อุตฯ4.0จ่อทำอาเซียนตกงาน ‘ไอแอลโอ’ ชี้กว่า 9 ล้านคนเสี่ยง/สภาหอฯติวเข้มรับมือ

27 ก.ค. 2559 | 08:00 น.
สภาหอฯชี้ แรงงาน 5 ชาติอาเซียนซึ่งรวมทั้งไทยอนาคตน่าห่วง56% เสี่ยงตกงานภายใน 20 ปีข้างหน้า “สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า”อยู่ในโผ หลังเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เต็มรูปแบบ สหรัฐฯ-ยุโรปจะผลิตสินค้าได้เองในต้นทุนตํ่า ประสิทธิภาพสูง ลดการนำเข้า แนะเร่งปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษารับเทคโนโลยีดิจิตอล พร้อมส่งเสริมผลิตสินค้าไฮเทคแบรนด์ไทย ลดยืมจมูกต่างชาติหายใจ

[caption id="attachment_74925" align="aligncenter" width="700"] ภาวะการทำงานของประชากรไทย ภาวะการทำงานของประชากรไทย[/caption]

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยอ้างถึงผลการศึกษาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ โดยหน่วยงานที่เรียกว่า ILO Bureau for Employers’ Activities ระบุว่า เทคโนโลยีกำลังจะสร้างปัญหาให้แรงงานใน 5 ประเทศในอาเซียนได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย โดยในรายงานนี้ระบุว่าการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากนี้ไปจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจากภาคอุตสาหกรรมที่นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ มากกว่าการพึ่งพาแรงงาน และทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศ

โดยงานวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการสอบถามจากนักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่มากกว่า 60% ให้ความเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้แก่ additive manufacturing (3D printing, robotics and the Internet of Things (IoT) จะช่วยลดต้นทุนต่อหน่วย เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดจำนวนแรงงานฝีมือต่ำ เพิ่มพนักงานที่มีความรู้ทางเทคโนโลยี และแรงงานที่มีความรู้สูง ขณะที่ แรงงานฝีมือต่ำจะตกงานจำนวนมาก ในขณะที่ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ก็จะมีไม่มาก

ทั้งนี้ผลสรุปจากการซักถามบริษัทมากกว่า 4,000 บริษัท ในจำนวนนี้มีบริษัทในอาเซียน 5 ประเทศข้างต้น มากกว่า 330 บริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่ผลิตสินค้ายานยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ฯลฯ ตลอดจนบริษัทที่ให้บริการจัดจำหน่ายปลีกและส่ง และบริษัทจัดส่งสินค้า ระบุว่า หุ่นยนต์ไฟฟ้าได้เข้ามามีส่วนในการผลิตสินค้านานมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์

ส่วนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ การนำหุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ได้มีมากขึ้น ส่งผลให้จ้างแรงงานน้อยลง ทำให้ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลิตภาพแรงงาน (แรงงานน้อยแต่ผลผลิตมาก) ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ และสร้างความปลอดภัยในการทำงาน การใช้หุ่นยนต์มาช่วยในการผลิตเท่าที่ผ่านมามีข้อเสนอว่ายังไม่ส่งผลให้ใช้แรงงานลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับส่งเสริมให้แรงงานต้องพัฒนาฝีมือแรงงานมากขึ้นเพื่อสามารถทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ในการผลิตได้ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ได้แก่ IoTs (Internet of things) และ Machine to Machine (M2M) จะสร้างปัญหาการว่างงานในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากอย่างสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า เฉพาะในอาเซียนมีแรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมที่กล่าวมานี้มากกว่า 9 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยทำงาน งานเหล่านี้กำลังจะมีปัญหาจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น additive manufacturing (อันได้แก่เทคโนโลยีเกี่ยวกับ 3D printer) and automation (อันได้แก่เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เครื่องจักรคุยกับเครื่องจักร Internet of Things (IoTs) and Machine to Machine (M2M)) โดยจะทำให้สินค้าที่เดิมต้องผลิตในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ เพื่อส่งออกไปตลาดยุโรปหรือตลาดสหรัฐฯ จะสามารถผลิตได้ในยุโรปและสหรัฐฯ เอง ในต้นทุนการผลิตต่อชิ้นไม่แตกต่างกัน คุณภาพสินค้าควบคุมได้อย่างสม่ำเสมอ การผลิตไม่ต้องมีจำนวนชิ้นมากในแต่ละรายการผลิต และการผลิตจำนวนน้อยไม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น การผลิตตรงต่อเวลา ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าได้รวดเร็ว และการลงทุนจะไม่มีปัญหาแรงงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งเหล่านี้จะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้เพราะเทคโนโลยีระดับนี้ยังมีราคาแพง แต่อีกไม่นาน เมื่อมีผู้ใช้มากขึ้น ราคาก็จะถูกลง เทคโนโลยีจะถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการขนาดกลางเริ่มหันมาใช้ได้ จากนั้นไม่นาน ผู้ประกอบการขนาดเล็กก็สามารถซื้อมาใช้ได้ และจากการศึกษาระบุว่า 56% ของแรงงานใน 5 ประเทศ อันได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย จะมีความเสี่ยงจากการตกงานภายใน 20 ปีข้างหน้า จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

นายบัณฑูร กล่าวว่า การปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยได้ชี้แนะว่า ประเทศไทยต้องลงทุนด้านการศึกษา ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานในอนาคตที่จะต้องมีความรู้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การศึกษาต้องเน้นเทคโนโลยีดิจิตอล เน้นพัฒนาการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ รัฐต้องส่งเสริมเอกชนลงทุนเรื่องการวิจัยและพัฒนาสินค้าทางเทคโนโลยีให้ก้าวทันโลก

"นอกจากนี้ต้องเร่งส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงที่เป็นของไทยเอง สร้างจุดเด่นด้วยการมีสินค้าเทคโนโลยีภายใต้ตราสินค้าของไทยเอง ไม่หวังแต่การลงทุนจากต่างประเทศ เพราะหากมี FTA ไม่มีกำแพงภาษี และประเทศพัฒนาแล้วมีเทคโนโลยีผลิตสินค้าได้ในประเทศตนเอง ย่อมเลือกลงทุนในประเทศตนและส่งออกมาขายในอาเซียน การมาลงทุนในไทยหรือในอาเซียนย่อมให้ประโยชน์น้อยลง ย่อมไม่น่าสนใจมาลงทุน"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559