พาณิชย์นำร่องสินค้าข้าวเตรียมลดขั้นตอนการส่งออก

25 ก.ค. 2559 | 04:58 น.
“พาณิชย์”รับลูกนายกรัฐมนตรีลดขั้นตอนส่งออกสินค้ายุทธศาสตร์ นำร่องสินค้า “ข้าว” เตรียมหั่นขั้นตอนที่เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบลงได้ 83% ลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 60% เผยประหยัดเวลาได้มาก  ถึง 20 วัน คาดใช้ได้เต็มรูปแบบภายในปี 60  ตั้งเป้าเป็นโมเดลให้กับหน่วยงานอื่นต่อไป

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รับนโยบายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐทำการปรับลดกระบวนการทำงานรายสินค้ายุทธศาสตร์ ได้แก่ น้ำตาล ข้าว ยางพารา สินค้าแช่แข็ง และวัตถุอันตราย ซึ่งกระทรวงฯ รับผิดชอบสินค้าข้าว โดยได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ และทำการปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อลดขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการในด้านต่างๆ ซึ่งปรากฏว่าจะช่วยลดระยะเวลาดำเนินการด้านการส่งออกเร็วขึ้นกว่าเดิม 83% นับจากขั้นตอนเตรียมเอกสารประกอบการยื่นคำขอจนถึงขั้นตอนได้รับใบอนุญาต ใบรับรอง และมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำลดลงมากว่า 60% ในการทำธุรกรรมส่งออกแต่ละครั้ง

“กระทรวงฯ ได้ทำแผนปรับลดขั้นตอนในการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดกระบวนการทำงานตามขั้นตอนต่างๆ และลดการใช้เอกสารกระดาษทั้งแบบฟอร์มคำขอและเอกสารแนบ โดยนำระบบแลกเปลี่ยนข้อมูล    ทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้ผ่านระบบ NSW กลางของประเทศ และยังได้ยกเลิกขั้นตอนที่ไม่จำเป็น หรือขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือยืนยันความถูกต้องแทนเจ้าหน้าที่ รวมทั้งปรับระบบการชำระเงินเป็น e-Payment ทำให้ลดขั้นตอนการทำงาน ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายให้กับภาคธุรกิจได้จริง”

นางอภิรดี กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งออกข้าว มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก 10 หน่วยงาน แยกเป็นภาครัฐ 7 และเอกชน 3 ได้แก่ 1.กรมการค้าภายในหรือพาณิชย์จังหวัด 2.กองบริหารการค้าข้าว        (กรมการค้าต่างประเทศ) 3.สำนักบริการการค้าต่างประเทศ (กรมการค้าต่างประเทศ) 4.กองมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออกสินค้า (กรมการค้าต่างประเทศ) 5.กรมศุลกากร 6.กรมวิชาการเกษตร 7.กรมควบคุมโรค   8.สำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว 9.บริษัทตรวจสอบคุณภาพสินค้า (เซอร์เวย์) 10.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ในการส่งออกข้าวมีขั้นตอนต่างๆ มากถึง 14 กิจกรรม ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการค้าข้าว การขอเอกสารประกอบ ไปจนถึงการส่งออก โดยได้ปรับลดเหลือเพียง 4 กิจกรรม หรือลดกิจกรรม   ได้ถึง 71.42% และยังได้ลดขั้นตอนที่ต้องดำเนินการจากเดิม 134 ขั้นตอน เหลือเพียง 68 ขั้นตอน หรือลดลง 48.87% ลดคำขอจาก 18 คำขอเหลือ 15 คำขอ หรือลดลง 16.66% และลดเอกสารจาก 70 เอกสาร     เหลือ 38 เอกสาร หรือลดลง 45.71% ซึ่งจากขั้นตอนทั้งหมด สามารถลดระยะเวลาที่ใช้จากเดิม 24 วัน   เหลือเพียง 4 วัน โดยลดลง 20 วัน หรือลดลงถึง 83.33%

ส่วนในด้านการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ปัจจุบันเอกชนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าเดินทางและค่าจัดทำเอกสาร ค่าธรรมเนียมคำร้องและใบอนุญาต รวม 12,140 บาท แยกเป็นค่าเดินทาง 12,000 บาท และ       ค่าเอกสาร 140 บาท  แต่หลังจากปรับปรุงขั้นตอนการทำงานเหลือเพียง 4 วัน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 2,076 บาท ซึ่งมาจากการลดค่าเดินทางและค่าเอกสาร

หลังจากมีแผนการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานชัดเจนแล้ว กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มดำเนินการในส่วนของการลดขั้นตอนการยื่นเอกสารประกอบการขอขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกสินค้ามาตรฐาน และเอกสารประกอบการขอทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก Digital Singature จำนวน  25 ฉบับ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.2559 เป็นต้นไป จากนั้นจะทำการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ      ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ 45 ฉบับ รวมทั้งพัฒนาระบบรองรับ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานในภาพรวมทั้งหมดให้ได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในปี 2560

“ถือเป็นความสำเร็จในการดำเนินการลดขั้นตอนการส่งออกนำเข้าสำหรับสินค้าข้าว ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สินค้ายุทธศาสตร์ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สามารถทำแผนในการลดขั้นตอนต่างๆ ออกมาได้และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง โดยจะผลักดันให้มีการนำโมเดลสินค้าข้าว ไปใช้สำหรับการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานในส่วนของสินค้าอื่นๆ ต่อไป”นางอภิรดีกล่าว